ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สทนช.จ่อผันน้ำลง 10 ทุ่ง ในลุ่มเจ้าพระยา รับมือน้ำหลาก

สังคม
13 ต.ค. 66
16:39
6,981
Logo Thai PBS
สทนช.จ่อผันน้ำลง 10 ทุ่ง ในลุ่มเจ้าพระยา รับมือน้ำหลาก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สทนช.เตรียมรับน้ำเหนือไหลหลากลงลุ่มเจ้าพระยา วางแผนจัดทางน้ำ ตัดยอดน้ำเข้าทุ่งบางระกำและบึงบอระเพ็ด ผันน้ำออกฝั่งตะวันออก-ตะวันตก ชาวบ้านยอมปล่อยน้ำเข้า 10 ทุ่ง ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง

วันนี้ (13 ต.ค.2566) นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ขณะนี้เข้าสู่ช่วงปลายฤดูฝนแล้ว ร่องมรสุมได้พาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ส่งผลให้มีฝนตกต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะเป็นฝนรอบสุดท้าย

ผนวกกับมีมวลน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน โดยเฉพาะจากแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน เริ่มไหลลงมาในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างแล้ว อาจจะส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมในบางพื้นที่

สทนช. กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้วางแผนบริหารจัดการและจัดการจราจรทางน้ำ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยจะหน่วงน้ำไว้ในพื้นที่ตอนบน และค่อยปล่อยลงมาพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พร้อมตัดยอดน้ำผันเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งบางระกำและบึงบอระเพ็ดให้ได้มากที่สุด

นายสุรสีห์กล่าวว่า จากนั้นจะผันมวลน้ำส่วนหนึ่ง ออกฝั่งตะวันออกผ่านคลองชัยนาท-ป่าสัก และฝั่งตะวันตกผ่านคลองมะขามเฒ่า แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย เพื่อควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 1,800 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ตามแผนที่วางไว้ ขณะนี้ทุ่งบางระกำสามารถตัดยอดน้ำเข้าไปกักเก็บไว้เต็มทุ่งได้แล้วประมาณ 400 ล้าน ลบ.ม.

เกษตรกรเร่งเกี่ยวข้าวในทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก ก่อนที่น้ำเหลือจะไหลบ่าลงมา

เกษตรกรเร่งเกี่ยวข้าวในทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก ก่อนที่น้ำเหลือจะไหลบ่าลงมา

เกษตรกรเร่งเกี่ยวข้าวในทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก ก่อนที่น้ำเหลือจะไหลบ่าลงมา

อย่างไรก็ตามจากการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ อาจจะเพิ่มปริมาณน้ำเข้าทุ่งบางระกำขึ้นอีกประมาณ 10-20 เซนติเมตร ส่วนบึงบอระเพ็ดสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้แล้วประมาณ 83 ล้าน ลบ.ม. กำลังหาช่องทางที่จะนำน้ำเข้าไปกักเก็บเพิ่มขึ้นให้ได้มากที่สุดเต็มศักยภาพ รวมกันได้ประมาณกว่า 100 ล้าน ลบ.ม ซึ่งจะเป็นผลดีทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนในการรับมือสภาวะเอลนีโญที่เกิดขึ้นได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วม และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้ง 10 ทุ่ง ประกอบด้วย ทุ่งผักไห่-ทุ่งป่าโมก ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบันลือ-พระพิมล ทุ่งบางบาล-บ้านแพน

ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งบางกุ่ม และทุ่งบางกุ้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว ซึ่งเกษตรกรสัญญาว่า จะไม่ทำนาปีต่อเนื่อง และยินดีที่จะรับน้ำในระดับความสูงประมาณ 20-30 ซม. แต่จะต้องไม่ให้ท่วมถนนที่สัญจรเข้า-ออกหมู่บ้าน โดยไม่เรียกร้องค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น คาดว่า จะสามารถรับน้ำได้รวมกันประมาณ 500 ล้าน ลบ.ม. โดยปัจจุบันเริ่มทยอยรับน้ำเข้าทุ่งดังกล่าวแล้ว

สภาพน้ำท่วม ในพื้นที่ ต.ตาลเดี่ยว อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค.2566 ที่ผ่านมา

สภาพน้ำท่วม ในพื้นที่ ต.ตาลเดี่ยว อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค.2566 ที่ผ่านมา

สภาพน้ำท่วม ในพื้นที่ ต.ตาลเดี่ยว อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค.2566 ที่ผ่านมา

นายสุรสีห์กล่าวต่อว่า ในการรับน้ำเข้าไปกักเก็บไว้ในทุ่งนั้น นอกจากจะช่วยตัดยอดน้ำ บรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่สำคัญๆ แล้ว ยังช่วยเติมสารอาหารสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมี คุณภาพน้ำในพื้นที่นาดีขึ้น ช่วยตัดวงจรการระบาดของแมลงศัตรูข้าว ทำให้ต้นทุนการปลูกข้าวในฤดูกาลถัดไปลดลง รวมทั้งยังสร้างอาชีพเสริมจากการทำประมงน้ำจืดอีกด้วย

เลขาธิการ สทนช. กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ฝนตกในช่วงปลายฤดูนี้ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้า 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แต่ก็ยังต่ำกว่าค่าปกติ คาดว่าหลังสิ้นฤดูฝน ณ วันที่ 1 พ.ย.2566 จะมีปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลักรวม 16,758 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 67 % ของปริมาณน้ำเก็บกัก

ดังนั้น ยังมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพราะจะต้องสำรองปริมาณน้ำต้นทุนส่วนหนึ่งประมาณ 3,000 ล้าน ลบ.ม. ไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปีหน้า และรองรับสภาวะเอลนีโญที่เกิดขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามปริมาณน้ำที่มีอยู่จะเพียงพอ สำหรับการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การรักษาไม้ยืนต้นและพืชที่ใช้น้ำน้อย ตลอดช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 อย่างแน่นอน

อ่านข่าวอื่นๆ

เช็กชื่อ! 100 คนไทย บินกลับจาก “อิสราเอล” ถึงไทยเช้า 15 ต.ค.ลงอู่ตะเภา

ปลัดฯแรงงาน หนุนภารกิจ ช่วยคนงานไทยกลับบ้านภายใน 48 ชม.

"พรานนก-สี่มุมเมือง"คึกคัก ปชช.หาซื้อวัตถุดิบรับเทศกาลเจ

"อิสราเอล" ขีดเส้น 24 ชม.เตือนคนในตอนเหนือกาซา อพยพลงตอนใต้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง