ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ขนแรงงานไทยฝ่าสงครามอิสราเอล รัฐล่าช้าหรือไม่เตรียมการ

เศรษฐกิจ
16 ต.ค. 66
17:51
583
Logo Thai PBS
ขนแรงงานไทยฝ่าสงครามอิสราเอล รัฐล่าช้าหรือไม่เตรียมการ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

แม้ขณะนี้ ตัวเลขแรงงานไทยที่ลงทะเบียนขอเดินทางกลับจากอิสราเอลจะอยู่ 8,000 คน จากจำนวนกว่า 25,000 คน ส่วนหนึ่งได้เดินทางล่วงหน้ามาส่วนหนึ่งแล้ว จากการซื้อตั๋วเครื่องบินเอง และรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลในการจัดหาเครื่องบินพาณิชย์ และเครื่องบินแอร์บัสของทอ.อพยพแรงงานกลับบ้านภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้

แต่ดูเหมือนว่า ปัญหาและอุปสรรคในการอพยพแรงงานไทยของรัฐบาล ไม่ได้มีเพียงการจัดหาเครื่องบินพาณิชย์ที่ยังมีไม่เพียงพอเท่านั้น แต่ยังติดขัดเรื่องน่านฟ้าในบางประเทศที่ไม่อนุญาตให้บินผ่าน และต้องใช้เส้นทางบินอ้อมเพิ่มระยะเวลาเดินทางออกไป สร้างความกังวลให้กับครอบครัวของแรงงานไทยอย่างมาก

รัฐยังช้าต้องเร่งขนย้ายแรงงาน

นายจักรกฤษณ์ สุวรรณสาร ที่ปรึกษาสมาคมแรงงานไทย กล่าวกับ ไทยพีบีเอส ออนไลน์ ว่า ที่ผ่านมาได้พยายามอธิบายวิธีการขนย้ายแรงงานไทยแบบเร่งด่วนแล้ว คือ ให้อพยพมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยไว้ก่อน แต่รัฐบาลก็ทำตามแบบของรัฐบาล ขณะนี้การขนย้ายคนไทยกลับมาทำได้วันละ 100 คน ถือว่าล่าช้ามาก ควรต้องระดมเครื่องบินพาณิชย์มาให้ได้วันละ 3-4 เที่ยว เพื่อให้การขนย้ายคนได้เร็วที่สุด

สำหรับการช่วยเหลือแรงงานเบื้องต้น รัฐบาลควรจ่ายให้คนละ15,000 บาท และเตรียมการหางานใหม่รองรับระหว่างที่แรงงานไทยกลับมา หรือในกรณีที่สงครามสงบแล้ว แรงงานต้องการกลับไปทำงานที่อิสราเอลก็สามารถทำได้เพราะรัฐบาลอิสราเอลก็ต้องการแรงงานไทย

ลดขั้นตอนญาติรอรับ

นายจักรกฤษณ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาที่ตามมาหลังจากที่แรงงานไทยกลับมาถึงสนามบินแล้ว คือ ญาติต้องเดินทางมารอรับ ทำให้เสียค่าใช้จ่ายและค่าเดินทาง ดังนั้นเพื่อประหยัดเวลา รัฐบาลควรจัดรถบัสส่งแรงงานกลับภูมิลำเนา โดยไม่ต้องให้ญาติมารอ พร้อมจัดเงินช่วยเหลือ โดยให้ไปเบิกกับสำนักจัดหางานจังหวัดที่แรงงานอยู่

หากสงครามสงบลงและแรงงานต้องการกลับไปก็ทำได้ เพราะอิสราเอลเองก็ต้องการแรงงานไทย เช่นเดียวกับแถบยุโรป เช่น สเปนต้องการแรงงานไทย 10,000-20,000 คน กรีซ ต้องการแรงงานด้านการเกษตร 50,000-60,000 คน ซึ่งเป็นตลาดแรงงานที่น่าสนใจ

นำร่างกลับไทยหากญาติร้องขอ

สำหรับคนไทยที่เสียชีวิตที่อิสราเอล ที่ปรึกษาสมาคมแรงงานไทย บอกว่า เชื่อว่ายอดน่าจะทะลุ 100 คน หรือมากกว่านั้น ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ต้องสอบถามทางญาติผู้เสียชีวิตว่าต้องการจะนำร่างกลับประเทศหรือไม่ ถ้าญาติต้องการนำกลับ รัฐบาลก็ต้องนำกลับ เพราะถือว่าเขาคือคนไทยคนหนึ่ง

เราต้องรู้ว่ามีคนตาย สูญหายไปกี่คน หาก 10 วัน ยังติดต่อไม่ได้ คนในครอบครัวต้องรีบแจ้งกับกระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้รัฐบาลเร่งประสานงานติดตามหา ผมมองว่า รัฐบาลทำงานล่าช้า ไทยควรส่งคนของเราไปตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุ แต่ก็ไม่เป็นไรตอนนี้ก็ถือว่ายังทันอยู่

นายจักรกฤษณ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงตอนนี้ คือ งบประมาณที่รัฐบาลใช้ เพราะการอพยพครั้งนี้น่าจะใช้เงินหลัก 100 ล้านบาท แต่ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดงบประมาณในการอพยพคนไทย อุปสรรคหนึ่งที่เป็นห่วง คือ แรงงานไทยที่ออกเงินค่าตั๋วเองก็อาจจะเจอปัญหา เบิกเงินคืนไม่ได้ เพราะไม่มีงบไหนมาตั้งเบิก ก็หวังว่ารัฐบาลจะเร่งอนุมัติวงเงินโดยด่วน

ช่วง 7-8 วัน ที่ผ่านมา การขนคนกลับถือว่าช้า เพราะเครื่องบินทหารบรรจุคนได้จำกัด เส้นทางการบินเป็นอุปสรรคหนึ่งในการบิน ดังนั้นหนทางเดียวคือ เครื่องพาณิชย์และต้องเป็นแอร์บัส 330 ที่จุคนได้ 290 คน หากทำได้บินวันละ 3-4 เที่ยวก็สามารถขนคนได้ถึง 900 คน

ส่วนสัมภาระที่แรงงานขนกลับ ไม่ควรเกิน 5 กิโลกรัม แต่ที่เห็นคือ กระป๋าใบใหญ่ ซึ่งเสียเวลาเพราะต้องโหลดกระเป๋า ซึ่งในภาวะเช่นนี้ ควรมีของสำคัญติดตัวให้น้อยที่สุด

บินผ่านจอร์แดนทางออกดีที่สุด

นายจักรกฤษณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับเส้นทางที่อพยพเร็วที่สุด คือ การประสานบริษัทจัดหางาน และนายจ้าง เพื่อรวบรวมแรงงานไปจุดที่ปลอดภัยทางรถบัส จากนั้นให้นำไปพักรวมไว้ที่ศูนย์เทลอาวีฟ แล้วค่อยอพยพ แต่ในกรณีที่สนามบินที่เทลอาวีฟปิด ก็ควรหาทางย้ายคนออกมาอยู่พรมแดนจอร์แดนแล้วขึ้นเครื่องบินพาณิชย์ที่รอรับที่อัมมาร์

การใช้เครื่องบินพาณิชย์จะง่ายกว่า การขอเปิดผ่านน่านฟ้าของประเทศต่างๆ และการบินผ่านน่านฟ้า อินเดีย บังกลาเทศ ดูไบ มุ่งตรงไปอิสราเอล ก็จะช่วยย่นระยะเวลาได้

ที่ปรึกษาสมาคมแรงงานไทย ระบุว่า ปัญหาและอุปสรรคสำคัญ คือ ขณะนี้รัฐยังไม่สามารถรวบรวมคนได้ มีคนสมัครใจกลับแต่ต้องคีย์ข้อมูลเข้าไปในระบบราชการ ซึ่งต้องย้ำว่า ช้ามากที่ผ่านมารัฐบาลพูดแต่คน 7,000 คน แต่ไม่พูดถึงคนไทยทั้งหมดที่ทำงานที่อิสราเอล ดังนั้นรัฐบาลจะต้องพาคนไทยกลับมาให้หมดไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่ไปแบบถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมายเพราะพวกเขาคือคนไทยเช่นกัน

 ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

หอการค้าไทย ชี้ 'สงครามอิสราเอล' ไม่กระทบการค้า

IMF เตือนสู้รบตะวันออกกลางยืดเยื้อทำต้นทุนราคาน้ำมันพุ่ง 10%

ธ.ก.ส.เล็งมาตรการพักหนี้ ช่วยแรงงานไทยในอิสราเอล

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง