เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล โพสต์ในเพจเฟซบุ๊กแจ้งว่า ขอให้คนที่ประสงค์จะเดินทางกลับไทย ยืนยันความประสงค์ด้วยการเดินทางมาที่ศูนย์พักพิง เพื่อที่สถานเอกอัครราชทูตฯ จะสามารถอำนวยความสะดวกเพื่อให้เดินทางกลับไทยในเที่ยวบินที่เร็วที่สุด พร้อมแจ้งว่าตั้งแต่วันอังคารที่ 17 ต.ค.นี้เป็นต้นไปจะมีเที่ยวบินกลับไทยทุกวัน
สำหรับผู้ที่จะเดินทางมาที่ศูนย์พักพิงฯ ทางสถานทูตฯ ยังขอให้รวมกลุ่มเดินทางมาที่ศูนย์ และขอใบเสร็จจากคนขับรถ เพื่อนำไปเบิกที่ประเทศไทยต่อไป
แรงงานไทยยังออกจากพื้นที่สีแดงไม่ได้
ขณะที่บางคนตั้งคำถามว่า คนที่ออกจากพื้นที่เสี่ยงไม่ได้ เนื่องจากนายจ้างไม่ให้ออกมาหรือยังไม่ได้เงินเดือน มีแนวทางอย่างไร บางคนโพสต์ลงโซเชียล ติดต่อทุกทาง รอมาหลายวัน ก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนไปช่วย
บ้างก็บอกว่า ไม่มีตังติดตัว ติดต่อศูนย์อพยพ ก็ไม่เห็นมีใครมารับ พื้นที่สีแดง หารถลำบากมาก ซึ่งหลายความเห็นก็ยังระบุไปในทิศทางนี้
ราคาตั๋วเครื่องบินเท่าไหร่? หากเดินทางกลับไทยเอง
ก่อนหน้านี้นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า คณะกรรมการศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉินต่อสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล มีมติเห็นชอบจ่ายเงินค่าเดินทางให้กับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากอิสราเอล ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.
โดยคนที่ซื้อตั๋วเครื่องบินกลับเอง รัฐบาลจะจ่ายให้เต็มจำนวน ขอให้แรงงานเก็บหลักฐาน ตั๋วเครื่องบิน-ใบเสร็จ-บอร์ดดิ้งพาส และพาสปอร์ตยื่นเรื่องและเอกสารทั้งหมดที่แรงงานจังหวัดได้ โดยไม่ต้องเดินทางมายื่นเองที่กระทรวงการต่างประเทศ
ถ้านำคนไทยกลับได้วันละ 400 คน ตามเป้าได้จริงๆ ก็ยังต้องใช้เวลากว่าครึ่งเดือนในการนำคนไทยกว่า 7,000 คน กลับประเทศ แต่สำหรับบางคนที่ต้องการกลับเอง จ่ายเงินค่าเครื่องบินเองก่อนแล้วมาเบิกทีหลัง จะสะดวกกว่าจริงหรือไม่ ชวนมาลองหาตั๋วเครื่องบินไปพร้อมกัน
ลองเข้าไปหาตั๋วผ่านกูเกิ้ลไฟลต์ เลือกเที่ยวบินจากเทลอาวีฟ กลับไทย ขาเดียว ลองดูแล้วยังมีไฟลต์เกือบทุกวัน ทดลองเลือกวันพรุ่งนี้ (18 ต.ค.) พบว่าราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 17,000 บาทต่อเที่ยว
ทีนี้ลองมาดูว่าราคา 17,000 บาท เดินทางอย่างไร พบว่าต้องบินไปเปลี่ยนเครื่องที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ จากนั้นก็บินต่อไปอีกประมาณ 3 ชั่วโมงเพื่อไปที่มุมไบ ประเทศอินเดีย รวมเวลาเดินทาง 29 ชั่วโมง ซึ่งดูจะค่อนข้างนานมากทีเดียว
ถ้าจะบินตรงเพื่อความสะดวก ปรากฏว่าวันที่ 18 ต.ค.ไม่มีเที่ยวบิน หรืออาจจองเต็มไปแล้ว แต่ถ้าลองดูวันอื่นๆ ก็พบว่า มีไฟลต์ในวันนี้ (17 ต.ค.) วันที่ 19 ต.ค. และวันเสาร์ที่ 21 ต.ค. แต่ราคาก็แพงขึ้นมาประมาณ 10,000 บาท อยู่ที่ 27,000 บาทต่อเที่ยว
ถ้าลองหาตั๋วที่ถูกที่สุดจากอิสราเอลในเดือนนี้กลับไทยบ้าง โดยค้นหาผ่าน Skyscanner เพราะสามารถสำรวจราคาตั๋วได้ตลอดทั้งเดือน เราก็พบว่าราคาถูกที่สุดส่วนใหญ่จะไม่ต่างกันเริ่มต้นประมาณ 12,000 บาท แต่ถ้าจะเลือกราคานี้ ต้องแลกมาด้วยอะไร เพราะพบว่าอย่างแรกคือใช้เวลาเดินทางรวมถึง 29 ชั่วโมง แล้วต้องบินถึง 3 สายการบิน อย่างเช่นบินจากอิสราเอล ไปออสเตรีย จากนั้นบินกลับมาที่ซาอุดีอาระเบีย แล้วบินไปต่อที่อินเดีย แล้วถึงจะบินมาไทย รวมแล้วต้องแวะถึง 3 ที่ และที่สำคัญคือเปลี่ยนเครื่องด้วยตนเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ยูเอ็น ห่วงเชื้อเพลิงสำรองใน รพ.กาซา หมดภายใน 24 ชม.
อิสราเอลช่วย "สัตว์" ถูกทิ้งในบ้าน-ฟาร์ม หลังเผชิญสงคราม
แรงงาน - นศ.ไทย 244 คน เดินทางถึงไทยแล้ว ครอบครัวต้อนรับอบอุ่น