วันนี้ (24 ต.ค.66) นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ (ต.ค.-ธ.ค.) ตัวเลขน่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง และติดลบน้อยกว่าที่ภาครัฐและเอกชนคาดการณ์ไว้
โดยมีปัจจัยบวกจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เร่งแก้ไขปัญหาและผลักดันการส่งออก มีการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้นจากภาวะภัยแล้ง ค่าเงินบาทที่ทรงตัวขณะนี้เป็นตัวช่วย
นายกีรติ รัชโน ปลัดกรัทรวงพาณิชย์
นายกีรติ กล่าวต่อว่า การส่งออกเดือน ก.ย.66 มีมูลค่า 25,476.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.1% เป็นบวกต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 888,666 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 23,383.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 8.3% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 825,310 ล้านบาท โดยไทยดุลการค้ามูลค่า 2,092.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 63,355 ล้านบาท
ขณะที่ภาพรวมการส่งออก 9 เดือนของปี 66 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 213,069.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 3.8% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 7,268,400 ล้านบาท นำเข้ามูลค่า 218,902.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 6% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 7,558,144 ล้านบาท ขาดดุลการค้า มูลค่า 5,832.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 289,400 ล้านบาท
ส่งออกของไทยเดือน ก.ย.66 ที่กลับมาเป็นบวกได้ 2.1% เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถือว่าไทยทำได้ดี เทียบกับอินเดีย ลบ 2.6% เกาหลีใต้ ลบ 4.4% จีน ลบ 6.2% สิงคโปร์ ลบ 9.5% มาเลเซีย ลบ 16.2% และอินโดนีเซีย ลบ 16.2%
ทั้งนี้ การส่งออกทั้งปี ถ้าติดลบ 1% ช่วงที่เหลือ 3 เดือนต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 23,827 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 0% ต้องส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 24,785 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ถ้าบวก 1% ต้องส่งออกเฉลี่ย 25,743 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายกีรติกล่าวอีกว่า แม้ว่าส่งออกทั้งปีจะไม่พลิกกลับมาเป็นบวก แต่เชื่อว่าจะทำให้ติดลบน้อยลงได้ และเมื่อทำเต็มที่แล้วจะบวก หรือจะลบ ก็ไม่เสียใจ
ส่วนปัจจัยที่ต้องจับตามอง คือ ราคาน้ำมัน และปัญหาอิสราเอล ถ้าไม่ยืดเยื้อก็ไม่มีผลต่อการขนส่ง แต่ถ้าขยายวงกว้างก็น่าเป็นห่วง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้มีการหารือกับภาคเอกชน เพื่อเตรียมรับมือไว้ล่วงหน้าแล้ว
ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกในเดือนก.ย.66 ที่ผ่านมา ดีกว่าที่คาดไว้ และจากสถานการณ์ตอนนี้ ประเมินว่าทั้งปีน่าจะติดลบประมาณ 1%