สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินขนาดเล็ก ถูกทำให้กลายเป็นสารเคลือบทางชีวภาพที่มีคุณสมบัติในการสมานแผลโดยการใช้เทคโนโลยีพลาสมา ซึ่งสารเคลือบทางชีวภาพนี้สามารถนำไปใช้กับผ้าปิดแผลและอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ เพื่อปกป้องผู้ป่วยจากการติดเชื้อ อีกทั้งยังช่วยเร่งการรักษาให้แผลหายไวขึ้น และลดการอักเสบ
สารสกัดจาก S. maxima หรือสาหร่ายขนาดเล็กสีเขียวแกมน้ำเงิน มักใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวมีระบบสืบพันธุ์แบบง่ายที่สร้างชีวมวลที่มีสารประกอบออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและต้านเชื้อแบคทีเรียที่มีศักยภาพซึ่งสามารถช่วยในการรักษาบาดแผลได้
ทั้งนี้ ผนังเซลล์ที่หนาของสาหร่ายชนิดนี้เป็นอุปสรรคสำคัญในการสกัดสารประกอบ นักวิจัยจึงใช้อาร์กอน APPJ ในการเปลี่ยนสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินขนาดเล็กให้กลายเป็นสารเคลือบทางชีวภาพที่บางเฉียบ โดยเข้าไปทำลายโครงสร้างผนังที่หนาให้สลายตัวออกไป
ฤทธิ์การต้านเชื้อแบคทีเรียของ S. maxima ที่ได้รับการแปลงสภาพโดยอาร์กอน APPJ ได้รับการประเมินแล้วพบว่ามีประสิทธิภาพสูงในการต่อต้าน Pseudomonas aeruginosa และ Staphylococcus aureus โดยมีการตายของเซลล์ 93% และ 73% ตามลำดับ และการเคลือบ S. maxima ยังแสดงคุณสมบัติต้านการอักเสบอีกด้วย ซึ่งนักวิจัยได้สร้างบาดแผลจำลองและทดสอบการเคลือบ S. maxima พบว่ารอยขีดข่วนของบาดแผลนั้นถูกปิดสนิทภายใน 2 วัน
ในปัจจุบันยังไม่มีวัสดุปิดแผลเชิงพาณิชย์ที่สามารถรักษา ลดการอักเสบ และป้องกันการติดเชื้อไปพร้อม ๆ กันได้ สารเคลือบชีวภาพจากสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินขนาดเล็กนี้จะช่วยยกระดับการรักษาผู้ป่วย เป็นอีกทางเลือกทางการแพทย์ที่จะช่วยสมานแผลต่าง ๆ ให้หายเร็วขึ้นได้
ที่มาข้อมูล: newatlas, scimex
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech