ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เส้นทางค้า “ตลาดน้ำตาล” ราคาไทย-ไปต่างประเทศ

เศรษฐกิจ
2 พ.ย. 66
16:47
6,360
Logo Thai PBS
เส้นทางค้า “ตลาดน้ำตาล” ราคาไทย-ไปต่างประเทศ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

แอบขึ้นราคาล่วงหน้า ไม่รอประกาศราชกิจจาฯ โดยเฉพาะเมนูของหวาน อาหารและเครื่องดื่ม ขยับราคาเพิ่มแล้ว 5 บาท แม้เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2566 จะมีการประกาศให้ ”น้ำตาลทราย” เป็นสินค้าควบคุมระยะเวลา 1 ปี โดยให้มีผลทันที

จากสำรวจราคาน้ำตาลทรายตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ราคาปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 25 บาท ขณะที่ราคาขายในตลาดสดหรือร้านค้าทั่วไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 28-30 บาท หรือหากเป็นน้ำตาลตักขายอยู่ที่ 29-30 บาทต่อกิโลกรัม

มีคำถามว่า หากปรับราคาน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีก 4 บาท จากราคาขายเดิมทั้ง 2 ชนิด คือ น้ำตาลทรายขาวกิโลกรัมละ 19 บาท ซึ่งเคยปรับราคาขึ้นมาแล้วเป็นกิโลกรัมละ 23 บาท เช่นเดียวกับน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จากเดิมกิโลกรัมละ 20 บาทเป็นกิโลกรัม 24 บาท และรัฐหากไม่คุมราคาและเปิดไฟเขียวให้ปรับราคา จะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างไร คงไม่ต้องรอคำตอบ

สารจากเกษตรกรไร่อ้อย-ถึงโรงงานน้ำตาล

ในปี 2553 ไทยมีพื้นที่ปลูกอ้อยจำนวน 6.3 ล้านไร่ และเพิ่มขึ้นเป็น 9.3 ล้านไร่ในปี 2564 โดยพื้นที่เพาะปลูกอ้อยส่วนใหญ่จะอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ตามลำดับคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคตะวันออก โดย จ.กำแพงเพชร มีพื้นที่ปลูกอ้อยมากที่สุด รองลงมา นครสวรรค์ ,กาญจนบุรี ลพบุรี, และอุดรธานี

หลังมีข่าวขึ้นราคาน้ำตาลทราย วันที่ 30 ต.ค.2566  ชาวไร่อ้อย ได้ออกแถลงการณ์ ตอนหนึ่งระบุว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสร้างรายได้ให้ประเทศปีละประมาณ 200,000 ล้านบาท สร้างรายได้ให้เกษตรกรถึง 2,000,000 คน

แต่ต้นทุนชาวไร่อ้อยช่วงเพิ่มขึ้นจากราคาปุ๋ยที่แพงขึ้นสามเท่าตัว ค่าแรงปรับเพิ่มขึ้นสูงมาก เช่นเดียวกับราคาน้ำมันที่สูงต่อเนื่อง และมีปัญหากภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตอ้อยที่เคยผลิตได้ 120 ล้านตัน ในฤดูการผลิตปี 2566 /67 ที่จะเปิดหีบปลายปีนี้อาจได้ไม่ถึง 75 ล้านตัน
ชาวไร่ ต้องเป็นหนี้เป็นสินธนาคารเพื่อการเกษตรฯ

ส่วนนายทุนโรงงานเครื่องดื่ม และโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบ ใช้น้ำตาลถูกมาตลอด ได้กำไรมหาศาลรวยเป็นมหาเศรษฐี ขณะที่ชาวไร่มีแต่ยากจนลง

...ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำตาลทรายลดลง แต่เครื่องดื่มน้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง อุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบไม่เคยลดราคา เราเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาล คนไทยบริโภคน้ำตาลถูกที่สุดแล้ว ไม่มีประเทศไหน บริโภคน้ำตาลทรายได้ถูกสุดเท่ากับคนไทย ...และเชื่อว่าประชาชนจะไม่เดือดร้อนจากการปรับขึ้นราคา...แถลงการณ์ชาวไร่อ้อยระบุอีกตอนหนึ่ง

ปมประเด็นจากแถลงการณ์ มีคำถามที่ต้องติดตามต่อว่า หากเป็นเช่นนั้น มีใครได้หรือเสียประโยชน์ จากการขยับราคา ”น้ำตาล” ครั้งนี้ เกษตรกรชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำ ตาล หรือพ่อค้าคนกลาง

โดยเฉพาะในกรณีที่ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาล หากต้องส่งออกน้ำตาลไปตลาดต่างประเทศ ใครคือประเทศคู่ค้ารายสำคัญ และราคาซื้อขายจากต้นทางไปยังประเทศปลายทางเป็นอย่างไร

น้ำตาลทรายโรงงานไทย-ไปต่างประเทศ

ในตลาดโลกถือได้ว่า บราซิลเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลดิบรายใหญ่ของโลก รองลงมา คือ ไทยและออสเตรเลีย ขณะที่น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก รองจากบราซิลและสหภาพยุโรป โดยอินโดนีเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและไต้หวัน เป็นประเทศผู้นำเข้าสูงสุด

ข้อมูลจากกองสถิติสหประชาชาติ ระบุว่า แม้ไทยจะเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายมากเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ตลาดการส่งออกร้อยละ 40 กลับเป็นประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน คือ อินโดนีเซีย และกัมพูชา รองลงมาคือเป็นกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกไกล จีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น

ในปี 2565 ไทยส่งออกน้ำตาลทรายไปยัง 74 ประเทศปลายทาง ประมาณการส่งออกอยู่ที่ 6,488,483,759 กิโลกรัม มูลค่า 108,081,775,349 ล้านบาท ประเทศใน 5 อันแรก คือ

  • อินโดนีเซีย ส่งออก 24,961,199,180 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 12.11 บาท
  • กัมพูชา ส่งออก 6,723,319,011 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 14.60 บาท
  • เกาหลีใต้ ส่งออก 5,589,382,069 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 13.12 บาท
  • สาธารณรัฐประชาชนจีน ส่งออก 5,123,267,192 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 13.92 บาท
  • ญี่ปุ่น ส่งออก 4,917,380,191 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 13.36 บาท

และในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 พบว่าไทยส่งออกน้ำตาลทรายมูลค่า 28,700 ล้านบาท โดยอินโดนีเซียเป็นประเทศเป้าหมายอันดับ 1

ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกประเทศปลายทาง

  • อินโดนีเซียอยู่ที่ 302,187,010,612.00 บาท
  • กัมพูชา มูลค่า 98,186.905,348.00 บาท
  • เกาหลีใต้ มูลค่า 73,325,341,524.00 บาท
  • สาธารณรัฐประชาชนจีน มูลค่า 71,294,019,407.00 บาท
  • ญี่ปุ่น มูลค่า 65,716,404.00 บาท

หากนำข้อมูลมาเปรียบเทียบจะเห็นว่าราคาขายน้ำตาลทรายในประเทศไทย เมื่อมีการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศมีราคาต่ำกว่าราคาในตลาดอย่างเห็นได้ชัด

ข้อมูลจากกองสถิติสหประชาชาติ ยังระบุอีกว่า ช่วงระหว่างปี 2555-2566 ระหว่างเดือน (ม.ค.-ก.ค.) ไทยส่งออกน้ำตาลที่ได้จากอ้อย หรือหัวบีท และซูโครสบริสุทธิ์ในทางเคมี ลักษณะของแข็ง ไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ , ยุโรปและเอเซียกลาง, ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ,อเมริกาเหนือ, เอเซียตะวันออกและแปซิฟิก, เอเชียใต้ และแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา

สอดคล้องกับข้อมูลจากวิจัยกรุงศรี ระบุว่า ผู้ผลิตน้ำตาลทรายดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก คือ บราซิล อินเดีย สหภาพยุโรป จีน สหรัฐฯ และไทย แบ่งเป็น น้ำตาลจากอ้อย แหล่งผลิตหลักมาจากประเทศแถบเส้นศูนย์สูตร อาทิ บราซิล และประเทศในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ อินเดีย จีน ไทย และปากีสถาน

ส่วนน้ำตาลจากหัวบีท (Sugar Beet) มีแหล่งผลิตหลักจากสหภาพยุโรป รองลงมา ได้แก่ รัสเซีย สหรัฐฯ ตุรเคีย (8.3%) และอียิปต์

โดยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2544-2564 ปริมาณการผลิตและบริโภคน้ำตาลทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผลจากประชากรโลกเพิ่มขึ้นเป็น 7.9 พันล้านคน ในปี 2564 จาก 6.2 พันล้านคน ปี 2544 มีผลทำให้ความต้องการใช้น้ำตาลจากอุตสาหกรรมอื่นเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามน้ำตาลเป็นสารให้ความหวานจากพืช ที่มีความต้องการสูงทั่วโลกทั้งเพื่อบริโภคโดย ตรงและเป็นสารปรุงแต่งรสในผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ อาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์จากนม ขนมหวาน และเบเกอรี

โดยในปี 2564 พบว่า ปริมาณการบริโภคน้ำตาลทั่วโลกมีสัดส่วนสูงถึง 78.2 % จากปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์ให้ความหวานทุกประเภท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ราชกิจจาฯ ประกาศ "น้ำตาลทราย" เป็นสินค้าควบคุม 1 ปี

น้ำตาลขึ้น 4 บาท/กก. "ภูมิธรรม" สั่งตรึงราคาเฉพาะ "สต๊อกเก่า"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง