เมื่อวานนี้ (12 พ.ย.2566) "นายกฯ นิด" เศรษฐา ทวีสิน มีกำหนดการเดินทางไปร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 ระหว่างวันที่ 12-19 พ.ย.2566 ที่นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
เป้าหมายนอกจากการประชุม นายกฯนิด "เศรษฐา " ยังมีกำหนดการเจรจากับบุคคลต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคเอกชน ผู้บริหารธุรกิจ เช่น สาขายานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดิจิทัล ธุรกิจค้าปลีก และการเงินและการธนาคาร เพื่อดึงดูดสนับสนุนการค้าการลงทุนในไทย ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับการดำรงชีวิตประชาชน
ประเด็นหลักของการเจรจาต่าง ๆ นอกจากเรื่องดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีประเด็นสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ นั่นก็คือ การขายโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง
นายกฯนิด "เศรษฐา" ให้สัมภาษณ์บนเครื่องบินระหว่างการเดินทางว่า "จะเชิญชวนนักลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ เมื่อโครงการนี้เกิดขึ้น จะเกิดอุตสาหกรรมใหม่ และจะขยายเป็นฐานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะภาคการเกษตร แต่จะมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเกิดขึ้นด้วย ซึ่งจะยกระดับรายได้ประชาชน และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น"
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี "เศรษฐา" ยังบอกอีกว่า ทุกครั้งที่เดินทางไปต่างประเทศ ได้แจ้งความคืบหน้าของโครงการนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน และยังเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ตัดสินใจวางแผนอนาคต แม้โครงการยังไม่เกิดขึ้นทันที เพราะต้องใช้เวลานาน
"เชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะเล็งเห็นโอกาส จากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และอาจจะตัดสินใจไม่ย้ายประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องสร้างแรงบันดาลใจ เพราะประเทศเราต้องดีขึ้น หากเรามีเขตอุตสาหกรรม ที่ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีได้ และคนไทยมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ที่จะร่วมกันพัฒนา ก็จะเป็นจุดศูนย์กลางที่จะหล่อหลอมให้สังคมดีขึ้นได้"
โดยข้อเสนอที่จะจูงใจให้นักลงทุน เลือกมาลงทุนในโครงการนี้ก็คือ มาตรการทางภาษี, พลังงานสะอาด, การบริหารจัดการน้ำในภาคอุตสาหกรรม, ศูนย์กลางการบิน, รถไฟความเร็วสูง, ท่าเรือแหลมฉบังสำหรับโลจิสติกส์ และแลนด์บริดจ์ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ขณะที่รัฐบาลเพื่อไทยอยู่ระหว่างการเดินหน้าสานต่อนโยบาย แต่อีกด้านก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากภาคประชาสังคมและชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว เนื่องจาก"อยู่ในพื้นที่" และ "เป็นคนในพื้นที่"ในจ.ชุมพร-ระนอง ซึ่งการทักท้วงได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้เริ่มประกาศว่านโยบายจะทำโครงการดังกล่าวนี้
ล่าสุดมีการเผยแพร่เอกสาร ที่นักวิชาการ นักสิ่งแวดล้อม และประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ร่วมกันทำขึ้นชื่อว่า "4 เหตุผลที่ต้องคัดค้านแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง"
เอกสารระบุ 4 ข้อ เหมือนกับ 4 เหตุผลที่กล่าวมา
1.โครงการไม่คุ้มค่า ไม่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ต้องสูญเสียเงินภาษี และเป็นหนี้ต่างชาติ
โครงการนี้ใช้งบประมาณสูงถึง 1 ล้านล้านบาท โดยร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน
นักเดินเรือและนักวิชาการหลายคนระบุว่า การขนส่งโดยใช้เส้นทางแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่า และใช้เวลานานกว่า การเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา เนื่องจากต้องใช้เวลาในการยกตู้คอนเทนเนอร์จากเรือขึ้นรถไฟ และจากรถไฟลงเรือ
อีกทั้งแนวโน้มการขนส่งทางเรือจะลดลง เปลี่ยนไปขนส่งทางรถไฟแทน โดยจีนจะสร้างเส้นทาง One Belt One Road ทั้งถนน รถไฟ ไปสหภาพยุโรป เอเชียกลาง อินเดีย ปากีสถาน ลดการขนส่งผ่านช่องแคบต่าง ๆ จึงไม่มีแรงจูงใจให้มาใช้เส้นทางแลนด์บริดจ์
2.พื้นที่ไม่เหมาะสม ส่งผลกระทบต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล
รูปแบบโครงการแลนด์บริดจ์ หรือสะพานเศรษฐกิจ ประกอบด้วย
1.ส่วนหัว ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ทุ่นเทียบ/ ส่งน้ำมันดิบในทะเลทั้ง 2 ฝั่ง พื้นที่อุตสาหกรรมหลังท่า ถังสำรองน้ำมันดิบ
2.ส่วนตัว หรือระบบคมนาคมเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง ได้แก่ มอเตอร์เวย์ รถไฟรางคู่ ระบบท่อส่งน้ำมัน พื้นที่อุตสาหกรรม ทางคู่ขนานสำหรับการใช้ประโยชน์ของประชาชน
การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แยกเป็น 4 โครงการย่อย 3 หน่วยงาน เอกสารประกอบการประชุม ครั้งที่ 1 ระบุถึงพื้นที่ศึกษาของโครงการ ดังนี้
1) ท่าเรือน้ำลึกชุมพร บริเวณแหลมริ่ว ต.บางน้ำจืด ต.ปากน้ำ อ.หลังสวน และ ต.ปากตะโก อ.ทุ่งตะโก มีชุมชนรอบพื้นที่ตั้งโครงการ 5 กม. 18 ชุมชน มีพื้นที่อนุรักษ์ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติฯ พื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่ง ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ชั้นที่ 2 พื้นที่ป่าชายเลนตามมติ ครม. แหล่งปะการัง แหล่งปะการังเทียม
พื้นที่ถมทะเลมีขนาดประมาณ 5,808 ไร่ หน้าท่าเทียบเรือยาว 7.58 กม. เขื่อนกันคลื่น 2 แนว มีความยาว 5.4 กม. และ 685 เมตร ขุดร่องน้ำเดินเรือ ยาว 8.7 กม. ที่ความลึกของน้ำ 17 ม.
2) ท่าเรือน้ำลึกระนอง บริเวณแหลมอ่าวอ่าง ต.ราชกรูด ต.เกาะพยาม อ.เมือง ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์ มีชุมชนรอบพื้นที่ตั้งโครงการรัศมี 5 กม. 6 ชุมชน มีพื้นที่อนุรักษ์ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติฯ 2 แห่ง พื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่ง 2 แห่ง พื้นที่แรมซาร์ไซด์ พื้นที่ป่าชายเลนตามมติ ครม. ป่าสงวนแห่งชาติ แหล่งปะการัง แหล่งปะการังเทียม แหล่งหญ้าทะเล
พื้นที่ถมทะเลมีขนาดประมาณ 6,975 ไร่ หน้าท่าเทียบเรือยาว 9.35 กม. เขื่อนกันคลื่น 3 แนว มีความยาว 3.12 กม. 340 ม. และ 290 เมตร ขุดร่องน้ำเดินเรือ ยาว 11.5 กม. ที่ความลึกน้ำ 19 เมตร
การถมทะเลทั้ง 2 ฝั่ง ใช้แหล่งหิน 5 แหล่งใน จ.ชุมพร ได้แก่ เขาวง ต.ทุ่งระยะ อ.สวี เขาหอยโข่ง ต.ขุนกระทิง อเมือง เขาตะแคง ต.สะพลี อ.ปะทิว บจก.สมบูรณ์ศิลาทอง ต.นากระตาม อ.ท่าแซะ เขาสันกำแพง ต.ท่าแซะ อ.ท่าแซะ
3) โครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง มีระยะทางประมาณ 90 กม. อยู่ในพื้นที่ 9 ตำบล 3 อำเภอ ของ จ.ชุมพร และ ระนอง ได้แก่ ต.บางน้ำจืด ต.นาขา ต.วังตะกอ ต.หาดยาย อ.หลังสวน ต.ปังหวาน ต.พระรักษ์ ต.พะโต๊ะ ต.ปากทรง อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร และ ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง สภาพพื้นที่เป็นที่ราบ ภูเขา และป่าชายเลน มีการก่อสร้างอุโมงค์รถยนต์ และอุโมงค์รถไฟ จำนวน 3 จุด ในช่วงที่ผ่านพื้นที่ภูเขา ทางวิ่งยกระดับข้ามถนน แม่น้ำสายหลัก และหุบเขา
4) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ยังไม่ปรากฎข้อมูลโครงการ
ประชาชนส่วนใหญ่ในจ.ชุมพรและระนอง เลี้ยงชีพด้วยการทำเกษตร ประมง และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะจังหวัดชุมพร ซึ่งมีรายได้ต่อหัว (2563) สูงถึง 250,823 บาทต่อปี หรือ 20,902 บาทต่อเดือน
ประชาชนมีรายได้หลักจากเกษตรกรรมถึง 55 % ภาคเกษตรเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด มีพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ทุเรียน ปาล์มน้ำมัน กาแฟ จังหวัดชุมพรเป็นแหล่งปลูกทุเรียนอันดับ 2 ของประเทศ มีเนื้อที่ราว 3 แสนไร่ มีผลผลิตราว 3.4 แสนตันต่อปี มูลค่าราว 5-6 หมื่นล้านบาท โดยพื้นที่ปลูกทุเรียน 1 ใน 4 อยู่ในพื้นที่ อ.พะโต๊ะ และ อ.หลังสวน
โครงการนี้จึงต้องแลกกับต้นทุนเศรษฐกิจฐานราก ต้นทุนชุมชน ทั้งพื้นที่ทำกิน แหล่งผลิตอาหาร ประชาชนในพื้นที่ต้องสูญเสียอาชีพดั้งเดิม
ประชาชนในพื้นที่โดยส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ หากถูกบังคับให้โยกย้ายจะได้รับค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรม อีกทั้งต้องแลกกับต้นทุนทางธรรมชาติ ฐานทรัพยากร แหล่งท่องเที่ยว จะเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างชุมชนดั้งเดิมกับภาคอุตสาหกรรม ซ้ำเติมประชาชนที่เปราะบาง เช่น ชาติพันธุ์ คนไทยพลัดถิ่น
นอกจากนั้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติจากพื้นที่รอยเลื่อน และการกัดเซาะชายหาดอย่างรุนแรง และมีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการก่อสร้างและการดำเนินการโครงการ ทั้งทางบกและทางทะเล
ทั้งนี้ อาจพลาดโอกาสขึ้นทะเบียนมรดกโลกอันดามัน เนื่องจากที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกระนองอยู่ใกล้พื้นที่เตรียมประกาศมรดกโลก อีกทั้งอยู่ใกล้พื้นที่สงวนชีวมณฑลโลก
3.ที่มาของโครงการ กระบวนการดำเนินโครงการไม่โปร่งใส ไม่มีธรรมาภิบาล ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่
โครงการนี้ไม่ได้เกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนมาตั้งแต่ต้น และมีการดำเนินการแบบเร่งรัด ลัดขั้นตอน
นอกจากนั้นไม่ได้ให้ข้อมูลเชื่อมโยงภาพรวมทั้งหมดของโครงการ ให้ข้อมูลโครงการเฉพาะด้านดี ไม่ได้ให้ข้อมูลผลกระทบเชิงลบของโครงการ และขาดการให้ข้อมูลคุณค่าและมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติและเศรษฐกิจ ที่ต้องสูญเสียจากการเข้ามาของโครงการ
4.เป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ซึ่งกลุ่มการเมืองกำลังผลักดันกฎหมาย ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวบอำนาจและให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุน
จะว่าไปโครงการนี้นับว่าใหญ่โตมหาศาล และใช้งบประมาณมากมาย หากอ่านย้อนไปตอนต้น ท่านนายกฯ ไปประชุมเอเปคคราวนี้ ก็ได้ขายโครงการนี้กับบรรดาผู้นำ และนักธุรกิจทั่วโลก นั่นหมายถึง “ต้องเกิดขึ้นจริง” อย่างแน่นอน
ว่าแต่กลับมีคำถาม และข้อกังขาคาใจในประเด็นที่ "คนพื้นที่เขาไม่เอาจะว่าอย่างไร "จะรวบหัวรวบหางเหมือนเมื่อก่อนได้หรือ
จึงได้แต่หวังว่า "นายกฯ เศรษฐา" จะไม่สร้างบาดแผลให้คนชุมพร-ระนอง และเดินตามรอย "อดีตนายกฯ ทักษิณ" ที่คนบ่อนอก-บ้านกรูด จ.ประจวบฯ ยังไม่ลืมจนวันนี้ ที่ "อดีตนายกฯทักษิณ” ฟังเสียงชาวบ้าน "หยุดโรงไฟฟ้า" ถึง 2 แห่งในคราวเดียวกัน