ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ข้อเท็จจริงคดีฆ่า "ชัยภูมิ ป่าแส" นักสิทธิมนุษยชนเด็ก

อาชญากรรม
17 พ.ย. 66
11:08
1,603
Logo Thai PBS
ข้อเท็จจริงคดีฆ่า "ชัยภูมิ ป่าแส" นักสิทธิมนุษยชนเด็ก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คดี ชัยภูมิ ป่าแส ต่อสู้มานานถึง 6 ปี สุดท้ายศาลฏีกา ให้กองทัพบกต้องชดใช้เงินให้กับครอบครัวกว่า 2 ล้านบาท

นายชัยภูมิ ป่าแส ถูกทหารยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2560 ทหารซึ่งประจำอยู่ที่ด่านตรวจบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้ตรวจค้นรถยนต์นายชัยภูมิ ป่าแส ที่ขับมาพร้อมเพื่อนอีกหนึ่งคน

เมื่อผ่านด่านตรวจดังกล่าว นายชัยภูมิ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านตรวจค้นแล้วใช้อาวุธปืนยิงจนเสียชีวิต โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า นายชัยภูมิ ขัดขืนและพยายามทำร้ายเจ้าหน้าที่ จึงจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนยิงตอบโต้เพื่อป้องกันตนเอง

ต่อมานางนาปอย ป่าแส มารดาของนายชัยภูมิ ขอความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายต่อมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) สมาคมนักฎกหมายสิทธิมนุษยชน (สนส) และองค์กร Protection Internationl (PI) แต่งตั้งทนายความเป็นโจทก์ ฟ้องกองทัพบก เป็นจำเลย เพื่อเรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

ปี 2562 ที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่า เจ้าหน้าที่ทหารกระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว มารดาของนายชัยภูมิ ป่าแส จึงได้ยื่นฎีกา

ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรรับไว้วินิจฉัย จึงมีคำสั่งรับฎีกาไว้พิจารณา และมีคำพิพากษา สั่งให้กองทัพบกชดใช้ค่าเสียหายให้กับมารดาของนายชัยภูมิ ป่าแส เป็นเงิน 2,072,400 บาท พร้อมดอกเบี้ย หลังจากที่ครอบครัวของชัยภูมิ ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมมานานกว่า 6 ปี

ในคำพิพากษาระบุว่า ศาลฎีกาได้ตรวจพิเคราะห์พยานหลักฐานของจําเลยโดยตลอดแล้ว พบว่าพยานหลักฐานของ จําเลยมีข้อพิรุธหลายประการ กล่าวคือ

ประการแรก เกี่ยวกับเหตุการณ์สําคัญก่อนเกิดเหตุ ข้อเท็จจริงแห่งคดีได้ความว่า ก่อนที่จะตรวจค้นพบยาเสพติดซุกซ่อนอยู่ที่หม้อกรองอากาศ และไส้กรองอากาศภายในกระโปรงหน้ารถ

จ.ส.ท.ณัฐพลกับพวกได้ตรวจค้นรถยนต์ของผู้ตายอย่างละเอียด โดยเปิดประตูรถทั้งสี่บานและฝากระโปรงท้าย แต่ไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย

หากมีเหตุการณ์ที่ระบุว่า ผู้ตายได้หยิบมีดพร้าและวัตถุระเบิดไปจากห้องสัมภาระท้ายรถจริง เหตุใด จ.ส.ท.ณัฐพลกับพวก จึงตรวจค้นไม่พบสิ่งของดังกล่าวตามที่กล่าวอ้างมา

นอกจากนี้พลอาสาสมัครอมรเทพ เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ตัวของพลอาสาสมัครอมรเทพ แย่งมีดพร้าจากผู้ตาย ที่ห้องเก็บสัมภาระท้ายรถ

ส่วนพลทหารสุรศักดิ์เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า พลอาสาสมัครอมรเทพควบคุมตัวผู้ตาย และแย่งมีดพร้ากับผู้ตาย อยู่ที่ท้ายรถด้านนอกตัวรถไม่ใช่ภายในห้องเก็บสัมภาระท้ายรถ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่แตกต่างกัน

อีกทั้งเมื่อพิจารณาตาม บันทึกคําให้การในชั้นสอบสวนของนาย ก.(นามสุมมุติ) แสดงให้เห็นว่า ผู้ตายไม่ได้ไปหยิบวัตถุระเบิด จากห้องสัมภาระท้ายรถตามที่จําเลยกล่าวอ้าง คําพยานจําเลยในเรื่องนี้ จึงขาดน้ำหนักความน่าเชื่อถือ

ประการที่สอง เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับวัตถุระเบิดของกลาง ระบุว่า ตรวจพบดีเอ็นเอของบุคคลมากกว่าหนึ่งคน ซึ่งมีดีเอ็นเอของผู้ตายด้วยที่ตัวระเบิด

ส่วนที่บริเวณด้ามจับวัตถุระเบิด พบดีเอ็นเอของบุคคลมีปริมาณน้อยไม่สามารถใช้ตรวจเปรียบเทียบหรือยืนยันตัวบุคคลได้

แต่ข้อเท็จจริงได้ความจากผู้เชี่ยวชาญ ด้านตรวจและเก็บวัตถุระเบิด ของสํานักงานศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นพยานฝ่ายโจทก์ และได้ความจากพนักงานสอบสวนว่า วัตถุระเบิดของกลางยังไม่ถูกใช้งาน

ทําให้มีข้อน่าสงสัยอย่างมากว่า หากผู้ตายถือวัตถุระเบิดของกลางวิ่งหนีเป็นระยะทางถึง 50 เมตร ดังที่จําเลยกล่าวอ้าง ก็น่าจะมีลายนิ้วมือ และดีเอ็นเอของผู้ตายติดอยู่ที่ด้ามระเบิด ในปริมาณมากพอที่จะตรวจพบได้

และหากผู้ตายทําท่าจะขว้างวัตถุระเบิดของกลาง ใส่พลทหารสุรศักดิ์ตามที่จําเลยกล่าวอ้าง ผู้ตายก็จะต้องเปิดฝาเกลียวออก และใช้นิ้วมือคล้องห่วงเหล็กเพื่อใช้งาน คําพยานจําเลยเกี่ยวกับเหตุการณ์ตอนนี้ จึงขัดต่อเหตุผลธรรมดาของเรื่องราวที่กล่าวอ้าง

ประการที่สาม พลทหารสุรศักดิ์เบิกความตอบคําถามค้าน ของทนายโจทก์ว่า หลังเกิดเหตุพยานพบระเบิดของกลาง ตกอยู่ห่างตัวผู้ตายประมาณ 10-20 เซนติเมตร

ส่วนจ.ส.ท.ณัฐพล ซึ่งขับรถจักรยานยนต์ตามไปที่จุดเกิดเหตุเบิกความ ตอบคําถามค้านของทนายโจทก์ว่า พยานเห็นระเบิดอยู่ที่มือขวาของผู้ตาย พยานจําเลย ทั้งสองปากนี้เห็นเหตุการณ์ในเวลาใกล้เคียงกัน แต่เบิกความในข้อสาระสําคัญที่แตกต่างกัน จึงเป็นข้อพิรุธอีกประการหนึ่ง

ประการที่สี่ ข้อเท็จจริงได้ความจากพนักงานสอบสวนว่า ในบริเวณสถานที่เกิดเหตุมีกล้องวงจรปิด 9 ตัว ใช้การได้ 5 ตัว พยานตรวจสอบในวันเกิดเหตุพบว่ากล้องบันทึกภาพเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุไว้ได้

ในชั้นสอบสวนพยาน ขอให้เจ้าหน้าที่ทหารส่งภาพบันทึก เหตุการณ์ในจุดเกิดเหตุ แต่เจ้าหน้าที่ทหารไม่ส่งให้

ต่อมาเดือนเม.ย.2560 เจ้าหน้าที่ทหารส่งเครื่องบันทึกข้อมูลภาพกล้องวงจรปิดไปให้ พยานซึ่งได้ถูกส่งไปตรวจพิสูจน์ปรากฏว่า เครื่องบันทึกภาพตั้งค่าวันเวลาเป็นปัจจุบัน

พบแฟ้มข้อมูลภาพที่บันทึกเหตุการณ์ระหว่าง วันที่ 20-25 มี.ค.2560 ไม่พบภาพเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ แต่พบประวัติการทําสําเนาแฟ้มข้อมูลบันทึกภาพเหตุการณ์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 มี.ค.2560 การกระทำดังกล่าวทําให้น่าสงสัยว่า มีการปิดบังข้อเท็จจริงบางอย่างหรือไม่

ส่วนพยานโจทก์ปากมีนาย ข. (นามสมุติ) นั้น แม้นาย ข.ไม่เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดก็ตาม แต่นาย ข.เบิกความว่า เห็นเหตุการณ์ตอนที่ผู้ตายวิ่งหนีไป ผู้ตายไม่ได้หยิบสิ่งของใดจากภายในกระโปรงท้ายรถไป ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวสอดคล้องกับพยานแวดล้อมกรณี ในเรื่องราวที่เกิดขึ้นมากกว่า

คําให้การของพยานจําเลย ทั้งนี้ไม่ปรากฏว่า นาย ข. มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด อีกทั้งหลังเกิดเหตุ พยานโจทก์ปากนี้ได้ให้สัมภาษณ์ต่อนักข่าวในทันที ตามบันทึกภาพเคลื่อนไหวพยานวัตถุทําให้น่าเชื่อว่าพยานโจทก์ปากนี้เบิกความไปตามความเป็นจริงที่ได้รู้เห็นมา

ดังนั้นพยานหลักฐานของจําเลยไม่มีน้ำหนักมากเพียงพอ ที่ศาลฎีกาจะเชื่อถือได้มากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ หลังจากตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้วนั้น ศาลฎีกาจึงได้พิพากษากลับ ให้จําเลยชําระเงิน 2,072,400 บาท (ข้อมูล/มูลนิธิผสานวัฒนธรรม)

เกษม แซ่กือ ผู้สื่อข่าวอาวุโสไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง