วันนี้ (22 พ.ย.2566) เพจประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โพสต์ภาพเหตุการณ์ "ช้างชนช้าง" ซึ่งเกิดขึ้นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบุณฑริก-ยอดมน จ.อุบลราชธานี
เหตุการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ชุดผลักดันช้างป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบุณฑริก-ยอดมน รายงานว่าเมื่อเวลา 08.00 น.ที่ผ่านมา พบช้างป่าส่งเสียงดังขณะกำลังชนกัน จึงเข้าเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนประชาชนและนักท่องเที่ยว
เนื่องจากพบช้างป่าตัวผู้ ขนาดตัวเต็มวัย จำนวน 2 ตัว ส่งเสียงดังและช้างป่ากำลังชนกัน บริเวณจุดสกัดน้ำตกห้วยทรายใหญ่ เจ้าหน้าที่จึงได้ติดตามเฝ้าระวังและได้แจ้งเตือนชุมชนให้ประกาศประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย และแจ้งในสมาชิกชมรมช้างป่า
ก่อนหน้านี้ช่วงเดือน ต.ค.นี้ เพิ่งมีกรณีพลายงาทอง ช้างป่าเซเลบ บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ต่อสู้กับพลายงาเดียว จนเกิดงาข้างซ้าย 1 เมตรหักไปหนึ่งข้าง
อ่านข่าว ศึกชนช้างเขาใหญ่ "พลายทองคำ" งาหัก
ภาพกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
รู้ทันช้างป่าตกมัน-ช้างสู้กันใช้เวลา 6-7 ชม.
สำหรับช่วงนี้ ข้อมูลจากเอกสารคู่มือควบคุมและแก้ไขช้างป่าในพื้นที่ชุมชน ระบุว่าช้างป่าทั้งตัวผู้และตัวเมีย ช่วงเวลาการตกมันตั้งแต่ปลายฤดูฝนจนถึงฤดูแล้ง
ระยะเวลาในการตกมันขึ้นกับสภาพความสมบูรณ์ของร่างกาย
โดยจะเห็นอาการ ตกมัน เช่น มีคราบมองเห็นเป็นสีดำไหลที่บริเวณขมับ ปล่อยอวยัวะเพศห้อย
ส่วนช้างป่าเพศผู้จะต่อสู้กันโดยใช้เวลานานมาก บางครั้งใช้เวลานานถึง 6-7 ชั่วโมง ซึ่งอาจจะแบ่งเป็นหลายๆ ช่วงเวลา ช่วงละประมาณ 2-3 ชั่วโมงและขยายพื้นที่ต่อสู้ไปเรื่อยๆ
โดยจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการข่มขู่กัน การหักโค่นต้นไม้ กิ่งไม้ จนเกิดความเสียหายกับต้นไม้ และพื้นที่โดยรอบเป็นวงกว้าง หากตัวไหนแพ้ จะหันหลังให้และพยายามวิ่งหนีออกไปจากพื้นที่ต่อสู้ และบางตัวที่แพ้บางตัวที่หนีไม่ทัน จึงมักจะถูกดึงขนหางจนหมด
อ่านข่าว
ตามหา "งา 1 ม." พลายงาทอง เพลี่ยงพล้ำศึกชนช้างเขาใหญ่
"พลายทองคำ-พลายงาทอง" ประสานงาอีกรอบ ในอุทยานฯเขาใหญ่
คุยกับ "สุทธิพร" เจ้าของฉายาชายผู้สื่อสารกับช้างเขาใหญ่