วันนี้ (7 ธ.ค.2566) นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค พบว่าผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อบานปลาย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่อาจเพิ่มแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก กระทบการส่งออกของไทย ทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลงและมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค สะท้อนให้เห็นภาพว่าขณะนี้การจับจ่ายใช้สอยไม่คึกคัก ซึมทั้งประเทศ เพราะมันมีหลายปัจจัยลบ
GDP ปีนี้ โตอยู่ที่ 3-3.5% หากเรื่องลงทุน ท่องเที่ยวเป็นไปตามคาด และเบิกจ่ายของรัฐ ที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจในปี 2567 จะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในทุกโครงการ ถ้างบประมาณมันเดินไปตามกรอบก็จะเป็นอีกปัจจัยที่อาจทำให้เศรษฐกิจโต กว่าที่คาดการณ์ไว้
อ่านข่าว:รัฐลดค่าครองชีพ ฉุดเงินเฟ้อ พ.ย. ลบ 0.44% ต่ำสุด 33 เดือน
นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า ถ้ามองตอนนี้ คือ เศรษฐกิจมีความน่ากังวล เห็นได้จากความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคแม้จะไต่ระดับขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังอยู่ในแดนลบต่อเนื่อง ผู้บริโภคระวังการจับจ่ายใช้สอย ดัชนีรายได้ในอนาคตก็ไม่ดี มันเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจซึม มีหลายอย่างกำลังบ่งชี้ว่าเงินกำลังฝืด รัฐต้องเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วที่สุดในช่วงปลายปี และไตรมาส 1/2567
ทั้งนี้ผลสำรวจในเดือนพ.ย. 2566 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่น หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาล และรัฐบาลจัดทำนโยบายลดค่าครองชีพ โดยลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน มีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ
นอกจากนี้ ผู้บริโภคเห็นว่าการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้น ความขัดแย้งทางการเมืองน่าจะคลี่คลายลง จึงส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ
ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะกังวลการเมืองในประเทศ ราคาพลังงาน ค่าครองชีพที่ทรงตัว ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยง ซึ่งส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้า ทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง
อย่างไรก็ตาม การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพสูง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยและทั่วโลก ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน และอิสราเอลกับฮามาสในปาเลสไตน์อาจยืดเยื้อส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
อ่านข่าว:
“เวียดนาม” แชมป์ข้าวโลกปี 66 ผู้ส่งออกข้าวเผยไทยไม่ส่งประกวด
ไทย “ส่งออกข้าว” พุ่ง หลังอินโดฯขาดแคลนข้าว-ภัยแล้งซ้ำ