วันนี้ (13 ธ.ค.2566) เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 1 จ.ชุมพร และศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จ.ภูเก็ต ร่วมกันดำน้ำสำรวจการแพร่ระบาดของ "ดาวมงกุฎหนาม" บริเวณเกาะบอน หมู่เกาะสิมิลัน โดยพบการแพร่ระบาดที่เป็นอันตรายต่อปะการัง เพราะดาวมงกุฎหนามกินปะการังเป็นอาหาร
เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จ.ภูเก็ต ให้ข้อมูลว่า ได้รับแจ้งเรื่องจากครูสอนดำน้ำหลายคนถึงการระบาด ซึ่งตามภาวะการดำรงชีวิตของดาวมงกุฎหนามที่ไม่ส่งผลกระทบต่อปะการังมากเกินไป ต้องไม่เกิน 14 ตัวต่อ 100 ตารางเมตร
แต่จากการนับจำนวนพบถึง 33 ตัวต่อ 100 ตารางเมตร จึงต้องลดประชากรดาวมงกุฎหนามไป 22 ตัว เพื่อไม่ให้สร้างความเสียหายต่อปะการังในพื้นที่ ซึ่งเป็นแหล่งดำน้ำท่องเที่ยวในทะเลอันดามันเหนือ
ปี 2565 บริเวณดังกล่าวเคยมีการระบาดของดาวมงกุฎหนามถึง 60 กว่าตัวและนักดำน้ำได้นำออกแล้ว แต่ยังพบการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว คาดว่าบริเวณรอบเกาะบอน ไม่มีสัตว์ผู้ล่าที่ควบคุมประชากรดาวมงกุฎหนาม อย่างหอยเต้าปูน และปลาวัวบางชนิดที่มีจำนวนน้อยไป
"ดาวมงกุฎหนาม" เป็นดาวทะเลขนาดใหญ่ มีแขนรวมกันทั้งหมด 16-21 แฉก มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 25-30 เซนติเมตร กระจายพันธุ์ทั่วทะเลเขตอินโด-แปซิฟิก กินปะการังเป็นอาหาร ในทางนิเวศวิทยาถือเป็นสัตว์ที่ควบคุมประชากรปะการังไม่ให้มากจนเกินไป
แต่หลายพื้นที่ก็มีการแพร่ระบาดจนเกิดเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งปะการังที่ถูกทำลายไปแล้วอาจฟื้นตัวก่อตัวขึ้นใหม่ได้ แต่ใช้เวลานาน 10-40 ปี โดยประเทศญี่ปุ่นเคยลงทุน 600 ล้านเยน กำจัดดาวมงกุฎหนาม 13 ล้านตัวที่เกาะริวกิว ตั้งแต่ปี 2513-2526 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
อ่านข่าวอื่นๆ
21 ธ.ค.นี้ ไทยส่งลิงอุรังอุตัง 3 ตัวล็อตสุดท้าย คืนอินโดนีเซีย
จุดอ่อน-ข้อบกพร่องระบบ E-Ticket เข้าอุทยานฯ
เตือนเผาป่าเปิด พท.เลี้ยงสัตว์ในอุทยานฯ จำคุก 20 ปี ปรับ 2 ล้าน