ในปี 2021 ข้อมูลจากเครือข่าย ASAS-SN ที่ออกแบบเพื่อตรวจจับสัญญาณของดาวฤกษ์จากระบบดาวฤกษ์ที่มีขนาดใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ พบดาวฤกษ์ Asassn-21qj ซึ่งอยู่ห่างจากโลกไป 1,800 ปีแสง มีการเปลี่ยนแปลงความเข้มของแสงสว่างอย่างรวดเร็ว
อาร์ตทู ไซนิโอ (Arttu Sainio) อาสาสมัครของ NASA ค้นพบเรื่องราวเหล่านี้ผ่าน X (Twitter เดิม) จากนั้นค้นหาการเปลี่ยนแปลงระดับความสว่างของดาวฤกษ์ดวงนี้ผ่านฐานข้อมูลของ NEOWISE ซึ่งพบว่าดาวดวงนี้สว่างขึ้นอย่างไม่คาดคิดในย่านของแสงอินฟราเรดเมื่อสองปีก่อน ก่อนที่ดาวฤกษ์ดวงนี้จะลดความสว่างลงมา ซึ่งเขาได้นำเรื่องราวนี้บอกต่อผ่านทาง X อีกครั้งก่อนที่นักดาราศาสตร์มืออาชีพ ดร.แมททิว เคนเวอร์ที (Matthew Kenworthy) และ ดร.เอริก มามาเจ็ก (Eric Mamajek) จะเข้ามาพบเรื่องนี้และให้ความสนใจกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นอย่างมากพร้อมรวมกันทำงานวิจัยร่วมกับอาร์ตทู
นอกจากนี้พวกเขายังได้ร่วมงานกับแฮมิช บาร์เกอร์ (Hamish Barker) นักดาราศาสตร์ด้านการวิเคราะห์สเปกตรัมของแสงมือสมัครเล่น รวมถึงทีมงาน 2SPOT ช่วยกันวิเคราะห์แถบสเปกตรัมของ Asassn-21qj จนพบว่าการลดลงของปริมาณแสงของดาวนั้นเกิดจากการที่ดาวเคราะห์น้ำแข็งยักษ์ หรือดาวกลุ่มเดียวกับดาวเนปจูนและยูเรนัสเกิดการชนกันในวงโคจรของดาว Asassn-21qj จนทำให้เกิดการสว่างวาบของแสงในย่านอินฟราเรด แล้วหลังจากนั้นเศษฝุ่นและก๊าซจากดาวเคราะห์ทั้งสองดวงนั้น ก็กระจัดกระจายลอยฟุ้งทั่วทั้งวงโคจรของ Asassn-21qj ทำให้ปริมาณแสงจากมันลดลง
การค้นพบนี้คือความสำเร็จซึ่งเกิดจากการให้ความสำคัญกับกลุ่มมือสมัครเล่นที่อาสาเข้ามาช่วยเหลืองานของเหล่านักวิทยาศาสตร์ หากไม่มี อาร์ตทู อาสาสมัครของ NASA คงไม่มีใครสนใจถึงข่าวการลดลงของแสงดาวฤกษ์ดวงหนึ่งจากพันล้านดวงที่อยู่ภายในฐานข้อมูล ซึ่งนำไปสู่การพบหลักฐานของการชนกันของดาวเคราะห์น้ำแข็งยักษ์ที่ชนกันและทิ้งเศษซากที่น่าสนใจให้เราศึกษา สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของสังคมที่ควรหยิบยื่นโอกาสให้แก่บุคคลทั่วไปที่มีความตั้งใจในการทำงานและสนใจใคร่รู้ มากกว่าการแค่เปรียบเทียบคุณค่าจากวุฒิการศึกษาเพียงอย่างเดียว
ที่มาข้อมูล: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech