นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาฯ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่า ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการเสนอ การเสนอผ้าขาวม้า : ผ้าอเนกประสงค์ในวิถีชีวิตไทย และรายการมรดกร่วม เคบายา (Kebaya) เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (The Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ต่อองค์การยูเนสโก
รายการ "เคบายา" รายการที่เสนอร่วมกับสหพันธรัฐมาเลเซีย เนการาบรูไน ดารุสซาลาม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และสาธารณรัฐสิงคโปร์ ทั้งนี้ ในช่วงปลายปี วันที่ 2-7 ธ.ค.2567 รายการ ต้มยำกุ้ง กับ เคบายา จะเข้ารับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นรายการต่อไป
สงกรานต์ 2566 ที่สยามสแควร์
นายเสริมศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ICH ครั้งนี้ ยังได้ทราบถึงผลการประเมินเอกสารขอขึ้นทะเบียน "สงกรานต์ในประเทศไทย (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year Festival)" ที่องค์การยูเนสโก ได้ประกาศรับรองเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา ณ สาธารณรัฐบอตสวานา นั้น ได้รับการชื่นชมจากคณะผู้ประเมิน (Evaluation Body)
โดยชมเชยว่า ได้มีการจัดเตรียมข้อมูลเป็นอย่างดี ในการให้ชุมชน กลุ่มบุคคล และปัจเจกบุคคที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมอย่างชัดเจน ในกระบวนการเสนอขอขึ้นทะเบียนโดยรวม และยังชมเชยเพิ่มเติมต่อรัฐภาคีที่เน้นย้ำถึงภัยคุกคามและเสนอมาตรการปกป้องเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งคณะผู้ประเมินได้ให้ความเห็นว่าเอกสารของไทยเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดี (good examples)
สำหรับรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติในแง่ลักษณะเฉพาะ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity - Specific Aspects) ที่แสดงถึงความชัดเจนและโปร่งใสเกี่ยวกับภัยคุกคามต่าง ๆ เผชิญอยู่ และแสดงให้เห็นว่ารัฐภาคีวางแผนที่จะจัดการกับภัยคุกคามเหล่านี้อย่างไร
นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการจัดทำบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ดีพร้อมแนวทางการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันที่ชัดเจน อีกด้วย
ขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมชาติ 2566
และที่ประชุมยังเห็นชอบ การประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ระดับชาติ ประจำปี พ.ศ.2566 จากการเสนอของคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการฯ ประจำจังหวัด และผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองตามลักษณะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม แล้ว ดังนี้
ประเภทรายการที่ "เสี่ยงต่อการสูญหาย" ต้องได้รับการส่งเสริมและรักษาอย่างเร่งด่วน ประกอบด้วย
- ด้านวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ได้แก่ ภาษาโส้
- ด้านศิลปะการแสดง ได้แก่ ตุ๊บเก่ง, โนราควน
- ด้านงานช่างฝีมือดั้งเดิม ได้แก่ ผ้ามุกนครพนม, ขุดเรือยาว, ผ้าทอใยกัญชงม้ง
ผ้ามุกนครพนม
ประเภทรายการตัวแทน "มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม" ประกอบด้วย
- ด้านศิลปะการแสดง เพลงพวงมาลัย
- ด้านแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล ได้แก่ ชุดไทยพระราชนิยม, ประเพณีแห่พระศรีอริยเมตไตรย วัดไลย์, งานปีผีมด, ประเพณีลอยเรืออูรักลาโว้ย, ประเพณีจุดไฟตูมกา ออกพรรษายโสธร
ประเพณีลอยเรืออูรักลาโว้ย
- ด้านความรู้ละการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ได้แก่ ข้าวแคบ, ข้าวหมูแดงนครปฐม, แกงหัวตาล
แกงหัวตาล
- ด้านงานช่างฝีมือดั้งเดิม ได้แก่ ปลาตะเพียนใบลาน, เครื่องถมนคร
- ด้านการเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้านและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ได้แก่ ว่าวแอก
ทั้งนี้ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเผยแพร่คุณค่าสาระความสำคัญ รวมทั้งให้การส่งเสริมสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการดำรงรักษาต่อไป
ระงับชื่อเครื่องดื่ม "มวยไทย" หวั่นกระทบภาพลักษณ์กีฬาชาติ
นายเสริมศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ให้ความเห็น กรณีบริษัทผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใช้ชื่อ "มวยไทย" ไปเป็นเครื่องหมายเพื่อการค้า การกระทำดังกล่าวอาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์กีฬามวยไทยซึ่งกำลังจะเสนอให้เป็นกีฬาในมหกรรมกีฬาโอลิมปิค และเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีของกีฬามวยไทยในฐานะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ที่กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเสนอต่อยูเนสโก
อ่านข่าว : "Muaythai Global Power" ไทยดัน "พระเอก" ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
โดยที่ประชุมได้เห็นชอบ แนวทางการดำเนินการเพื่อป้องกันการกระทำที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายในอนาคต คือ
1. ขอความร่วมมือในการระงับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมฯ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ.2559 มาตรา 22 และ มาตรา 25 เมื่อมีเรื่องร้องเรียนหรือเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมอันเป็นกระแสที่ประชาชนให้ความสนใจ
2.หากผู้ประกอบการยังไม่ดำเนินการตามคำแนะนำในข้อ 1 ให้เชิญมาประชุมหารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขและหาข้อยุติ
3. หากยังไม่สามารถดำเนินการระงับยับยั้งได้ให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมดำเนินการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม มาตรา 24 ต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ยังให้ความเห็น การเตรียมเสนอรายการมรดกภูมิปัญญาทางนิยม รายการลอยกระทง และรายการมวยไทย ตามที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมเสนอ เพื่อเสนอขอความเห็นชอบต่อ ครม. ในการนำเสนอให้ยูเนสโก พิจารณาภายในปี พ.ศ.2567 อีกด้วย
อ่านข่าวอื่น ๆ
9 ธุรกิจดาวรุ่งปี67 “ท่องเที่ยว-สุขภาพความงาม-สัตว์เลี้ยง”
สหรัฐฯ ส่ง "Golden Boy" โบราณวัตถุล้ำค่าคืนไทย หลังหายไป 60 ปี