แก้ปัญหาเด็กกลายเป็นผู้กระทำความผิด ทำไม่ได้ด้วยการดูแค่ตัวเลข
“อาชญากรรมที่มีเด็กและเยาวชนเป็นผู้ก่อเหตุมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ”
“เด็กที่ก่อเหตุรุนแรง มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ”
เรื่องเล่าเช่นนี้ เป็นอีกหนึ่งเนื้อหาสำคัญที่ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อประเภทต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งจากช่องทางที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยเฉพาะเมื่อเกิดคดีที่ผู้ก่อเหตุรุนแรงยังมีสถานะเป็นเด็ก หรือ เยาวชน
แต่หากมาพิจารณาจากหลักฐานทางสถิติ ก็จะพบว่า ยังมีข้อเท็จจริงอีกหลายแง่มุมที่ควรถูกนำมาอธิบายเพิ่มเติมไปมากกว่าการแสดงความเห็นเท่านั้น
ข้อมูลจาก "กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน" กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเก็บข้อมูล "จำนวนเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด" จนต้องเข้าสู่การดูแลของกรมพินิจฯ ตั้งแต่ปี 2556 มาจนถึงปี 2566 โดยแยกตามระดับอายุ
หากดูจากข้อมูลที่ถูกนำเสนอออกมาก่อนหน้านี้ คือ ข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างปี 2565 กับปี 2566 จะเห็นว่า มีจำนวนเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดเพิ่มมากขึ้น ในทุกช่วงอายุ
แต่หากนำตัวเลขนี้ ไปเปรียบเทียบกับตัวเลขตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่มีการเก็บสถิติ คือ ตั้งแต่ปี 2556 ก็จะพบว่า จำนวนเด็กที่กระทำความผิดในแต่ละช่วงมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงหลังปี 2562 ซึ่งมีการระบาดของโควิด-19 แต่ในช่วงปี 2565 ก็เริ่มกลับมามีตัวเลขสูงขึ้น และกลับมาเริ่มสูงขึ้นอีกในปี 2566 แต่ก็ยังน้อยกว่าเมื่อช่วง 10 ปีก่อน
แต่ทั้งหมดนี้ ... มีคำอธิบายว่าเป็นตัวเลขที่เราเห็น ... ยังไม่ใช่ตัวเลขที่สะท้อนข้อเท็จจริง เช่น
ตัวเลขของเด็กที่มาถึงกระบวนการของกรมพินิจฯ แล้ว (ผ่านกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กมาแล้ว) ไม่ใช่ตัวเลขของเด็กที่กระทำความผิดทั้งหมด
หรือในบางช่วงเวลา มีการปรับนโยบาย ที่ทำให้ตำรวจไม่จับกุมเด็กที่กระทำความผิดเล็กน้อย จึงมาไม่ถึงกรมพินิจฯ เพราะการจับกุมเด็กจะต้องมีขั้นตอนอื่นตามมาอีกมากมาย เช่น การเชิญสหวิชาชีพ นักจิตวิทยา มาร่วมซักถามตามขั้นตอน จนถูกมองเป็นภาระของพนักงานสอบสวน
ตัวเลขเหล่านี้ เป็นตัวเลข จำนวนเด็ก ที่เข้าสู่กระบวนการของกรมพินิจ แต่ไม่ใช่ จำนวนคดี ที่เกิดขึ้น ดังนั้นในบางช่วงเวลาก็มีเด็กเข้ามามากด้วยคดีเดียวกัน เช่น ช่วงที่มีนโยบายจับกุมเด็กแว้น อาจมีเด็กเข้ามาถูกนับเป็นสถิตินี้จำนวนหลายสิบคนด้วยการจับกุมเพียงคดีเดียว
และการที่มีเด็กถูกจับกุมน้อยลง เป็นผลมาจากจำนวนประชากรเด็กของประเทศไทยลดลงไปมากด้วย เพราะมีอัตราการเกิดน้อยลง
หากนำตัวเลขนี้ไปเทียบเป็นสัดส่วนของจำนวนประชากรเด็ก และคิดออกมาเป็นค่าเฉลี่ย จะพบว่า มีอัตราของเด็กที่กระทำความผิดเทียบกับจำนวนประชากรเด็ก ไม่เปลี่ยนไปมากนักในแต่ละปี และเมื่อนำเหตุผลที่มีความซับซ้อนมาอธิบายผลทางสถิติที่ถูกเก็บออกมาได้เช่นนี้
จะเห็นว่า การจะวิเคราะห์ หรือด่วนสรุปว่า เด็กก่อเหตุมากขึ้น ?? หรือเด็กก่อเหตุลดลง ?? หรือเด็กที่ก่อเหตุรุนแรงมีอายุน้อยลง ?? หรือไม่น้อยลงจริง ?? .... ไม่ว่าจะสรุปไปในทางบวกหรือทางลบ ก็อาจไม่สามารถสรุปได้ด้วยการดูจากตัวเลขเพียงเท่านี้
แน่นอนว่า การนำเฉพาะตัวเลขเด็กที่เข้ากระบวนการของกรมพินิจฯ มีจำนวนมากขึ้นในระหว่างปี 2565-2566 มานำเสนอเพียงส่วนเดียว ก็ไม่ใช่สิ่งที่สะท้อนข้อเท็จจริงทั้งหมดได้เช่นเดียวกัน
นอกจากตัวเลขเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด จนถูกส่งไปอยู่ในความดูแลของกรมพินิจฯ ซึ่งถูกนำเสนอออกมาอย่างต่อเนื่อง ... แท้จริงแล้ว ในฐานข้อมูลของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ยังมีข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น ประเภทของฐานความผิดที่เกิดขึ้นจากผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กและเยาวชน ตั้งแต่ปี 2556-2566 เรียงจากมากที่สุด
1. ความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
2. ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ (เป็นอันดับที่ 2 มาจนถึงปี 2564)
3. ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย (แซงขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ในปี 2565-66)
4. ความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน
5. ความผิดเกี่ยวกับการคมนาคม (รกซิ่ง เด็กแว้น แต่งรถ)
6. ความผิดเกี่ยวกับเพศ
และอีกหนึ่งฐานความผิดที่น่าสนใจ ข้อมูลจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ระบุว่า จำนวนเด็กและเยาวชนถูกจับกุมในฐานความผิดนี้เป็นจำนวนไม่น้อย แต่ถูกนับรวมอยู่ด้วย คือ "ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ความสงบสุข เสรีภาพและการปกครอง" ในปี 2556 มี 685 คน, ปี 2558 มี 848 คน, ปี 2563 มี 1,010 คน, ปี 2565 มี 292 คน และปี 2566 มี 319 คน
สาเหตุที่ข้อมูล "ประเภทของฐานความผิด" เป็นข้อมูลที่น่าสนใจมากๆ เพราะในกระบวนการแรกรับเด็กและเยาวชนเข้าสู่การดูแลของ กรมพินิจฯ ยังมีขั้นตอนสำคัญ คือ การแสวงหาข้อเท็จจริงว่า
ทำไมเด็กเหล่านี้ ถึงกลายเป็นผู้กระทำความผิด ... แต่น่าเสียดายที่ไม่ถูกอ้างอิงถึงมากนัก ทั้งที่เป็นข้อมูลสำคัญที่จะทำให้สังคมเข้าใจถึงต้นตอที่แท้จริงของปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กในประเทศไทย
ดังนั้นเราจึงควรให้ความสนใจกับข้อมูลชุดนี้ด้วย ไม่ใช่ดูเพียงแค่ตัวเลขเด็กที่กระทำความผิดเท่านั้น
มาดู "ตัวเลขเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในฐานะผู้กระทำความผิด แต่เคยถูกทำรุนแรงมาก่อน"
แน่นอนว่า ตัวเลขชุดนี้ ย่อมมีปัญหาในแง่ของจำนวนเด็กและเยาวชนที่ถูกนำมาสอบถาม เช่นเดียวกับตัวเลขจำนวนเด็กที่เข้าสู่การดูแลของกรมพินิจฯ แต่การตรวจสอบพบ "ประวัติการถูกทำรุนแรงมาก่อน" ของเด็กที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็ทำให้พบข้อเท็จจริงที่เราต้องนำไปวิเคราะห์อย่างหนัก คือ ... "ก่อนจะกลายมาเป็นเด็กที่กระทำความผิดและถูกสังคมรุมประนาม เด็กกลุ่มนี้จำนวนมาก เคยเป็นเหยื่อของการถูกทำรุนแรงมาก่อน"
ข้อมูลจากนักจิตวิทยาเด็ก ยังเปิดเผยกับทีมข่าว ThaiPBS online ด้วยว่า นอกจากปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน หรือ การถูกบูลลี จะเป็นสาเหตุสำคัญที่พบในกลุ่มเด็กที่กลายมาเป็นผู้กระทำความผิด ยังพบว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญเช่นกัน ซึ่งปัญหานี้เกิดจากความไม่เข้าใจของพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย เพราะบางครอบครัวคิดว่า การที่ผู้ปกครองไม่เคยตบตีบุตรหลานนั่นคือการไม่ใช้ความรุนแรงแล้ว แต่แท้จริงแล้ว เด็กยังสามารถซึมซับความรุนแรงได้ในรูปแบบอื่น
"ความรุนแรงในครอบครัว ไม่ใช่แค่การตบตี แต่การถูกดุด่าด้วยถ้อยคำที่รุนแรง ก็เป็นความรุนแรงในรูปแบบที่เรียกว่า Emotional Abuse หรือแม้แต่การที่เด็กเห็นพ่อแม่ทะเลาะกันเอง ใช้ความรุนแรงต่อกันเอง ก็เป็นความรุนแรงอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำให้เด็กเกิดบาดแผลทางจิตใจได้ กลายเป็นเหยื่อความรุนแรงที่เรียกกันว่า Secondary Victim และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุด คือ เด็กที่ถูกคุกคามทางเพศจากคนใกล้ตัว” นักจิตวิทยาเด็กคนหนึ่ง อธิบาย
เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน เราจะเห็นว่า หนึ่งในเด็กกลุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นผู้กระทำความผิด คือ เด็กที่มีปัญหาครอบครัว ซึ่งมีตัวเลขของเด็กกลุ่มนี้อยู่เช่นกัน แต่เป็นตัวเลขที่นับเฉพาะจาก "เด็กและเยาวชนที่เข้าข่ายได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 32" คือ เด็กเร่ร่อนหรือเด็กกำพร้า เด็กถูกทิ้งหรือพลัดหลง เด็กที่ผู้ปกครองไม่สามารถเลี้ยงดูได้ เด็กที่ผู้ปกครองมีพฤติกรรมหรือประกอบอาชีพไม่เหมาะสม เด็กที่ถูกทารุณกรรม เด็กที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ เด็กพิการ และเด็กที่อยู่ในสภาพยากลำบาก … ลองไปดู
ตัวเลขเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในฐานะผู้กระทำความผิด แต่เคยถูกทำรุนแรงมาก่อน
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ ชี้ให้เห็นว่า หากจะใช้ "ตัวเลข หรือ สถิติ การกระทำความผิดของเด็ก" มาเป็นหนึ่งในข้อมูลพื้นฐานที่นำมาคิดวิเคราะห์หาแนวทางการแก้ปัญหาต่อไปได้ ก็จะต้องใช้โดยคำนึงถึงความซับซ้อนในการได้มา
และยังต้องมองไปถึงโอกาสต่างๆ ที่จะทำให้ได้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เช่น มีนโยบายเบี่ยงเบนเด็กออกไปจากกระบวนการยุติธรรมในช่วงเวลาหนึ่งจนทำให้ตัวเลขน้อยลงไป, การดูแต่จำนวนโดยไม่ได้นำไปเทียบกับจำนวนประชากรเด็กที่ลดลง
หรือแม้แต่ตัวเลขเด็กกระทำความผิดที่ขยับขึ้นมาแบบก้าวกระโดดในช่วงระหว่างปี 2565 – 2566 ก็ถูกวิเคราะห์อย่างไม่เป็นทางการไว้ว่า อาจเกิดจากการที่มีหลักฐานปรากฏมากขึ้นจากเทคโนโลยีการถ่ายภาพ มีกล้อง CCTV จนกลายมาเป็นแรงกดดันให้เกิดการติดตามจับกุมมากขึ้นตามกระแสสังคมไปด้วย
ดังนั้นการค้นหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เด็กกลายเป็นผู้กระทำความผิด โดยย้อนกลับไปที่ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่การออกแบบกระบวนการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กอย่างถูกต้องเหมาะสมกับสภาพปัญหา อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ควรถูก "โฟกัส" มากกว่า "จำนวนเด็กที่กระทำความผิด" หรือ "วิธีการลงโทษ"