วันนี้ (27 ม.ค.2567) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธานเปิดงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 หรือ Bangkok Design Week 2024 ภายใต้แนวคิด "Liveable Space คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี" โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานยุทธศาสตร์คณะกรรมการซอฟท์พาวเวอร์ฯ ร่วมงาน
โดยเมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึงได้เยี่ยมชมนิทรรศการ จากหน่วยงานต่าง ๆ โดยนายกรัฐมนตรี และ น.ส.แพทองธาร ได้ร่วมกิจกรรมที่บูธ Creative Power House การวาดภาพผ่านกระจก โดยใช้ต้นแบบยืนด้านหลัง และเซ็นลายเซ็น
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ความยินดีของผมมาจากหลายประการ คือ ได้เห็นพลังสร้างสรรค์ของคนจากหลากหลายอุตสาหกรรมมากกว่า 1,000 คน ที่มาร่วมการแสดงผลงานรวมไปถึงมาช่วยกันคิดทดลองทำในหลายกิจกรรมที่มีเป้าหมายการพัฒนาสาธารณูปโภคและคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมืองรวมแล้วกว่า 500 โปรแกรมในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ
นอกจากนี้ ยังเห็นกิจกรรมสร้างสรรค์ที่กระจายอยู่ในกรุงเทพฯมากกว่า 15 ย่าน ทำให้คนรู้จักและเดินทางไปร่วมกิจกรรมและท่องเที่ยวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนนำไปสู่การสร้างรายได้และการสร้างงานให้กับผู้ประกอบการและชุมชน
การจัดงานเทศกาลการออกแบบ 6 ครั้ง ที่ผ่านมามีผู้เข้าชมผล 2 ล้านคน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 2,000 ล้านบาท ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
รวมไปถึงได้เห็นการทำงานร่วมกันของภาคเอกชนและภาครัฐช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างมูลค่าให้แก่สินค้าและการบริการด้วยการประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ที่ช่วยต่อยอดสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม อันจะเกิดอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันทางธุรกิจไทยในระดับสากล
และได้เห็นการสร้างสีสันและความเคลื่อนไหวใหม่ ๆ ให้กับกรุงเทพฯ ที่นำเสนอความสำคัญของการออกแบบและแนวสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงวัฒนธรรมในแต่ละย่าน และนับเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทยในภาพรวมอีกด้วย
ดังนั้นการจัดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯจึงเป็นหนึ่งในเทศกาลหลากหลายที่ทำให้เราได้เห็นภาพและผลของการใช้เทศกาลเป็นกลไกในการส่งเสริมอุตสาหกรรมและผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ชัดเจนสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เติบโตและขยายไปสู่ต่างประเทศได้ ซึ่งช่วยสนับสนุนการสร้าง Soft Power ทำให้ผู้บริโภคในตลาดโลกทึ่มีความสนใจและต้องการซื้อสินค้าและบริการสร้างสรรค์ของไทยให้มากยิ่งขึ้น
ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ระบุว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่ 2 ถือเป็นแนวคิดที่ทำให้มองเห็นว่าความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบล้วนเกี่ยวข้องกับเมืองวิถีชีวิตของผู้คนและอยู่ในชีวิตประจำวัน ด้วยความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบจำเป็นอย่างยิ่ง ต่อการสร้างซอฟต์ของประเทศไทย ทำให้ต่างชาติหลงใหลและหันมาชื่นชมของประเทศไทย
กรุงเทพฯเป็นพื้นที่ของความหลากหลายมีหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม ทุกย่านต่างมีประวัติศาสตร์ของตนเองที่มีความเป็นเอกลักษณ์
สิ่งนี้เป็นเสน่ห์สำคัญของกรุงเทพฯ ในหมู่เมืองมีหลายบรรยากาศล้วนสร้างความรู้สึกและประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป ต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ดีจะต้องพัฒนาพลังสร้างสรรค์
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ได้เชิญชวนหลายภาคส่วน ทั้งกลุ่มเครือข่ายของนักสร้างสรรค์ภาครัฐภาคเอกชนมาร่วมกันพัฒนาย่านในกรุงเทพฯแสดงอัตลักษณ์ให้เป็นผลงานที่จะแสดงขึ้นในแต่ละพื้นที่ และมีความร่วมมือกันระหว่างนักสร้างสรรค์และกลุ่มที่มหานครในการพัฒนาเมืองบนฐานของความรู้ด้านสถาปัตยกรรมและผังเมือง เพื่อเป็นการออกแบบมาประยุกต์ใช้งานได้จริง
คืบหน้าจัดซอฟต์พาวเวอร์ "สงกรานต์"
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ คือ รูปธรรมของการนำความคิดสร้างสรรค์มาทำงานร่วมกันกับวัฒนธรรมไทยและทำให้เกิด Soft Power ได้เป็นอย่างดีและหวังว่าประชาชนจะได้รับแรงบันดาลใจดี ๆ กลับไป รวมไปถึงเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ศิลปินไทยที่จะทำเกิดขึ้นในอนาคตความร่วมกันผลักดันให้ความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยไปสู่เวทีโลก ขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมกันทุ่มเทจนเกิดเป็นงานดีๆยังมี
ส่วนความคืบหน้าการจัดเทศกาลสงกรานต์เป็นซอฟต์พาวเวอร์ไทย น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มประชาสัมพันธ์ในเวทีซอฟต์พาวเวอร์ต่าง ๆ ไปก่อน ว่า เรามีโรดแมปที่จะทำเรื่องสงกรานต์ ส่วนงบประมาณก็ต้องรอ
เตรียมคุยสำนักงบฯ ดันเทศกาลสงกรานต์ เป็นซอฟต์พาวเวอร์
ด้าน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดเทศกาลสงกรานต์เป็นซอฟต์พาวเวอร์ไทย ว่า รูปแบบงานสงกรานต์วันนี้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการเสนอของบประมาณ และได้มีการนำเสนอสู่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แล้ว อยู่ในขั้นตอนการพูดคุยกับสำนักงบประมาณ จะได้เห็นแน่นอน และในเดือน ก.พ.จะมีการเริ่มต้นการประชาสัมพันธ์เป็นต้นไป
ส่วนงบประมาณในการดำเนินการนั้น นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ตอนนั้นขอที่ประชุมไว้คือ 270 ล้านบาท โดยรวบรวมทุกอย่างไว้ทั้งหมด ทั้งการจัดงานในกรุงเทพฯ ในต่างจังหวัด และการประชาสัมพันธ์ระดับโลก
ยังคาดหวังว่าเงินสะพัดจะถึง 35,000 ล้านบาท เหมือนเดิม และน่าจะมากกว่านั้นด้วย เพราะความตื่นตัวของนักท่องเที่ยวที่จะมาประเทศไทยเราเห็นได้ชัดเจนว่า 20 กว่าวันนี้เติบโตขึ้นมาก ซึ่งเดือน เม.ย. น่าจะเติบโตขึ้นอีก
อ่านข่าวอื่น ๆ
รทสช. แจงพรรคไม่เกี่ยว "เจ๋ง ดอกจิก-พิมณัฏฐา" เอี่ยวรีดเงิน เล็งชง กก.บห.ขับพ้นพรรค
เฮงรับปีมะโรง เปิดประวัติ "ตรุษจีน" ปี 2567 ความสำคัญ - พิธีไหว้
มท.1 นำฝ่ายปกครองจับผับดังสมุทรสาคร พบนักเที่ยวฉี่ม่วง 77 คน