เช็งเม้ง หรือ เทศกาลเช็งเม้ง เป็นอีกหนึ่งวันสำหรับของคนไทยเชื้อสายจีน ลูกหลานที่แยกย้ายไปทำงาน จะเดินทางกลับมารวมตัว เพื่อไหว้ "สุสาน" หรือ "ฮวงซุ้ย" ของบรรพบุรุษ
"เช็งเม้ง" ตามสำเนียงแต้จิ๋ว ในภาษาจีนแยกเป็น "เช็ง" หมายถึง สะอาด บริสุทธิ์ และ "เม้ง" หมายถึง สว่าง เมื่อนำมารวมกันแล้วหมายถึง ช่วงเวลาแห่งความแจ่มใส รื่นรมย์ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาในฤดูใบไม้ผลิของจีน ต้นไม้ใบหญ้าเขียวชอุ่มสวยงาม จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการไปไหว้บรรพบุรุษ ณ ที่ฝังศพ แทนการไหว้ป้ายวิญญาณในบ้าน
"วันเช็งเม้ง" ถือวันที่ 5 เม.ย. เป็นหลักของ "เทศกาลเช็งเม้ง" เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 - 8 เม.ย. รวม 7 วัน ปัจจุบันเนื่องจากมีปัญหาการจราจร สุสานต่าง ๆ จึงขยายช่วงเวลาของเทศกาลเช็งเม้งให้ยาวขึ้น คือ ประมาณ 15 มี.ค. - 8 เม.ย.
ในวันเช็งเม้ง ธรรมเนียมปฏิบัติที่ลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนทำนั้น คือ ทำความสะอาดสุสานบรรพบุรุษ ตกแต่งสุสานให้ดูใหม่ กราบไหว้ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ มีการ กินอาหารไหว้ร่วมกันเป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังลาของไหว้ จุดประทัดเพื่อเป็นสิริมงคล
เหตุผลที่ต้องมีวันเช็งเม้งนั้น เพราะชาวจีนแต่ก่อนจะไม่เผาร่างของผู้เสียชีวิตแต่จะฝังแทน นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าแม้จะตายแต่วิญญาณยังอยู่ ดังนั้นจึงมีการไหว้อาหารและข้าวของเครื่องใช้จำเป็น เสมือนให้พวกท่านได้ไปใช้ในอีกภพภูมิ
การเตรียมของไหว้และปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างถูกต้องถือเป็นสิ่งสำคัญ นั้นเพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษ แล้วมีขั้นตอนและการปฎิบัติอย่างไร ดังนี้
อ่านข่าว : "เช็งเม้ง" วันไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน มีความสำคัญอย่างไร
1.ทำความสะอาดและตกแต่งสุสาน
การทำความสะอาดสุสานเป็นการแสดงความเคราพต่อบรรพบุรุษ
- ตัดหญ้า กวาดใบไม้ และเก็บขยะบริเวณสุสาน
- เช็ดทำความสะอาดป้ายชื่อ หรือศิลาแกะสลัก
- หากตัวอักษรจางลง อาจใช้สีเติมหรือเน้นตัวอักษรใหม่
- เปลี่ยนกระถางธูปและจัดดอกไม้ใหม่
- นำกระถางธูปและเชิงเทียนมาทำความสะอาด
- จัดดอกไม้ใหม่เพื่อความสดชื่นและเป็นสิริมงคล
- จัดเตรียมของไหว้และกระดาษเงินกระดาษทองเพื่อแสดงความเคารพ
- จุดธูปไหว้และเผากระดาษ และต้องคำนึงถึงความปลอดภัย
2.กราบไหว้เจ้าที่
กราบไหว้เจ้าที่ เป็นการให้เกียรติและขอบคุณที่ช่วยดูแลสุสาน เตรียมของไหว้เช็งเม้งให้ครบ ส่วนของที่ใช้ไหว้เจ้าเหมือนกันกับของไหว้เจ้าตรุษจีน
3. กราบไหว้ระลึกถึงบรรพบุรุษ
อาหารไหว้ เช่น หมู เป็ด ไก่ ผลไม้ ขนมเปี๊ยะ ธูปเทียน ใช้สำหรับไหว้และอธิษฐาน กระดาษเงินกระดาษทอง แทนเงินทองเพื่อส่งให้บรรพบุรุษ น้ำชา หรือเหล้า สำหรับรินถวาย อย่างไรก็ตาม เครื่องไหว้ต่าง ๆ อาจแล้วปรับให้เข้ากับยุคสมัย และความสะดวกของผู้ไหว้ และความเชื่อของแต่ลละครอบครัว
4.พิธีไหว้และเผากระดาษเงิน กระดาษทอง เริ่มโดยผู้อาวุโสในครอบครัวนำลูกหลานกราบไหว้ ลูกหลานตีวงล้อมรอบบริเวณที่เผา เผากระดาษเงิน กระดาษทองและของใช้กระดาษ จุดประทัดเพื่อขับไล่สิ่งไม่ดี
5.หลังเสร็จสิ้นลูกหลานจะร่วมกันกินอาหารร่วมกัน อาหารที่ไหว้เสร็จแล้วจะถูกแบ่งกันรับประทาน เป็นช่วงเวลาที่สมาชิกครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน สุดท้ายจุดประทัด เพื่อความเป็นสิริมงคลในเทศกาลเช็งเม้ง
วันเช็งเม้ง ไม่ใช่แค่วันไหว้บรรพบุรุษ แต่เป็นวันที่ทุกคนในครอบครัวกลับมาพบหน้ากัน และร่วมกันดูแลสุสาน "ฮวงซุ้ย" ให้สะอาดและเป็นระเบียบ เป็นการให้เกียรติระลึกถึงปู่ย่าตายาย
เช็งเม้ง มากกว่าพิธีกรรม คือความผูกพัน
มุมมองของลูกหลานเชื้อสายจีนที่มีต่อประเพณีอาจแตกต่างกันไปตามยุคสมัย คนรุ่นเก่า อย่าง อากง อาม่า และพ่อ แม่ อาจมองว่าเป็นหน้าที่ของลูกหลาน ที่ต้องสืบทอดและแสดงความกตัญญู และเชื่อว่าการดูแลฮวงซุ้ยให้สะอาดและเป็นระเบียบจะนำพาสิริมงคลและความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ครอบครัว และวันนี้ยังเป็นโอกาสให้ครอบครัวได้กลับมาพบกันและแสดงความรักต่อกัน
ขณะที่ในมุมมองของลูกหลานเชื้อสายจีนยุคใหม่ กลุ่มที่ยังให้ความสำคัญกับเช็งเม้ง อาจมองว่าเป็นวันรวมญาติและเป็นโอกาสได้รำลึกถึงบรรพบุรุษ เชื่อว่าการไหว้บรรพบุรุษเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงความเคารพ แม้อาจไม่ได้เชื่อเรื่องโชคลาง แต่ก็ยังคงปฏิบัติตามประเพณีเพื่อรักษาสายสัมพันธ์ครอบครัว
กลุ่มที่เริ่มห่างจากประเพณี อาจมองว่าเช็งเม้งเป็นภาระหรืออาจรู้สึกว่าเป็นพิธีกรรมที่ล้าสมัย หลายคนต้องทำงานหรืออยู่ไกลจากบ้าน ทำให้ไม่มีเวลาร่วมพิธี บางคนเห็นว่า ความกตัญญูไม่จำเป็นต้องแสดงออกผ่านพิธีกรรม แต่สามารถแสดงออกได้ผ่านความรักและการทำดี
ความเปลี่ยนแปลงของการดูแลฮวงซุ้ย ในปัจจุบันบางครอบครัวเลือกใช้บริการทำความสะอาดฮวงซุ้ย แทน เนื่องจากไม่มีเวลาหรืออยู่ไกล ใช้เทคโนโลยี เช่น วิดีโอคอลเพื่อให้คนที่อยู่ไกลสามารถร่วมพิธีได้
คนรุ่นใหม่มอง "เช็งเม้ง" อย่างไร
"เช็งเม้งคือโอกาสปีละครั้งที่ทำให้ได้กลับบ้านเกิดของปู่ ย่า ทุกคนในครอบครัวมารวมตัวกัน ไม่ใช่แค่ทำพิธีไหว้ แต่ยังเป็นช่วงเวลาที่ได้เล่าความหลัง ใช้เวลาร่วมกัน เป็นบรรยากาศที่อบอุ่นไม่ลืม
มนัช กราฟิกดีไซเนอร์ อายุ 31 ปี ลูกครึ่ง ไทย-จีน ครอบครัวทางแม่เชื้อสายไทย ส่วนทาง ป๊า (พ่อ) เป็นคนจีนลุ่มแม่น้ำมาจากเมืองฝูโจว ประเทศจีน ที่มีบ้านอยู่ทางภาคใต้ของไทย ตัว มนัชเองเกิดและเติบโตที่กรุงเทพฯ
ตั้งแต่จำความได้ทุกปิดเทอมใหญ่ช่วงปลายเดือน มี.ค. มนัชจะเดินทางไป อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช เพื่อร่วมงาน "เช็งเม้ง" กับครอบครัวฝั่งพ่อเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันทุกปี บ้านอาผ่อ (คุณย่า) คือศูนย์รวมของญาติ ๆ และเมื่อไปถึง สิ่งแรกที่ต้องทำคือไปไหว้อากุ๊ง (คุณปู่) ที่ฮวงซุ้ยใกล้วัดในตลาดบน
ก่อนวันไหว้ ญาติ ๆ จะรวมตัวกันไปทำความสะอาดฮวงซุ้ย มีการทาสี ขัด ถู เตรียมพื้นที่ให้พร้อม หลังจากนั้นเด็ก ๆ รวมถึงก่อก๊อ (พี่ชาย) และจีจี้ (พี่สาว) จะช่วยกันพับกระดาษเงินกระดาษทอง เตรียม "เงินพันล้าน หมื่นล้าน" เป็นปึกไว้สำหรับเผา
เช้าวันไหว้ ผู้ใหญ่จะเริ่มเตรียมอาหารกันตั้งแต่ยังไม่สว่าง ในบ้านมีแต่เสียงพูดคุยภาษาจีนสำเนียงท้องถิ่น ซึ่งฟังไม่เข้าใจ อาหารถูกบรรจุลงปิ่นโตและภาชนะหลายสิบชุด รวมถึงเครื่องดื่มต่าง ๆ น้ำชา กาแฟ น้ำอัดลมนำทั้งหมดไปที่ฮวงซุ้ย ผู้ใหญ่จะช่วยกันทำความสะอาดอีกครั้ง ส่วนเด็กมีหน้าที่ปักธงสี โปรยกระดาษและดอกไม้รอบ ๆ ฮวงซุ้ย
พิธีเริ่มต้นด้วยการไหว้เจ้าที่และบรรพบุรุษ จุดประทัด เผากระดาษเงินกระดาษทอง และเมื่อเสร็จพิธี ทุกอย่าง อาหาร และขยะ จะถูกเก็บกลับบ้านเพื่อรับประทานอาหารที่ใช้ไหว้ร่วมกัน
นับเป็นความสุขสมัยเด็กอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ จนถึงตอนนี้แม้จะต้องมีฮวงซุ้ยของอาผ่อและป๊าเพิ่มแล้วด้วยนั้น ก็ยังคิดว่า "เช็งเม้ง" นอกจากจะเป็นการไปหาป๊าในรอบปี ก็นับว่าเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งในการพบปะญาติพี่น้องครั้งใหญ่ครั้งเดียวในทุก ๆ ปี
วันเช็งเม้ง ไม่ใช่แค่วันไหว้บรรพบุรุษ แต่เป็นวันที่ทุกคนในครอบครัวกลับมาพบกัน ร่วมกันดูแลสุสาน "ฮวงซุ้ย" ให้สะอาด เพื่อเป็นการให้เกียรติและระลึกถึง ปู่ ย่า ตา ยาย
อ่านข่าว : รู้และเข้าใจ "เอชไอวี" รู้เร็ว รักษาเร็ว ป้องกันได้
เช็กอย่างไร "ทำประกัน" อะไรไว้บ้าง
"เจ้าสัวแห่งราชวงศ์จักรี" ร.3 ผู้ทรงนำพาความมั่งคั่งสู่แผ่นดิน