วันนี้ (29 ม.ค.2567) ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย รศ.นพ.ฉันทชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ และ รศ.นพ.ศักนัน มะโนทัย รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต พ.ศ.2567 ว่า รูปแบบการเรียนการสอนของคณะแพทย์ฯ จุฬาลงกรณ์ มีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
โดยในปีการศึกษานี้จะเปลี่ยนการประเมินนิสิตแพทย์ใหม่ จากเดิมใช้เกรด A-F มาเป็น S หรือ U แทน เพื่อลดภาวะความเครียดจากการเรียน และการแข่งขันในนิสิต แต่ขณะเดียวกันมุ่งส่งเสริมการทำงานเป็นทีม และจิตวิญญาณความเป็นแพทย์มากขึ้น
ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงการวัดประเมินผลในกลุ่มการเรียนการสอนคณะแพทย์ฯนี้ นับได้ว่า เป็นการทำในภาวะที่คณะแพทย์ แข็งแกร่งมากที่สุด และสอดคล้องกับทิศทางการเรียนทั่วโลก ที่มุ่งเน้นเรื่องสมรรถนะ การนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์และปรับใช้ เพื่อประโยชน์ของคนไข้ และการเรียนที่เน้นความรู้ การเพิ่มพูนความรู้มากกว่าการแข่งขันกัน
เดิมการเรียนมุ่งแต่สอนกลางภาค ปลายภาค มีแต่การสอบ แต่การเรียนการสอนแบบนี้จะมุ่งเรื่องของการคิดวิเคราะห์ความเมตตาเผื่อแผ่
ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวว่า ในอนาคตทุกคณะในจุฬาฯ จะใช้หลักเกณฑ์เดียวกับคณะแพทย์ ซึ่งปัจจุบันก็มีบางวิชา เช่น วิชาทางเลือกตามความถนัด ที่เปิดกว้างให้นิสิตเลือก และวิชาเหล่านี้จะให้เกณฑ์แค่ ผ่านกับไม่ผ่านเท่านั้น
ทั้งนี้ยังเชื่อว่าในอนาคตรูปแบบการเรียนการสอน การวัดผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียนจะค่อย ๆ เปลี่ยนจากระดับมหาวิทยาลัย มาถึงระดับมัธยมศึกษา
การเปลี่ยนวัดประเมินผลนี้ อาจจะยังไม่เห็นผลใน 5 ปี แต่ทิศทางทั่วโลกเหมือนกันหมดต้องมีการเปลี่ยนแปลง และจะเปลี่ยนจากยอดบนลงล่างคือ มหาวิทยาลัยถึงมัธยมศึกษา เน้นการนำไปปรับใช้ และความสุขในการเรียน
รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวว่า หลักสูตรของคณะแพทย์ จุฬาฯ มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนตลอด 77 ปี ตั้งแต่การปรับปรุงหลักสูตร 2 ปริญญา ให้แพทย์ได้เรียนตามความถนัดเพิ่ม หรือ หลักสูตรแพทย์อินเตอร์
ส่วนการประเมินผล S/U เป็นการวัดว่า การเรียนที่ผ่านมาผ่านเกณฑ์ตามที่คณะแพทย์กำหนดหรือไม่ ไม่มี A,B,C,D,F โดยหากผ่านเกณฑ์ที่กำหนดจะได้ การประเมินว่า S หากไม่ผ่านเกณฑ์จะได้รับ U
ส่วนการจัดอันดับเกียรตินิยมยังคงมีอยู่ เนื่องจากเห็นว่ายังเป็นประโยชน์แก่นิสิต โดยการประเมินจะใช้วัดว่านิสิตมีความสามารถ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ในการเรียนครั้งสามารถนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ ลดความเครียด ลดการแข่งขัน มีความสุขในการเรียน และยังมีคุณสมบัติเป็นเลิศทางวิชาการ ,เป็นเลิศด้านการปฏิบัติ และเป็นเลิศด้านวิชาชีพ มีหัวใจของความเป็นแพทย์
มั่นใจว่าต่อไปทิศทางอนาคตของคณะแพทย์ฯ หลายแห่งจะมีการปรับตัว มาใช้รูปแบบการวัดประเมินผลแบบนี้ ส่งผลให้ผู้เรียนมีความรู้ทางปฏิบัติ ไม่เกิดความเครียด เกิดความสุข และรู้จักการทำงานเป็นทีม
อ่านข่าวอื่น: