วันนี้ (1 ก.พ.2567) พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รักษาการอธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษอยู่ระหว่างการตรวจค้น จับกุมผู้ต้องหาในคดีฟอกเงินฯ โดยผู้กระทำผิดเป็นเครือข่ายผู้มีอิทธิพลใน จ.ระนอง ฟอกเงินจากหวยออยไลน์ และโกงภาษีส่งออกน้ำมันมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท
โดยเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่าง เข้าค้น 27 จุด ออกหมายจับผู้ต้องหารวม 18 คน พบของกลางเป็นทรัพย์สินเป็นทองรูปพรรณ เครื่องใช้แบรนด์เนมจำนวนมาก โดยดีเอสไอเตรียมแถลงผลปฏิบัติการหลังตรวจค้นจับกุม
พ.ต.ต.ยุทธนา เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการสืบสวนกรณีมีเบาะแสการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กรณีปรากฏเบาะแสว่ามีกลุ่มบุคคลภายใต้เครือข่าย "โกฟุก" นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์หลอกลวงให้ประชาชนเข้าซื้อรางวัลเลขท้ายของรางวัลที่ 1 และรางวัลเลขท้าย 2 ตัว
โดยอ้างอิงผลการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมทั้งนำผลการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ มาประกอบในการเชิญชวนให้มีการเล่นการพนันภายใต้เว็บไซต์หลายเว็บไซต์ เช่น ร่ำรวยร้อยล้าน, นพเก้า, นาคราช, ชอบหวย, ล้อตโต้เอ็มเอ็ม, ดีเอ็นเอ,เยเย่ และอื่นๆ เบื้องต้นพบเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 1,000 ล้านบาท จึงรับไว้ทำการสอบสวนคดีพิเศษที่10/2567
จากการสอบสวนขยายผลพบว่าเครือข่ายพนันออนไลน์ดังกล่าวใช้วิธีการโอนเงินเพื่อแยกย้ายถ่ายเททรัพย์สินผ่านบัญชีม้ารวมทั้งแปรสภาพเงินที่ได้จากการกระทำความผิดเป็นทรัพย์สิน ต่างๆ จำนวนมากคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จึงรวบรวมพยานหลักฐานเสนอศาลขออนุมัติออกหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องรวม 18 หมายจับ และในวันนี้จึงมีการเปิดปฏิบัติการในการเข้าตรวจค้นเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 27 เป้าหมายในพื้นที่หลายจังหวัด
เพื่อติดตามจากจับกุมบุคคลหมายจับพร้อมทั้งตรวจค้นเพื่อติดตามทรัพย์สินและพยานหลักฐาน ผลการตรวจค้นสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้บางส่วน รวมทั้งมีการตรวจยึดทรัพย์สินและพยานหลักฐาน ประกอบด้วยรถยนต์หรู ทองรูปพรรณ สินค้าแบรนด์เนม อาวุธปืน และอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมและรายงานผลการปฏิบัติมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ
อนึ่ง จากการสอบสวนปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่านอกจากเครือข่ายโกฟุก จะเกี่ยวข้อง จับความผิดเรื่องพนันออนไลน์และฟอกเงินแล้วยังพบว่ามีความเชื่อมโยงกับกระบวนการฉ้อภาษี ในการสร้างหลักฐานการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงไปนอกประเทศที่เป็นเท็จแล้วนำมาขอคืนภาษี โดยเบื้องต้นพบว่ามีการดำเนินการ ต่อเนื่องมากว่า 10 ปี ทำให้รัฐสูญเสียภาษีนับ 10,000 ล้านบาท ซึ่งได้มีการสอบสวนคดีพิเศษอีกคดีหนึ่งแล้ว
อ่านข่าวอื่นๆ :
เก็บกู้แล้ว! ระเบิด 2 ลูกซุกกรวยจราจรถนนเลียบหาดพัทยา