วันนี้ (7 ก.พ.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการประชุม สภากรุงเทพมหานครวันนี้ ที่ประชุม มีมติ 43 เสียง เห็นชอบตามที่คณะกรรมการวิสามัญพิจารณา ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้นกว่า 23,488 ล้านบาท เป็นรายจ่ายพิเศษจากเงินสะสมจ่ายขาดของกรุงเทพมหานคร
อ่านข่าว : "เศรษฐา" ชนหมัด "ชัชชาติ" หารือแนวทางพัฒนา กทม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เงินสะสมส่วนนี้ กรุงเทพมหานครจะนำไปใช้จ่ายหนี้รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว ที่เป็นส่วนของระบบการเดินรถและเครื่องกล หรือ ระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ที่ กทม.เป็นหนี้บีทีเอส มาก่อน
อ่านข่าว : "อนุทิน" คุย "ชัชชาติ" รับปมสัมปทาน - หนี้ BTS สีเขียว แก้ยาก
ทั้งนี้ ก่อนการลงมติ นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ในฐานะ ประธานคณะกรรมการวิสามัญ พิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 รายงานต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครว่า คณะกรรมการวิสามัญแต่งตั้งขึ้น เมื่อ 24 ม.ค.2567 มีจำนวน 23 คน ใช้ระยะเวลาพิจารณาทั้งสิ้น 5 ครั้งโดยไม่มีผู้แปรญัตติ
ได้รับฟังเหตุผลความจําเป็น ในการขอตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ซึ่งคณะกรรมการวิสามัญได้พิจารณาโดยยึดหลักกฎหมาย ความคุ้มค่า ความเหมาะสม ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และกรุงเทพฯ จึงได้สรุปผลการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญ จนมีมติให้ผ่านงบประมาณรายจ่าย
อ่านข่าว : บีทีเอส ชี้แจงปมสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว หลัง "ป.ป.ช." ชี้มูลความผิด "สุขุมพันธ์ุ"
แต่คณะกรรมการวิสามัญฯ มีข้อสังเกต 2 ประเด็น รายงานต่อที่ประชุมสภา กทม.ถึงผู้บริหาร กทม.ว่า ให้หน่วยรับงบประมาณ (กทม.) ใช้จ่ายงบประมาณโดยประหยัด คุ้มค่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกรุงเทพมหานคร 2 ข้อสังเกตของคณะกรรมการวิสามัญ คือ
1.กทม.ควรประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชน ถึงเหตุผลความจำเป็นในการใช้จ่ายงบประมาณ โครงการงานระบบการเดินรถไฟฟ้าและเครื่องกลโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2
2.กทม.ควรเร่งใช้จ่ายงบประมาณโครงการงานระบบการเดินรถไฟฟ้าและเครื่องกลโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ให้เรียบร้อย โดยเร็วเพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณในด้านอื่น ๆ โดยดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
อ่านข่าว : กทม.ชงมหาดไทยทบทวน ม.44 ปมสัมปทานบีทีเอส
หลังจากจบวาระดังกล่าว นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ให้สัมภาษณ์ว่า วันพรุ่งนี้ ทางสำนักขนส่งและจราจร นัดหารือกับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัดและบีทีเอส โดยต้องไปหารือร่วมกันว่า กระบวนการจะเป็นอย่างไร โดยให้นำข้อสังเกตของ สภา กทม.ไปพิจารณาร่วมด้วย
ขณะเดียวกัน ผู้ว่าฯ กทม.ต้องรอลงนามข้อบัญญัติที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา และอีกส่วนเมื่อได้ข้อยุติเรื่องข้อบัญญัติแล้ว กรุงเทพฯ จะทำหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงมหาดไทยรับทราบ ถึงความก้าวหน้าของเรื่องนี้ ดังนั้น ประเด็นที่ค้างอยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่เดิม เนื้อหาจะต้องเปลี่ยนไปด้วย จากเดิมที่รวมเรื่องหนี้ไว้อยู่
อ่านข่าว : คมนาคมชี้แจงร่างสัญญา "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" คิดค่าโดยสารแพง-ไม่ลดค่าครองชีพ
หลังจากนี้ ทาง กทม.จะเริ่มกระบวนการรับโอนระบบทรัพย์สิน ระบบ E&M เข้ามา และแจ้งกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้มีแนวทาง ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปตามสมควร
ส่วนความชัดเจนการจ่ายหนี้ให้ BTS จำนวน 23,000 ล้านบาท ว่าจะจ่ายทั้งก้อน หรือ แบ่งเป็นรายงวด ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ ต้องรอพิจารณารายละเอียด และดูบัญชีให้รอบคอบ
อ่านข่าว : เปิดเวทีหาทางออกปมสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 19 ก.พ.
นายชัชชาติ กล่าวว่า ยืนยันว่า ค่างวดต่าง ๆ จะต้องทำให้ กทม.ได้ประโยชน์สูงสุด และเกิดความยุติธรรมต่อทุกฝ่าย แต่ถือว่าเป็นความสบายใจ ที่วันนี้เห็นชอบเอกฉันท์ จากสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ที่ลงมติให้เป็นเอกฉันท์ ส่วนการเจรจากับ บีทีเอส ฝ่ายเกี่ยวข้องต้องไปหารือกัน แต่คาดว่า น่าจะได้ความชัดเจนเรืองยอมลดหนี้ดอกเบี้ยให้เราแต่ทุกอย่างต้องไปเจรจากัน
อ่านข่าว : "ชัชชาติ" ย้ำ รอความหวัง รบ.ใหม่ ชี้ขาด "ยกเลิก ม.44 - ปมหนี้ BTS"