ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผบ.ทร.เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกครูฝึกฝีพายเรือพระราชพิธี (นายเรือ นายท้าย)

พระราชสำนัก
12 ก.พ. 67
12:09
1,383
Logo Thai PBS
ผบ.ทร.เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกครูฝึกฝีพายเรือพระราชพิธี (นายเรือ นายท้าย)

วันนี้ (12 ก.พ.2567) เวลา 09.00 น. ที่แผนกเรือราชพิธี กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกครูฝึกฝีพายเรือพระราชพิธี (นายเรือ นายท้าย) โดยมี พล.ร.ท.วิจิตร ตันประภา รองเสนาธิการทหารเรือ สายงานกำลังพล ในฐานะประธานคณะจัดเตรียมความพร้อมขบวนเรือพระราชพิธี พร้อมทั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายฝึกซ้อมกำลังพลฝีพาย ให้การต้อนรับ

สำหรับการฝึกครูฝึกฝีพายเรือพระราชพิธี ถือเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนแรกของการเตรียมความพร้อมขบวนเรือในงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องจากก่อนการอัญเชิญเรือราชพิธีลงจากคาน เพื่อทำการฝึกซ้อมฝีพายในน้ำ ต้องประกอบพิธีบวงสรวงเรือครูฝึกฝีพายเรือราชพิธี โดยใช้เรือรุ้งประสานสายและเรือเหลืองใหญ่ ซึ่งเป็นเรือฝึกครูฝึกฝีพาย ประกอบด้วย การฝึกครูฝึกฝีพาย การฝึกนายเรือ และการฝึกนายท้าย เพื่อให้กำลังพลที่เป็นฝีพายประจำเรือพระราชพิธี มีความรู้ความเข้าใจในรูปแบบการพาย และการปฏิบัติต่างๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ทั้งนี้ เมื่อกำลังพลที่เข้ารับการฝึกข้างต้นเสร็จสิ้น จะได้รับหน้าที่เป็นครูฝึกฝีพายเรือพระราชพิธีของหน่วยรับเรือที่ตนสังกัด ได้แก่ การฝึกพายเรือบนบก (การฝึกพายบนเขียงฝึก) และการฝึกพายเรือในน้ำ เพื่อให้มีทักษะการบังคับเรือในน้ำ และหลังจากนั้นจะเข้าสู่การฝึกปรับรูปกระบวนในแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป

ในส่วนของการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ไม่มีหลักฐานที่มาของการจัดริ้วขบวนเรือที่ชัดเจน แต่มีการสันนิษฐานว่า ในสมัยพระเจ้าลิไท พระร่วงได้เสด็จไปลอยกระทงโดยเรือ หรือพิธีจองเปรียง ณ กลางสระน้ำ รวมทั้งมีการจัดขบวนเรือพระที่นั่งไปรับพระศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลังกาทีปมหาสามี จากลังกามายังกรุงสุโขทัย

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ในหลวงรัชกาลที่ 10) เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค จำนวน 3 ครั้ง

ซึ่งในครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาส มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2555 ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร

ครั้งที่สอง เป็นการเชิญเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เทียบที่ท่าราชวรดิษฐ์ ในพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคม เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562

และในครั้งที่สาม พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พุทธศักราช 2562

ทั้งนี้ ในส่วนของรูปแบบการจัดขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ในครั้งนี้ใช้เรือจำนวนทั้งสิ้น 52 ลำ ซึ่งจัดขบวนเป็น 5 ริ้ว ความยาว 1,200 เมตร กว้าง 90 เมตร โดยใช้กำลังพลประจำเรือในขบวนเรือพระราชพิธี รวมทั้งสิ้น 2,200 นาย และในขบวนเรือประกอบด้วยเรือประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  1. เรือริ้วสายกลาง จำนวน 10 ลำ ประกอบด้วย
    1.1 เรือพระที่นั่งทรง จำนวน 1 ลำ คือ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือพระที่นั่ง ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงประทับ
    1.2 เรือพระที่นั่งรอง จำนวน 2 ลำ คือ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
    1.3 เรือทรงผ้าไตร จำนวน 1 ลำ คือ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
  2. เรือกลองใน - เรือกลองนอก จำนวน 2 ลำ ประกอบด้วย
    2.1 เรือกลองใน คือ เรือเรือแตงโม เป็นเรือสำหรับ ผู้บัญชาการขบวนเรือ
    2.2 เรือกลองนอก คือ เรืออีเหลือง เป็นเรือสำหรับ รองผู้บัญชาการขบวนเรือ
    2.3 เรือตำรวจ จำนวน 3 ลำ ประกอบด้วย เรือตำรวจ 1 - 3 ซึ่งเป็นเรือสำหรับคุ้มกันขบวนเรือพระที่นั่งภายในขบวน
    2.4 เรือแซง จำนวน 1 ลำ คือ เรือแซง 7 ซึ่งเป็นเรืออารักขาพระมหากษัตริย์ ปิดท้ายขบวน

  3. เรือริ้วสายใน จำนวน 2 ริ้ว ริ้วละ 7 ลำ รวมเป็น 14 ลำ ประกอบด้วย
    3.1 เรือประตูหน้า จำนวน 2 ลำ ประกอบด้วย เรือทองขวานฟ้า และเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือนำริ้วขบวน
    3.2 เรือพิฆาต จำนวน 2 ลำ ประกอบด้วย เรือเสือทะยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือนำขบวนที่ใช้ในการรบ
    3.3 เรือรูปสัตว์ จำนวน 8 ลำ ประกอบด้วย เรืออสุรวายุภักษ์ เรืออสุรปักษี เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือพาลีรั้งทวีป เรือสุครีพครองเมือง เรือครุฑเหินเห็จ และเรือครุฑเตร็จไตรจักร เป็นเรือที่แกะสลักหัวเรือเป็นรูปสัตว์จริงหรือสัตว์ในเทพนิยาย เพื่อบอกถึงเรือลำใดเป็นของกรมใด หรือขุนนางผู้ใด
    3.4 เรือคู่ชัก จำนวน 2 ลำ ประกอบด้วย เรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง เป็นนำหน้าหรือชักลากเรือพระที่นั่ง

  4. เรือริ้วสายนอก จำนวน 2 ริ้ว ริ้วละ 14 ลำ รวม 28 ลำ ประกอบด้วย
    4.1 เรือดั้ง จำนวน 22 ลำ ประกอบด้วย เรือดั้ง 1 – 22 เป็นเรือป้องกันขบวนส่วนหน้า
    4.2 เรือแซง จำนวน 6 ลำ ประกอบด้วย เรือแซง 1 - 6 เป็นเรืออารักขาพระมหากษัตริย์

ในส่วนของแผนปฏิบัติงานการเตรียมความพร้อมการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2567 ของกองทัพเรือ มีรายละเอียดในการแบ่งงานการเตรียมความพร้อมออกเป็น 6 กลุ่มหลักดังนี้

  1. การเตรียมความพร้อมด้านกำลังพลและการฝึกซ้อมฝีพาย ประกอบด้วย
    1.1 จัดกำลังพลประจำเรือ ระหว่าง 3 มกราคม – 6 กุมภาพันธ์ 2567 รวม 25 วันงาน
    1.2 ฝึกครูฝึกฝีพาย ระหว่าง 12 กุมภาพันธ์ – มีนาคม 2567 รวม 20 วันงาน
    1.3 ฝึกฝีพายบนเขียง ระหว่าง 18 มีนาคม – 16 พฤษภาคม 2567 รวม 40 วันงาน
    1.4 ฝึกฝีพายในหน่วยในเรือในน้ำ ระหว่าง 28 พฤษภาคม – 30 กรกฎาคม 2567 รวม 40 วันงาน

  2. การซ่อมทำเรือพระราชพิธีและการเตรียมท่าเทียบเรือ
    2.1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ สำรวจ และซ่อมทำเรือพระที่นั่ง และเรือรูปสัตว์ ตั้งแต่ ธันวาคม 2566 ให้เสร็จสิ้นภายใน 15 เมษายน 2567 เพื่อส่งให้กรมศิลปากร ตกแต่งตัวเรือ พร้อมทั้งซ่อมทำเรือดั้ง และเรือแซง ตั้งแต่ ธันวาคม 2566 ให้เสร็จสิ้นภายใน 15 เมษายน 2567
    ทั้งนี้ ตั้งแต่ 6 มกราคม 2567 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ ได้เริ่มดำเนินการนำช่างจากบริษัทเอกชน เข้าซ่อมทำเรือพระราชพิธี ณ กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือ พระราชพิธี คลองบางกอกน้อย และโรงเรือพระราชพิธีท่าวาสุกรี
    2.2 กรมศิลปากร ซ่อมทำตกแต่งเรือพระที่นั่ง และเรือรูปสัตว์ ตั้งแต่ เมษายน 2567 ให้เสร็จสิ้นภายใน 30 มิถุนายน 2567
    2.3 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ ซ่อมทำโป๊ะท่าเทียบเรือ ปักเสาผูกเรือพระราชพิธี วางทุ่น ให้เสร็จสิ้นภายใน กันยายน 2567

  3. การแต่งบทเห่เรือ จำนวน 4 บท โดย พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย ประกอบด้วย
    3.1 พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา จำนวน 1 บท
    3.2 พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน จำนวน 3 บท เพื่อใช้ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา และงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

  4. การฝึกซ้อมขบวนเรือในแม่น้ำ ประกอบด้วย การซ้อมย่อย 10 ครั้ง การซ้อมใหญ่ 2 ครั้ง และซ้อมตรวจความเรียบร้อย 1 ครั้ง

  5. งานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ใน 27 ตุลาคม 2567

  6. การสำรวจ จัดเก็บเรือ และสรุปผลการปฏิบัติ

นอกจากนี้ ยังได้มีการส่งพนักงานเห่เรือพระราชพิธี ของกรมการขนส่งทหารเรือ เข้ารับการอบรมเพื่อเพิ่มทักษะการเห่เรือพระราชพิธี และรับคำแนะนำการขับเห่เรือพระราชพิธี จากคุณครูสมชาย ทับพร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยขับร้อง) วิทยากรสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ตลอดจนขอรับการสนับสนุนการดำเนินการจากส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ที่สำคัญ ประกอบด้วย

  1. กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนด้านการแพทย์ และสาธารณสุข เรือพยาบาล (ตามขบวนเรือเสด็จฯ) บุคลากรทางการแพทย์ ร่วมประจำจุดด้านการรักษาพยาบาล วัคซีนไข้หวัดใหญ่ สำหรับกำลังพล
  2. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อำนวยการจราจรทางบกและทางน้ำ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมกำกับดูแล รักษาความปลอดภัยตามเส้นทางขบวนเรือ ตลอดจน เปิด - ปิด เส้นทางการจราจร ช่วงการซ้อมใหญ่ และพิธีจริง
  3. กรมประชาสัมพันธ์ สนับสนุนการประชาสัมพันธ์ เตรียมความพร้อมการฝึกซ้อม และการจัดขบวนพยุหยตราทางชลมารคฯ รวมทั้งถ่ายทอดสดงานพระราชพิธี
  4. กรมศิลปากร สนับสนุนการซ่อมทำและตกแต่งเรือพระราชพิธีให้เสร็จสิ้นภายใน 30 มิถุนายน 2567 ตลอดจนตรวจบทประพันธ์กาพย์เห่เรือของงานพระราชพิธีฯ อบรมเพิ่มทักษะการขับเห่ของพนักงานเห่เรือพระราชพิธี และจัดเจ้าหน้าที่ดุริยางคศิลป์ประจำบนเรือกลองนอก และเรือกลองใน

รวมทั้งรำถวายในพิธีสรวงเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือพระราชพิธี ณ พิพิธภัณฑสถานเรือพระราชพิธี

5. กรมชลประทาน บริหารจัดการ การระบายน้ำ สนับสนุนการฝึกซ้อม และจัดขบวนเรือพระราชพิธี รวมทั้งควบคุมความเร็วกระแสน้ำ เพื่อการจัดขบวนเรือพระราชพิธี พร้อมกัก - เก็บขยะ และวัชพืช ไม่ให้ผ่านเข้าพื้นที่การจัดขบวนเรือพระราชพิธี

6. กรมเจ้าท่า แจ้งประกาศ เปิด - ปิด การจราจรทางน้ำ เส้นทางขบวนฯ ในช่วงการซ่อมย่อย ซ้อมใหญ่ และพิธีจริง 27 ตุลาคม 2567 ตลอดจนอำนวยการจราจร รักษาความปลอดภัยทางน้ำ และควบคุมกำกับดูแลการใช้ความเร็วเรือ การจอดเรือริมฝั่งเจ้าพระยา ตั้งแต่บริเวณวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร จนถึงบริเวณสะพานพระพุทธยอดฟ้า

7. กรมอุตุนิยมวิทยา สนับสนุนรายงานสภาพอากาศ ในช่วงการฝึกซ้อมจัดขบวน การฝึกซ้อมย่อย การฝึกซ้อมใหญ่ และพิธีจริง

8. กรุงเทพมหานคร สนับสนุนพื้นที่ใต้สะพานพระราม 8 เป็นที่ตั้งกองอำนวยการฝึกขบวนเรือพระราชพิธี รวมทั้งสนับสนุนเรือเก็บขยะ จัดเก็บขยะในแม่น้ำ ในช่วงการฝึกซ้อมจัดขบวน การฝึกซ้อมย่อย การฝึกซ้อมใหญ่ และพิธีจริง

และ9.การไฟฟ้านครหลวง ติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่าง พื้นที่รวมพล จุดรวมเรือ จุดจอดเรือ และริมแม่น้ำ รวมถึงบริเวณท่าเรือรับ – ส่งเสด็จฯ และเส้นทางเสด็จฯ ริมฝั่งน้ำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง