เหม (สงวนนามสกุล) อายุ 54 ปี ชาว จ.นครศรีธรรมราช ถูกจับกุมตัวตามหมายศาลอาญาที่ 4798/ 2566 ข้อหาเป็นเจ้าของบัญชีธนาคาร ที่ใช้ในการจ่ายค่าเปิดบัญชีธนาคาร เพื่อใช้เป็นบัญชีม้าแล้วนำไปกระทำความผิดต่าง ๆ
ตรวจสอบพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-1 มี.ค.2566 มีการโอนเงินไปบัญชีธนาคารอื่น ๆ ในยอดเงิน 500 บาท จำนวน 248 รายการ ดีเอสไอได้ตรวจสอบบัญชีธนาคารผู้รับโอนเงิน พบว่าเป็นชื่อบัญชีธนาคารที่ถูกใช้ในการหลอกลวงเงินจากผู้เสียหายด้วยวิธีการต่าง ๆ อีกหลายราย
วิมลณัฐ (สงวนนามสกุล) อายุ 19 ปี ถูกจับในพื้นที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 4797/2566 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของบัญชีธนาคารที่แก๊งทำบัตรประชาชนปลอมใช้รับเงินจากผู้เสียหาย เป็นบัญชีธนาคารลำดับชั้นที่ 3
วลีรัตน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 27 ปี ถูกจับได้พื้นที่ จ.อ่างทอง ตามหมายจับศาลอาญาที่ 376/2567 พฤติการณ์ คือ เป็นเจ้าของบัญชีธนาคาร แก๊งทำบัตรประชาชนปลอมใช้รับเงินจากผู้เสียหาย เป็นบัญชีธนาคารลำดับชั้นที่ 1 ซึ่งผู้เสียหายโอนเงินเข้าบัญชีดังกล่าวกว่า 20 ราย มีเงินโอนเข้าบัญชีรวมมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท
นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ระบุว่า เมื่อเดือน มิ.ย.2566 ได้รับแจ้งจากประชาชนว่ามีผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊กและไลน์ไปลงโฆษณา โดยใช้ภาพปลัดกระทรวงฯ และตราสัญลักษณ์ของกระทรวงมหาดไทยไปเผยแพร่
แอดมินเพจอ้างว่า สามารถทำบัตรประชาชนให้กับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย ทั้งบุคคลต่างด้าว หรือบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย และผู้ที่มีสัญชาติไทย แต่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน โดยต้องจ่ายเงินตั้งแต่ราคาหลัก 10,000 -100,000 บาท ทำให้มีผู้ถูกหลอกจำนวนมาก จึงประสานดีเอสไอให้ช่วยสืบสวน พบว่า มีการกระทำความผิดเป็นขบวนการในลักษณะองค์กรอาชญากรรม
กรมการปกครอง ไม่มีนโยบายจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน ผ่านทางสื่อโซเชียลหรือช่องทางอื่นๆ ดังนั้น อย่าหลงเชื่อกลุ่มมิจฉาชีพที่มาหลอกลวงว่า สามารถทำบัตรประชาชนให้กับผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยให้ได้ เรายังใช้ขั้นตอน ยืนยันตัวตน ในการทำบัตรประชาชนทุกครั้ง
รองอธิบดีกรมการปกครอง ระบุว่า การทำบัตรประชาชน เป็นเรื่องความมั่นคง ต้องมาแสดงตน หากเป็นบุคคลต่างด้าวหรือบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ของที่ว่าการอำเภอในแต่ละแห่งได้ทั่วประเทศ
เช่น อาจมีการออกใบอนุญาตให้อยู่เป็นการชั่วคราว และให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ตามระยะเวลากฎหมายกำหนด และในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ว่า หากทำคุณประโยชน์ เสียภาษีให้รัฐ หรืออยู่ไประยะหนึ่งอาจได้สัญญาชาติไทยต่อไป ซึ่งดีกว่าการสวมตัวทำบัตร เพราะวันหนึ่งอาจถูกจับได้
ขณะที่ ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผอ.กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กล่าว หลังได้รับการประสานจากกรมการปกครอง ดีเอสไอได้ส่งเจ้าหน้าที่ศูนย์สะกดรอยลงพื้นที่ ต่อมาเมื่อวันที่ 26 พ.ย.2566 ดีเอสไอ จับกุมผู้ต้องหาได้ทั้ง 3 ราย และนำไปสู่การขยายผลสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติม
พบว่าหลักฐานชัดเจนว่า เพจดังกล่าวนอกจากจะรับทำบัตรประชาชนปลอมแล้ว ยังมีพฤติการณ์ว่าจ้างบุคคลทั่วไป เปิดบัญชีธนาคาร หรือบัญชีม้า โดยผู้รับจ้างเปิดบัญชี จะได้รับเงินจำนวน 500 บาท และโฆษณาเพิ่มเติมว่า หากเปิดบัญชีสำเร็จ และมีเงินหมุนเวียนในบัญชีจะได้ค่าตอบแทนรายเดือน ๆ ละ 5,000 บาท
จากการตรวจสอบพบว่ามีผู้รับจ้างเปิดบัญชีถึง 248 ราย จำนวนนี้เป็นแค่สายเดียวเท่านั้น โดยแอดมินเพจได้เปิดหน้าเพจเฟซบุ๊ก 2 เพจ ใช้ชื่อ “เปิดรับลงทะเบียนสิทธิ์ ทำบัตร” และ “รับสิทธิ์ลงทะเบียน” โฆษณารับทำบัตรประชาชน โดยอ้างว่า สามารถใส่ข้อมูลในระบบฐานข้อมูลของกรมการปกครอง ลงข้อความ และรูปภาพโฆษณารับทำบัตรประชาชน
นอกจากนี้ ยังนำภาพบัตรประชาชนที่อ้างว่าเป็นของลูกค้ารายอื่น และรูปถ่ายข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาลงประกาศมาโพสต์ในเฟซบุ๊กเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดยเรียกเก็บรายละ 15,000-25,000 บาท
ผู้ที่ถูกหลอกส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติ และบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เพื่ออยากได้บัตรประประชาชน เราไม่ได้พบเฉพาะความเชื่อมโยงกับขบวนการทำบัตรประชาชนปลอม แต่ยังพบว่า มีการดัดแปลงทำสำเนาบัตรประชาชนปลอม
และนำไปตัดต่อสำเนาเอกสาร เพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานฉ้อโกง แอบอ้างเช่ารถยนต์ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย จากนั้นมีการนำรถยนต์ไปจำหน่ายในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยผู้ต้องหาที่ถูกจับทั้ง 3 รายเป็นระดับผู้จัดผังบัญชีม้า และระดับจัดหาบัญชี
ร.ต.อ.เขมชาติ บอกว่า สำหรับเพจที่มีการเปิดแอคเค้าน์ ขณะนี้มีจำนวน 250 บัญชี พบสายเดียวที่มีความเชื่อมโยง มีวงเงินหมุนเวียน 500 ล้านบาท ข้อมูลจากการขยายผลพบว่า บัญชีธนาคารไม่ได้ใช้รับเงินจากการทำบัตรประชาชนปลอมอย่างเดียว
แต่ยังใช้รับเงินในเรื่องอื่น ๆ ด้วย และยังนำสินทรัพย์ไปกระทำความผิดอื่น ๆ พบความเกี่ยวข้องในการถอนเงินในพื้นที่ตะเข็บชายแดน ด้าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เหลืออีก 2 รายที่ยังจับไม่ได้ เป็นเครือข่ายอยู่ในบัญชีม้า และขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการติดตามตัว หลังจากนี้ดีเอสไอจะประสานงานไปกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 เพื่อทำคดีดังกล่าวต่อไป
สำหรับผู้ต้องหากลุ่มดังกล่าวจะถูกดำเนินคดีใน 4 ข้อหาหนัก ประกอบด้วย ร่วมกันนําข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, การปลอมแปลงบัตรประชาชน ร่วมกันฉ้อโกง ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น/ฉ้อโกงประชาชน
เป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานฟอกเงิน ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ และให้ผู้อื่นใช้บัญชีเงินฝากบัตรอิเลคทรอนิกส์ ให้ผู้อื่น เป็นธุระจัดหาบัญชีเงินฝาก ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2566 ที่ผ่านมา