คดีคุกคามขบวนเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2567 เวลา 18.20 น. ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจถวายความปลอดภัยภารกิจ โดยมีการปล่อยรถประชาชนร่วมในเส้นทาง
ระหว่างนั้นมีรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ทราบชื่อคนขับภายหลังคือ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อายุ 20 ปี ผู้ต้องหาคดี 112 มีพฤติการณ์ บีบแตรรถยนต์ลากยาวระหว่างขบวนเสด็จฯ และขับรถยนต์ด้วยความเร็ว
แต่เมื่อมาถึงบริเวณทางลงด่วนพหลโยธิน 1 (ทางลงด่วนอนุสาวรีย์ชัยฯ) เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่รถปิดท้ายได้สกัดกั้นไม่ให้รถยนต์คันดังกล่าวลงไปร่วมกับขบวนเสด็จได้ จึงปรากฏคลิปโต้เถียงในเฟซบุ๊ก Tawan Tantawan จนถูกวิพากษ์วิจารณ์นั้น
ล่าสุดวันนี้ (13 ก.พ.2567) ตำรวจขอศาลออกหมายจับ น.ส.ทานตะวัน และเพื่อน ที่มีพฤติกรรมพยายามขัดขวางความปลอดภัยขบวนเสด็จ หลังพิจารณาคำร้องขอเลื่อนพบตำรวจอ้างติดภารกิจด้านการเรียน
อ่าน : ผบก.น.1 เผยเตรียมขอศาลออกหมายจับ "ตะวัน-เพื่อน" 3 ข้อหา
นายคมสัน โพธิ์คง นักวิชาการอิสระด้านกฎหมาย อธิบายกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560 มีช่องว่างที่สามารถทำให้เกิดอันตรายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป รวมทั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้แทนพระองค์ ซึ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป และบุคคลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นพระราชอาคันตุกะ
แต่เดิมนั้นหน่วยราชการที่ถวายความปลอดภัยให้องค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ จะถูกกำกับดูแลโดยนายกรัฐมนตรี แต่ภายหลังได้มีการจัดตั้ง "หน่วยราชการในพระองค์" ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระวชิระเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.10 ซึ่งประกอบด้วย 3 หน่วยงาน คือ
- สำนักพระราชวัง
- สำนักงานองคมนตรี
- หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์
จึงทำให้มีการตรากฎหมายอีกหลายฉบับเกี่ยวกับหน่วยราชการในพระองค์ ประกอบด้วย
- พ.ร.ฎ.จัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ.2560
- พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560
- พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560
- พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562
พลิกกฎหมายการถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้ไว้ ณ วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560 เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการถวายความปลอดภัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทําหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560"
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ.2557
มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้ "การถวายความปลอดภัย" หมายความว่า การรักษาความปลอดภัยสําหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป และให้หมายความรวมถึงการรักษาความปลอดภัยสําหรับผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้แทนพระองค์ซึ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป และบุคคลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นพระราชอาคันตุกะ
"ความปลอดภัย" หมายความว่า การรักษาความปลอดภัยและการถวายพระเกียรติต่อพระองค์หรือบุคคลที่ต้องมีการถวายความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัยของพระราชฐาน ที่ประทับหรือที่พัก การรักษาความปลอดภัยในขณะที่เสด็จไปหรือไปยังที่ใด รวมตลอดถึงการรักษาความปลอดภัยของ ยานพาหนะ และสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้อง
"ส่วนราชการในพระองค์" หมายความว่า ส่วนราชการในพระองค์ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์
"หน่วยงานของรัฐ" หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
มาตรา 5 ให้ส่วนราชการในพระองค์มีหน้าที่วางแผนการถวายความปลอดภัย ตลอดจนการอํานวยการ ประสานงาน ควบคุม และปฏิบัติงานในการถวายความปลอดภัย โดยมีราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ ในกรณีที่มีการกําหนดแผนการถวายความปลอดภัยตามวรรคหนึ่งและมีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐแห่งใด ให้แผนการถวายความปลอดภัยนั้นมีผลตามกฎหมายที่หน่วยงานของรัฐแห่งนั้น
มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามด้วย
มาตรา 6 ให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งมีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัยหรือร่วมมือในการถวายความปลอดภัย การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐในการดําเนินการดังกล่าวให้เป็นไปตามที่ราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์กําหนด
มาตรา 7 เพื่อประโยชน์ในการถวายความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพและมีแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกัน ให้ราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์มีอํานาจกําหนดระเบียบหรือออกประกาศเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การปฏิบัติหน้าที่ในการถวายความปลอดภัยเพื่อใช้บังคับกับส่วนราชการในพระองค์และหน่วยงานของรัฐ
มาตรา 8 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ.2557 ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีการออกระเบียบ ประกาศ หรือกําหนดแนวปฏิบัติเป็นอย่างอื่นตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 9 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการตรากฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการในพระองค์และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ กําหนดให้มีส่วนราชการในพระองค์เพื่อปฏิบัติภารกิจขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการถวายความปลอดภัยให้สอดคล้องกับการกําหนดหน้าที่ส่วนราชการในพระองค์และกําหนดหลักเกณฑ์ในการถวายความปลอดภัยให้สามารถดําเนินการถวายพระเกียรติในการปฏิบัติภารกิจได้ ตามพระราชประสงค์ จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ช่องว่างการถวายความปลอดภัย
นายคมสัน กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาแม้จะมีกลุ่มคนที่ไม่พอใจต่อสถาบันพระมหากษัตริย์กระทำการจาบจ้วง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะบังคับใช้กฎหมายอื่นเข้ามาประกอบการเอาผิด เช่น กรณีตะโกนส่งเสียงดัง หรือมีคำหยาบ ก็ใช้กฎหมายดูหมิ่นเจ้าพนักงาน หรือกรณีของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่บีบแตรใส่ขบวนเสด็จเมื่อต้นเดือน ก.พ. ก็ผิดเพียงแค่กฎหมายจราจรเท่านั้น
และไม่สามารถใช้กฎหมาย ม.112 ได้ เนื่องจากบทบัญญัติมีผลบังคับเฉพาะพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพียงเท่านั้น จึงถือเป็นช่องว่างที่เกิดขึ้นกับพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจะเห็นได้จากการปะทะกันระหว่างกลุ่ม ศปปส.กับกลุ่มทะลุวัง ที่บริเวณรถไฟฟ้าสถานีสยาม เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา นักวิชาการคนเดิม บอกว่า เนื่องจากไม่มีบทลงโทษที่รุนแรงมากพอที่จะหยุดยั้งการกระทำจาก กลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่สามารถบังคับใช้ข้อกฎหมายโดยตรงได้ ก็จะก่อให้เกิดความไม่พอใจกับกลุ่มคนฝั่งตรงข้าม และนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมกันเอง
ถ้าใช้กฎหมายไม่ได้ คนจะหันมาทำร้ายกันเอง
แต่ถ้าคนสามารถใช้กฎหมายได้ เขาจะหยุดทำร้ายกัน
ชงเพิ่มโทษ-ลดจุดอ่อน กม.การถวายความปลอดภัย
ในขณะที่โลกโซเชียลเริ่มเห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 แต่เป็นในเชิงที่ขอให้มีการเพิ่มโทษ แต่นายคมสัน ระบุว่า ไม่ควรนำ ม.112 มาเกี่ยวข้อง เพราะสุดท้ายกฎหมาย ม.112 จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและสร้างความแตกแยกไม่จบสิ้น ไม่ว่าจะลดโทษหรือเพิ่มโทษก็ตาม
สำหรับทางแก้ไขที่จะสามารถถวายความปลอดภัยให้พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ได้คือ การกำหนดโทษใน พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560 โดยตนเองได้ร่าง พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย ฉบับใหม่ขึ้นมา ใจความสำคัญอยู่ที่บทลงโทษตามมาตร 7/1, 7/2 และ 7/3 ได้แก่
- มาตรา 7/1 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตการกรรักษาความปลอดภัยที่ส่วนราชการในพระองค์หรือหน่วยงานของรัฐกำหนด โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพขององค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือผู้แทนพระองค์ซึ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไปต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และ ปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำต่อพระบรมวงศานวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป หรือบุคคลซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เป็นพระราชอาคันตุกะ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท - มาตรา 7/2 ผู้ใดกระทำโดยประมาทฝ่าฝืนมาตรการการรักษาความปลอดภัยที่ส่วนราชการในพระองค์ หรือหน่วยงานของรัฐกำหนด โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อชีวิตร่างกาย และเสรีภาพขององค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือผู้แทนพระองค์ซึ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำต่อพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป หรือบุคคลซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เป็นพระราชอาคันตุกะ ต้องระวางโทษไม่เกินหนึ่งปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาท ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง หากรู้สำนึกในการกระทำและทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าให้อภัยต่อการกระทำความผิดนั้น ให้ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษในการกระทำความผิด - มาตรา 7/3 ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในการถวายความปลอดภัยตามมาตรการการรักษาความปลอดภัยที่ส่วนราชการในพระองค์ หรือหน่วยงานของรัฐกำหนด โดยไม่มีเหตุอันควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท
ส่วนเกณฑ์ในการกำหนดโทษนั้น นายคมสัน ชี้ว่า ได้ใช้บทลงโทษตามกฎหมายอาญา แต่โทษนั้นรุนแรงขึ้นไปตามความสำคัญของบุคคล หากไม่ใช้โทษที่รุนแรง อาจทำให้สังคมเกิดความไม่พอใจ และขณะเดียวกัน ไม่สามารถป้องปรามผู้แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้
อ่านข่าวเพิ่ม :
ฟื้น ! หอการค้าชี้เศรษฐกิจขยายตัว คาดตลอดปี นทท.ทะลุ 40 ล้าน