ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ความสำคัญ "วันมาฆบูชา 2567" กับข้อพึงปฏิบัติสำหรับชาวพุทธ

ไลฟ์สไตล์
14 ก.พ. 67
13:56
35,032
Logo Thai PBS
ความสำคัญ "วันมาฆบูชา 2567" กับข้อพึงปฏิบัติสำหรับชาวพุทธ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วันมาฆบูชา 2567 ปีนี้ตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา มีความสำคัญอย่างไร รวมถึงกิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติ

อ่าน :  "มาฆบูชา 2567" อธิษฐานจิตก่อนตักบาตรอย่างไรให้ได้บุญ

อ่าน : เวียนเทียน "วันมาฆบูชา" กี่โมง สวดบทไหน ได้อานิสงส์อะไรบ้าง

วันมาฆบูชา 2567 นี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ หรือวันเพ็ญ เดือน 3 วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง เป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาติโมกข์ "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์" แต่ละจังหวัดจะมีการจัดกิจกรรมทำบุญ ตักบาตร เวียนเทียน แล้วความสำคัญ และประวัติ รวมถึงกิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติ มีอะไรบ้าง 

ความสำคัญ "วันมาฆบูชา" 

"วันมาฆบูชา" ตามปฏิทินจันทรคติของไทยนั้นจะตรงกับวัน วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 และมักตรงกับเดือน กุมภาพันธ์ หรือ มีนาคม

ความหมายของ "วันมาฆบูชา" คำว่า "มาฆะ" นั้น เป็นชื่อของเดือน 3 ย่อมาจากคำว่า "มาฆบุรณมี" หมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินของอินเดีย หรือ เดือน 3

ความสำคัญของวันมาฆบูชา คือ เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาติโมกข์" แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา 9 เดือน ซึ่งหลักคำสอนนี้เป็นหลักการ และวิธีการปฏิบัติต่าง ๆ หากสรุปเป็นใจความสำคัญ จะมีเนื้อหาว่า "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์"

อ่าน : "29 กุมภาพันธ์" 4 ปีมีหน "ความอลวน" นานนับพันปี

5 วันพระทางพุทธศาสนา สำคัญอย่างไร

5 วันพระทางพุทธศาสนา สำคัญอย่างไร

5 วันพระทางพุทธศาสนา สำคัญอย่างไร

มาฆบูชา กับเหตุการณ์สำคัญ 

วันมาฆบูชาได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อมกันถึง 4 ประการ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" ดังนี้

1. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

2. วันที่มาประชุม ตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่ง พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์

3. พระสงฆ์ จำนวน 1,250 รูป ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6

4. พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือผู้ที่ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง

เหตุอัศจรรย์ 4 ประการ เรียกว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" ซึ่งมีความหมายดังนี้  

  • จาตุร แปลว่า 4
  • องค์ แปลว่า ส่วน
  • สันนิบาต แปลว่า ประชุม
จาตุรงคสันนิบาต จึงหมายความว่า การประชุมด้วยองค์ 4
  • "วันมาฆบูชา" ถือเป็น "วันพระธรรม"
  • "วันวิสาขบูชา" ถือเป็น "วันพระพุทธ"
  • "วันอาสาฬหบูชา" เป็น "วันพระสงฆ์" 

ประวัติวันมาฆบูชา ในประเทศไทย

หนังสือ "พระราชพิธีสิบสองเดือน" อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ของ "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" มีเรื่องราวเกี่ยวกับการประกอบราชกุศลมาฆบูชาไว้ว่า

ในปี พ.ศ.2394 ประเทศไทยเริ่มกำหนดพิธีปฏิบัติในวันมาฆบูชา ครั้งแรกในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งมีการประกอบพิธีเป็นครั้งแรก ในพระบรมมหาราชวังก่อน โดยมีพิธีพระราชกุศลในเวลาเช้า นมัสการพระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศราชวรวิหารและวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร จำนวน 30 รูป ฉันภัตตาหารในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เมื่อถึงเวลาค่ำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ทรงจุดธูปเทียนนมัสการ พระสงฆ์ทำวัตรเย็นและสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์

เมื่อสวดจบทรงจุดเทียน 1,250 เล่ม รอบพระอุโบสถ มีการประโคมอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงมีการเทศนาโอวาทปาติโมกข์ 1 กัณฑ์ เป็นทั้งเทศนา ภาษาบาลี และภาษาไทย ส่วนเครื่องกัณฑ์ ประกอบด้วย จีวรเนื้อดี 1 ผืน เงิน 3 ตำลึง และขนมต่าง ๆ เมื่อเทศนาจบ พระสงฆ์ 30 รูป สวดรับ

ในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกประกอบพิธีด้วยพระองค์เองทุกปี แต่มีการยกเว้นบ้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องจากบางครั้งตรงกับช่วงเสด็จประพาสก็จะทรงประกอบพิธีมาฆบูชาในสถานที่นั้น ๆ ขึ้นอีกแห่ง นอกเหนือจากภายในพระบรมมหาราชวัง

ต่อมาการประกอบพิธีมาฆบูชาได้แพร่หลายออกไปภายนอกพระบรมมหาราชวัง และประกอบพิธีกันทั่วราชอาณาจักร ทางรัฐบาลจึงประกาศให้เป็นวันหยุดทางราชการด้วย เพื่อให้ประชาชนจากทุกสาขาอาชีพได้ไปวัด เพื่อทำบุญกุศลและประกอบกิจกรรมทางศาสนา

ในปี พ.ศ.2549 รัฐบาลไทยประกาศให้ "วันมาฆบูชา" เป็น "วันกตัญญูแห่งชาติ" อีกด้วย

หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติ วันมาฆบูชา

สำหรับ หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติคือ "โอวาทปาติโมกข์" ซึ่งเป็นหลักคำสอนสำคัญอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 ดังนี้

1. การไม่ทำบาปทั้งปวง คือ การลด ละ เลิก ทำบาปทั้งปวง ได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ซึ่งเป็นทางแห่งความชั่ว 10 ประการที่เป็นความชั่ว ดังนี้  

  • ทางกาย เช่น การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม
  • ทางวาจา เช่น การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดเพ้อเจ้อ
  • ทางใจ เช่น การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม

2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม คือ การทำความดีทุกอย่างตาม กุศลกรรมบถ 10 ดังนี้

  • ความดีทางกาย เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ประพฤติผิดในกาม
  • ความดีทางวาจา เช่น ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดเพ้อเจ้อ
  • ความดีทางใจ เช่น ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น มีความเมตตาปรารถนาดี มีความเข้าใจถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

3. การทำจิตใจให้ผ่องใส คือ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ หลุดจากนิวรณ์ที่คอยขัดขวางจิตใจไม่ให้เข้าถึงความสงบ ได้แก่ 

  • ความพอใจในกาม
  • ความพยาบาท
  • ความหดหู่ท้อแท้
  • ความฟุ้งซ่าน
  • ความลังเลสงสัย

3 หลักการสรุปใจความสำคัญได้ว่า ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์

อุดมการณ์ 4 ได้แก่

1. ความอดทน อดกลั้น คือ ไม่ทำบาปทั้งกาย วาจา ใจ

2. ความไม่เบียดเบียน คือ งดเว้นจากการทำร้าย หรือเบียดเบียนผู้อื่น

3. ความสงบ ได้แก่ การปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย วาจา ใจ

4. นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา

วิธีการ 6 ได้แก่

1. ไม่ว่าร้าย คือ ไม่กล่าวให้ร้าย โจมตีใคร

2. ไม่ทำร้าย คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น

3. สำรวมในปาฏิโมกข์ คือ เคารพระเบียบวินัย กฎกติกา รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของสังคม

4. รู้จักประมาณ คือ รู้จักความพอดีในการบริโภค รวมทั้งการใช้สอยสิ่งต่าง ๆ

5. อยู่ในสถานที่สงัด คือ อยู่ในสถานที่ที่มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม

6. ฝึกหัดจิตใจให้สงบ คือ การฝึกหัดชำระจิตใจให้สงบ มีประสิทธิภาพที่ดี

การถือปฏิบัติ/กิจกรรมที่ศาสนิกพึงปฏิบัติ (ในวันสำคัญ)

  • ตักบาตรหรือ ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษ สามเณร
  • การสำรวมกายและวาจา ด้วยการรักษาศีล 5 หรือศีล 8
  • การฟังพระธรรมเทศนา
  • การเวียนเทียน รอบพระอุโบสถหรือรอบพระบรมสารีริกราตุจนครบ 3 รอบ เพื่อระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ

วันมาฆบูชา 2567 เวียนเทียนกี่โมง

วันมาฆบูชา ปีนี้ 2567 ตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นอกจากในช่วงเช้าจะไปทำบุญ ไหว้พระแล้ว ในช่วงเย็นหลายคนจะไปเวียนเทียนที่วัด
โดยส่วนใหญ่นิยมไปเวียนเทียนช่วง ประมาณ 16.00 - 20.00 น. แต่ในปัจจุบันนี้วัดหลายแห่งมีการขยับเวลาการเวียนเทียนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พุทธศาสนิกชนในชุมชนเมืองมากขึ้น บางวัดเปิดให้เข้ามาเวียนเทียนได้ตั้งแต่ช่วงเช้า 06.00 น.

ซึ่งมีข้อแนะนำจาก กรมการศาสนา ดังนี้  

1. ก่อนเริ่มพิธีเวียนเทียน พระสงฆ์ประธานในพิธี กล่าวคำนำบูชาในวันมาฆบูชา ทุกคนประนมมือถือดอกไม้ธูปเทียนกล่าวตาม

2. หลังจากกล่าวคำบูชาจบ ประธานสงฆ์จะนำเวียนเทียน โดยเวียนทักษิณาวรรต (เวียนขวา)

รอบที่ 1 รำลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า สวดบท อิติปิโส ภะคะวา

รอบที่ 2 รำลึกคุณพระธรรม สวดบท สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม

รอบที่ 3 รำลึกคุณพระสงฆ์ สวดบท สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

3. เมื่อเวียนครบ 3 รอบ นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปวางไว้ ณ จุดที่กำหนด

สิ่งที่ควรปฎบัติขณะเวียนเทียน

1. เมื่อเริ่มเวียนเทียนให้สำรวม กาย วาจา ใจ

2. รักษาระยะห่างการเดินให้ห่างจากคนข้างหน้า ไม่ให้ความร้อนจากธูป เทียน เป็นอันตรายต่อผู้อื่น

3. เดินเวียนเทียนอย่างเป็นระเบียบ ไมเดินแซงกัน ไม่เร็วไม่ช้าเกินไป

4. ไม่พูดคุย หยอกล้อ ส่งเสียงระกวนผู้อื่นขณะเวียนเทียน

5. เจริญจิตภาวนาระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ

6. หลังจากเวียนเทียนเวียนเทียนครบ 3 รอบ ให้นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปวางและปักบูชาในที่ที่จัดเตรียมไว้

อานิสงส์ของการเวียนเทียน

  • ทำให้จิตใจตื่นเบิกบาน เกิดความปิติยินดี
  • ทำให้จิตใจสงบบริสุทธิ์ เป็นสมาธิ และเกิดปัญญา
  • ทำให้เข้าใจในสังสารวัฎ การเวียนว่ายตายเกิด
  • ทำให้จิตใจหลุดพ้นจากเวทนาและนิวรณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง

อ่านข่าวอื่น ๆ

วันหยุดกุมภาพันธ์ 2567 : วันสำคัญ วันหยุดยาว เช็กให้ชัวร์ก่อนวางแพลนท่องเที่ยว

รู้จัก "มันซัฟ" อาหารประจำชาติ ที่มาท่าดีใจแข้ง "จอร์แดน"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง