วันนี้ (15 ก.พ.2567) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะ เลขานุการคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาวาระเดียว เกี่ยวกับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในร้านอาหาร และในจังหวัดนำร่อง 4 จังหวัด 1 พื้นที่ เป็นวาระจากสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และเอาผลการดำเนินการนำร่องขยายเวลาเปิดผับบาร์ ในจังหวัดมาพิจารณา
แต่ยอมรับว่า สถิติอุบัติเหตุ แม้จะไม่แตกต่างจากเดิม แต่พบว่า สาเหตุของอุบัติเหตุมาจากเมาแล้วขับ เพิ่มขึ้นถึง 25 % ส่วนใหญ่เป็นคนไทย และยังไม่นับคนที่ดื่มเหล้า และขับขี่รถจักรยานยนต์แล้วล้มเองโดยไม่มีคู่กรณีอีก 2,000-3,000 คน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :"ชูวิทย์"นำกลุ่มผู้ชุมนุม 500 คน บุกสธ.ค้านขยายขาย"แอลกอฮอล์"
นพ.ธงชัย กล่าวว่า จะต้องรวบรวมข้อมูลรายละเอียดต่างๆ เสนอที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เพื่อให้เป็นผู้พิจารณา เนื่องจากมีรายละเอียดของข้อกฎหมายที่ขัดแย้งกันอยู่ หากให้มีการปลดล็อกขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เนื่องจากเดิมใช้กฎหมาย 2 ฉบับ คือ ประกาศของคณะปฎิวัติ (ปว.) ฉบับที่ 253 ที่กำหนดให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลา 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. โดยผู้ลงนามคำสั่งนี้ คือ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ควบตำแหน่งรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. 2515
และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับ ปว.253 หากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เห็นชอบ ก็ต้องมีการแก้กฎหมายเพื่อไม่ให้มีความชัดเจน
ที่ประชุมได้แต่รวบรวมทุกข้อมูล และความคิดเห็นเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติพิจารณา เนื่องจากตอนนี้มีแต่ข้อมูลสุขภาพ ยังไม่เห็นข้อมูลทางเศรษฐกิจ
นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนประชาชน ขอขอบคุณคณะกรรมการฯ ทุกท่าน ที่เห็นประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก จึงไม่มีมติในการขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
อย่างไรก็ตาม ภาคีเครือข่ายได้หารือกันว่าในวันที่ 19 ก.พ. ที่จะมีการประชุมของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ทางภาคีก็จะเดินทางไปจับตาการประชุม ด้วย
เราต้องไปแสดงพลังให้รัฐบาลเห็นว่า ต้องฟังเสียงประชาชนให้มากขึ้น ฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ได้รับผลกระทบให้มากขึ้น ถ้ายืนยันที่จะทำเรื่องนี้โดยไม่ฟังเสียงประชาชนเลย กำลังดูความเป็นไปได้ที่จะนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการทางศาลปกครอง
อ่าข่าวที่เกี่ยวข้อง : มะเร็งหายาก 1 ในล้านคน ไร้ประวัติกินเหล้า-สูบบุหรี่