ฤดูร้อนปีนี้ 2567 เริ่มต้นเมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา และจะยาวไปถึงช่วงกลาง พฤษภาคม กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าปีนี้จะร้อนกว่าปี 2566 และร้อนกว่าปกติ 1-2 องศาเซลเซียส โดยคาดอุณหภูมิสูงสุดจะอยู่ที่ 43.0 - 44.5 องศาเซลเซียส ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
ร้อน ๆ แบบนี้ นอกจากหาเครื่องดื่มเย็น ๆ ดื่มให้ชื่นใจแล้ว หลายคนอาจหาวิธีดับร้อนด้วยการออกไปเดินห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ได้อาศัยร่มไม้บังแดดรับลมเย็นจากธรรมชาติ แต่อย่างไรก็อย่าลืมดูแลสุขภาพ หากอากาศร้อนจัดระวังอาจเกิดลมแดด หรือ "ฮีทสโตรค" ได้ง่ายจึงควรดื่มน้ำให้มาก ๆ
อากาศร้อน
อ่าน รู้ยัง! เงินสมทบประกันสังคม "ลดหย่อนภาษี" ได้
และแน่นอนเมื่อฤดูกาลเปลี่ยน ไม่ว่าจะหน้าหนาว หน้าฝน หรือหน้าร้อน ย่อมมีอิทธิพลต่อร่างกาย ส่งผลให้หลายคนที่ร่างกายอาจไม่แข็งแรงเจ็บป่วยได้ ฉะนั้นการรักษาสมดุลในร่างกาย เมื่อฤดูเปลี่ยน ย่อมเป็นสิ่งที่ต้องนึกถึง ดังเช่น คนสมัยโบราณใช้วิธีการรักษาสมดุลธาตุ ในร่างกายด้วยการกินผักพื้นบ้านเป็น "ยา"
อากาศร้อน
อาหาร และ เครื่องดื่มในช่วงฤดูร้อน จึงควรเน้นพืชผักและผลไม้ที่มี "ฤทธิ์เย็น" เป็นเมนูคลายร้อน ส่วนช่วงฤดูฝนควรเลือกอาหารที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรที่มี "ฤทธิ์ร้อน" จะช่วยให้ร่างกายอบอุ่น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ยกตัวอย่างการเลือกกินอาหาร ดังนี้
ฤดูร้อน - อาหารที่ช่วยปรับสมดุลของร่างกายได้ดี คือ อาหารรสจืด รสขม รสเย็น เช่น ต้มจืดตำลึง ต้มจืดมะระ ผัดบวบ แตงโม ใช้กลุ่มผักหรือผลไม้รสขม จืด เย็น ตามชอบ
ฤดูฝน - อาหารที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรที่มี ฤทธิ์ร้อน อย่างเช่น ขิง ข่า ตะไคร้ พริกไทย แมงลัก โหระพากะเพรา ใบมะกรูด อาหารที่มีรสเผ็ดร้อน จะช่วยบำรุงธาตุ แก้ท้องอืด จุกเสียด ขับปัสสาวะ ช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียน
ฤดูหนาว - ควรรับประทานอาหารที่มีรสเปรี้ยว ช่วยแก้ไอขับเสมหะ รสขมแก้ไข้ รสเผ็ดร้อน กระตุ้นระบบไหลเวียนและช่วยขับเหงื่อได้ดี เช่น แกงส้มดอกแค ต้มยำต่าง ๆ ยำมะม่วงเปรี้ยว เป็นต้น เครื่องดื่มสมุนไพร เช่น น้ำขิง น้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง น้ำกระเจี๊ยบ
อ่าน ท่านผู้โดยสารโปรดทราบ "พาวเวอร์แบงก์" ต้องพกขึ้นเครื่องเท่านั้น
เรื่องน่ารู้ ตามหลักการแพทย์แผนไทย
ตามหลักการแพทย์แผนไทยแล้ว ร่างกายของมนุษย์จะประกอบไปด้วยธาตุ 4 ธาตุ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม และไฟ เมื่อธาตุเหล่านี้สมดุลกันจะส่งผลให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง แต่หากเกิดการเสียสมดุล อาจจะทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ง่าย
ยกตัวอย่างเช่น ความร้อนอบอ้าวจากอากาศส่งผลกระทบให้ธาตุไฟกำเริบได้ง่าย เช่น มีอาการปวดศีรษะ เป็นลมแดด แผลร้อนในภายในปาก กรดไหลย้อน ท้องผูก ท้องเสีย ผิวไหม้จากการตากแดด มีเม็ดผด ผื่น คัน ผิวหนังอักเสบ
ร่างกายมนุษย์
นอกจากนี้ ธาตุอื่นๆ เสียสมดุลตามมาด้วย เช่น ธาตุลมกำเริบ (อาการวิงเวียน อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ไม่สบายเนื้อตัว นอนไม่หลับ) ธาตุน้ำหย่อน (กระหายน้ำ ผิวพรรณแห้งกร้าน ท้องผูก) และส่งผลกระทบไปถึงการทำงานของธาตุดิน (อวัยวะต่างๆ ในร่างกายทั้งหมด) จึงต้องดูแลธาตุไฟในร่างกาย โดยควบคุมอุณหภูมิในร่างกายไม่ให้สูงมากเกินไป
การเลือกรับประทานอาหารจะเป็นตัวช่วยที่ดีในการดับร้อน ลดการสะสมของความร้อนภายในร่างกาย ซึ่งจากการรวบข้อมูลจากหลายแหล่ง จึงขอแนะนำดังนี้
ผักพื้นบ้าน-อาหาร ปรับสมดุลร่างกาย
ในช่วงฤดูร้อน เน้นพืชผักและสมุนไพรเป็นหลักเมนูอาหาร ดังนี้
- แกงจืดมะระยัดไส้ ซึ่งมะระ มีสรรพคุณคือ เป็นยาดับร้อนถอนพิษไข้ แก้กระหาย บรรเทาอาการร้อนใน แก้อักเสบ เจ็บคอ โดยแกงจืด อาจเป็นแกงจืดฟักเขียว แกงจืดตำลึง แกงขี้เหล็ก ถือว่าเหมาะที่จะรับประทานในช่วงหน้าร้อนนี้
แกงจืดมะระยัดไส้
- แกงเลียงกุ้ง อาหารพื้นบ้านที่มีผัก เช่น ใบตำลึง ใบแมงลัก บวบ น้ำเต้า เห็ดฟาง กระชาย ผักเหล่านี้เป็นผักที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แกงเลียงกุ้งร้อน ๆ สามารถขับเหงื่อช่วยให้ร่างกายเบาสบาย
อ่าน 4 สถานที่ทรงคุณค่า "แหล่งมรดกโลก" ที่ถูก UNESCO ถอดถอน
นอกจากนี้ แนะนำเมนูอาหารช่วยคลายความร้อนช่วงฤดูร้อน คือ "ข้าวแช่" เมนูข้าวแช่ ประกอบด้วยสมุนไพรหลายชนิดที่สำคัญ คือ น้ำลอยดอกมะลิ ข้าวสวยหุงด้วยน้ำใบเตย สรรพคุณแก้ไข้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ช่วยให้ร่างกายสดชื่น ส่วน เครื่องเคียงที่กินคู่กับข้าวแช่ คือ ลูกกะปิ ทำจากเนื้อปลาที่อุดมไปด้วยโปรตีน หอมแดง ข่า กระเทียม ตะไคร้ ผิวมะกรูด ช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้เลือดลมไหลเวียนสะดวก
พริกหยวกสอดไส้หมูสับห่อไข่ มีโปรตีนสูง บำรุงร่างกาย ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ นอกจากนี้ยังมี หมูฝอย/เนื้อฝอย/ไก่ฝอย มีโปรตีนสูง ช่วยบำรุงร่างกาย หอมแดงทอด ป้องกันไข้หวัดโดยวิธีการรับประทานข้าวแช่ ควรรับประทานเครื่องเคียงก่อน แล้วค่อยรับประทานข้าวพร้อมกับน้ำลอยดอกมะลิ จะมีรสชาติหอมเย็นสดชื่น และคลายร้อนได้ดี
อีกเมนูเพื่อสุขภาพที่แนะนำ คือ "เมี่ยงคำ" นั้นเพราะเมี่ยงคำมีสรรพคุณครบถ้วนในการปรับสมดุลธาตุในร่างกายได้ดี เช่น มะพร้าวคั่ว ถั่วลิสงคั่ว ซึ่งมีรสมัน น้ำจิ้มมีรสหวาน รสเค็ม ช่วยเสริมธาตุดิน พริก ขิง หัวหอม รสเผ็ดร้อน เสริมธาตุลม รสเปรี้ยวและขมจากมะนาวทั้งเปลือก เสริมธาตุน้ำและธาตุไฟ เป็นต้น
เมี่ยง
เครื่องดื่มแนะนำ
หากต้องการเครื่องดื่มสมุนไพรรสเย็นชื่นใจ ซึ่งเป็นตำรับยาสมุนไพรปรับธาตุในฤดูร้อน สรรพคุณช่วยรักษาอาการร้อนใน ช่วยลดอาการกระหายน้ำ ทำให้สดชื่น ดังนี้
- น้ำตรีผลา : ประกอบ มะขามป้อม ลูกสมอพิเภก ลูกสมอไทย เป็นยาปรับธาตุในหน้าร้อน มีสรรพคุณช่วยรักษาความสมดุลธาตุทั้ง 4 ของร่างกาย รับประทานได้ในทุกวัย
- น้ำย่านาง : ใบย่านางมีฤทธิ์เย็น ปรับสมดุล ลดความร้อนในร่างกาย
- น้ำบัวบก : แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ลดอาการปวดศีรษะข้างเดียว บำรุงสมอง บำรุงหัวใจ
- น้ำกระเจี๊ยบ : สรรพคุณช่วยรักษาอาการร้อนในภายในช่องปาก ลดความดันโลหิต
- น้ำใบเตย : ช่วยบำรุงหัวใจ ช่วยลดอาการกระหายน้ำ ทำให้ชุ่มชื่น
ผัก - ผลไม้ ฤทธิ์เย็น คลายร้อน สดชื่น มีประโยชน์
ผลไม้หลายชนิดเป็นที่คุ้นเคย มีคุณค่าทางโภชนาการ เต็มไปด้วยใยอาหาร
- แตงกวา ช่วยลดความร้อนและทำให้ร่างกายสดชื่น
- แตงโมและแคนตาลูป มีส่วนประกอบของน้ำสูงถึงร้อยละ 95 สามารถทดแทนน้ำในร่างกายที่สูญเสียไปเนื่องจากอากาศร้อนได้เป็นอย่างดี
- ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ มีส่วนผสมของน้ำเป็นส่วนประกอบและสารประกอบทางธรรมชาติช่วยลดการอักเสบจากการเผาไหม้ของแสงแดดในหน้าร้อน
- มะพร้าว ดับร้อนช่วยขับพิษของเสียออกจากร่างกาย
- มะม่วง ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ อาการร้อนใน
- สาลี่ ช่วยลดความร้อนในร่างกาย และดับผิดร้อนในร่างกาย
- ส้ม ช่วยให้ผิวมีสุขภาพดี ไม่แห้งกราน บำรุงสายตา ทำให้สดชื่น
ปริมาณผลไม้ที่ควรกินในแต่ละวัน
ในแต่ละวัน ข้อมูลจากกรมอนามัย แนะนำควรกินผลไม้ให้ได้ 3-5 ส่วนต่อวัน ดังนี้
- ผลไม้ขนาดเล็ก เช่น องุ่น ลองกอง ลำใย ลิ้นจี่ ตะขบ สตรอว์เบอร์รี : 1 ส่วน เท่ากับ 6-8 ผล
- ผลไม้ขนาดกลาง เช่น กล้วย ส้ม ชมพู่ น้อยหน่า พุทรา แอปเปิ้ล สาลี่ : 1 ส่วน เท่่ากับ 1-2 ผล
- ผลไม้ขนาดใหญ่ เช่น แตงโม สับปะรด มะละกอ แคนตาลูป : 1 ส่วน เท่ากับ 6-8 ชิ้นคำ
ผลไม้ฤทธิ์เย็น มีประโยชน์อะไรบ้าง
- ใยอาหาร : ในผลไม้มีใยอาหาร ซึ่งมีประโยชน์และดีกับระบบขับถ่าย การกินผลไม้ที่มีใยอาหารจะช่วยเพิ่มปริมาณและน้ำหนักอุจจาระ สามารถดูดซับสารพิษ กระตุ้นการขับถ่าย ทำให้ท้องไม่ผูก
- วิตามิน : ในผลไม้มีวิตามินสำคัญ คือ เบต้าแคโรทีน และวิตามินซี วิตามินทั้ง 2 ชนิดนี้ นอกจากจะช่วยควบคุมระบบการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติแล้ว ยังมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งต่าง ๆ
- แร่ธาตุ : แร่ธาตุที่มีอยู่มากในผลไม้ คือ โปแตสเซียม มีหน้าที่สำคัญในร่างกาย คือ ช่วยรักษาสมดุลของน้ำ และความเป็นกรด ด่างภายในร่างกาย ช่วยในการยืดหดของกล้ามเนื้อ
- น้ำ : ในผลไม้มีน้ำเป็นส่วนประกอบร้อยละ 70-90 ดังนั้นหากลูกดื่มน้ำน้อย อาจจะให้ลูกกินผลไม้มากขึ้น เพราะเมื่อผลไม้ทำให้รู้สึกสดชื่น ชุ่มคอ ลดการขาดน้ำได้
ผัก ผลไม้ ในตู้เย็น
นอกจากผลไม้ยังมีผัก และพืชสมุนไพร ที่แนะนำ ดังนี้
- ผักโขม อุดมไปด้วยน้ำ เป็นแหล่งสะสมของแมกนีเซียม หนึ่งในแร่ธาตุที่สูญเสียไปพร้อมกับเหงื่อที่ถูกขับออกมา มีสารต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติช่วยปกป้องผิวและสายตาจากการถูกทำลายจากแสงแดด
- มะเขือเทศ ช่วยให้ร่างกายสดชื่น วิตามินซีสูง ช่วยย่อยอาหารและช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น ป้องกันมะเร็งบางชนิด
- สะระแหน่ เป็นสมุนไพรเย็น ช่วยบรรเทาอาการหวัด ขับเหงื่อ ระบายความร้อน มีสารเมนทอลที่มีมีคุณสมบัติเย็นใช้ในการรักษาอาการอ่อนเพลีย และบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรน
ประโยชน์ของผักและผลไม้คลายร้อน
- ช่วยทดแทนน้ำในร่างกายจากอากาศร้อน ทำให้ร่างกายสดชื่น
- ให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น
- มีสารต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ และป้องกันมะเร็งบางชนิด
- บรรเทาอาการหวัดขับเหงื่อ ระบายความร้อน รักษาอาการอ่อนเพลีย
ผัก
สำคัญที่สุดในช่วงหน้าร้อนแบบนี้ ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ กินผักและผลไม้ ที่มีส่วนประกอบของน้ำ ใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระ และควรหลีกเลี่ยงการเผชิญแดด ดื่มน้ำเปล่า 8-10 แก้วต่อวัน ป้องกันภาวะขาดน้ำ ช่วยทดแทนน้ำที่ร่างกายต้องสูญเสียไป เนื่องจากอากาศร้อน และอย่าลืมดูแลผิวพรรณ
อ่านข่าวอื่น ๆ
สถาบันพระบรมราชชนก ระบุเรียนพยาบาล 2 ปีครึ่ง ไม่แตกต่าง 4 ปี