วันนี้ (27 ก.พ.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการพิจารณาปรับสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี หลังจากใช้เวลาประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง ล่าสุดที่ประชุมฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 5 เสียง เห็นชอบให้ปรับสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่
สำหรับสูตรคำนวณใหม่ จะมีการเพิ่มจำนวนเดือนที่ไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เข้าไปคำนวณด้วย ส่วนตัวแปรอื่นๆ ได้แก่ ผลิตภาพแรงงาน หรือความสามารถของแรงงาน อัตราเงินเฟ้อ อัตราสมทบของแรงงานยังคงอยู่เหมือนเดิม ซึ่งอัตราเงินเฟ้อจะใช้ของปี 2566 มาพิจารณา
นอกจากนี้ มาตรา 87 (ตัวแปรสะท้อนเศรษฐกิจแต่ละพื้นที่) ที่ใช้ในการพิจารณาประกอบเพิ่มเติมจากสูตรคำนวณ ได้มีการปรับช่วงเวลาให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
อ่านข่าว : ก.แรงงานเตรียมปรับค่าแรงรอบ 2 ลุ้นหลายจังหวัดแตะ 400 บาท
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง เปิดเผยว่า สูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่นี้จะส่งให้แต่ละจังหวัดทำแบบสอบถาม หากต้องการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำก็ให้พิจารณาส่งตัวเลขมา
แต่ 10 จังหวัดนำร่องที่กระทรวงแรงงานมองว่าจำเป็นต้องปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ สงขลา พังงา ประจวบคีรีขันธ์ และระยอง จะต้องส่งตัวเลขการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเข้ามาพิจารณาใหม่ ทั้งนี้จะประชุมพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้งในวันที่ 26 มี.ค.นี้ โดยจะเร่งให้ทันประกาศค่าจ้างขั้นต่ำรอบ 2 ภายในเดือน เม.ย.นี้ แต่จะถึง 400 บาทหรือไม่ต้องดูที่ความเหมาะสม ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับขึ้นจะไม่เท่ากันทุกจังหวัดและเป็นบางอาชีพเท่านั้น
ขณะที่นายอรรถยุทธ ลียะวณิช ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องมีเหตุมีผลและดูความเหมาะสม ซึ่งปกติจะปรับปีละครั้ง โดยกลุ่มธุรกิจ SME มีความกังวลกับเรื่องนี้ จึงจำเป็นต้องพิจารณาความเหมาะสมเป็นสำคัญ
ส่วนนายวีรสุข แก้วบุญปัน ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง มองว่า ขณะนี้ยังคงให้คำตอบไม่ได้ว่าจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ ซึ่งสูตรคำนวณที่ปรับใหม่วันนี้ ส่วนตัวคิดว่ามีความเป็นธรรมแล้ว โดยการปรับขึ้นค่าจ้างรอบ 2 ต้องรอข้อมูลของแต่ละจังหวัดส่งมาก่อน ซึ่งหากมันสูงเกินไปก็อาจจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น
อ่านข่าวอื่นๆ
ไม่พร้อมเปย์! ค่าครองชีพพุ่งก่อนไม่รอค่าแรง (ไม่)ดีเดย์ 1 มี.ค.
วิกฤตสร้างโอกาส! สร้างกางเกงลายประจำจังหวัดต่อยอดพัฒนาสินค้า