ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

WHO เปิดผลวิจัยโควิด-19 พบติดเชื้อแต่ละสายพันธุ์มีปริมาณไวรัสต่างกัน

สังคม
28 ก.พ. 67
16:29
611
Logo Thai PBS
WHO เปิดผลวิจัยโควิด-19 พบติดเชื้อแต่ละสายพันธุ์มีปริมาณไวรัสต่างกัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
WHO เปิดผลวิจัยโควิด-19 อาสาสมัครเม็กซิกัน 1.6 หมื่นคน พบเชื้อแต่ละสายพันธุ์ มีปริมาณไวรัสต่างกัน ไม่เกี่ยวข้องกับเพศ หรือฉีดวัคซีน ชี้ต้องปรับกลยุทธ์ป้องกันและรักษา ตามวิวัฒนาการของไวรัสให้ทัน

วันนี้ (28 ก.พ.2567) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี เปิดเผยผลการถอดบทเรียน “ปริมาณไวรัส (viral load)” จากอาสาสมัครชาวเม็กซิกันที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 16,800 คน ระหว่างเดือน มี.ค.2564 -พ.ค.2565 (ด้วยการสวอปโพรงจมูก) พบการติดเชื้อโควิด-19 แต่ละสายพันธุ์มีปริมาณไวรัสที่แตกต่างกันซึ่งเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดและความรุนแรงของโรคอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับ เพศ และการฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีน ชี้ให้เห็นความสำคัญของการปรับกลยุทธ์การป้องกันและรักษาเพื่อตามการวิวัฒนาการของไวรัสให้ทัน

ด้วยเทคนิค “Relative quantification of qPCR” ทำให้ตรวจพบจำนวนไวรัส (viral load) ในโพรงจมูกระหว่างการติดเชื้อโควิด-19 ต่างสายพันธุ์จะแตกต่างกันส่งผลต่อศักยภาพของการแพร่เชื้อ(transmission potential) และความรุนแรง (disease severity) ทำให้เห็นถึงความสำคัญอย่างมากในการวางนโยบายด้านสาธารณสุขเพื่อลดการระบาดและความรุนแรงของโรคที่ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการอุบัติขึ้นของโควิด-19 แต่ละสายพันธุ์

อ่านข่าว : สถาบันวัคซีน ยัน วัคซีนโควิด mRNA ไม่ก่อลิ่มเลือดขาว

องค์การอนามัยโลก (WHO) และ ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (US CDC) จัดจำแนกโควิด-19 ออกเป็นหลายสายพันธุ์ตามข้อมูลการถอดรหัสไวรัสทั้งจีโนมเช่น อัลฟา, เบตา, มิว, แลมดา, แกมมา, เดลตา และ โอมิครอน ล่าสุดมีงานวิจัยในอาสาสมัครชาวเม็กซิกันจำนวน 16,800 คน เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณไวรัสในผู้ป่วยกับความรุนแรงและประเภทของสายพันธุ์ของโควิด-19 (Relationship between the Viral Load in Patients with Different COVID-19 Severities and SARS-CoV-2 Variants) ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ในประเทศอื่นได้

โดยลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Microbiology เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2567 สรุปว่า

1. โควิด-19 แต่ละสายพันธุ์มีปริมาณไวรัสที่สวอปได้จากโพรงจมูกแตกต่างกัน เฉพาะในช่วงสองวันแรกหลังเริ่มมีอาการ หลังจากนั้นในวันที่ 3-11 จะไม่แตกต่างกัน
2. การติดเชื้อที่เกิดจากสายพันธุ์เดลต้ามีปริมาณไวรัสสูงกว่าการติดเชื้อที่เกิดจากสายพันธุ์โอไมครอน
3. ปริมาณไวรัสในผู้ป่วยนอกสูงกว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือในกรณีที่เสียชีวิต
4. ไม่มีความแตกต่างในปริมาณไวรัสที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนและไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และไม่มีความแตกต่างระหว่างเพศ
5. งานวิจัยนี้ดำเนินการในผู้ติดเชื้อชาวเม็กซิกัน ผลลัพธ์อาจเหมือนหรือแตกต่างหากดำเนินการในกลุ่มประชากรในประเทศอื่น

สายพันธุ์ที่ให้ปริมาณไวรัสที่สูง ดังที่เห็นในกรณีของเดลตา อาจสัมพันธ์กับความรุนแรงและการแพร่กระจายของโรคที่เพิ่มขึ้น ทำให้จำเป็นต้องมีมาตรการรักษาเชิงรุก เช่นการฉีดวัคซีนและเกณฑ์วิธีการแยกตัวผู้ติดเชื้อเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย ในทางกลับกันสายพันธุ์ที่ให้ปริมาณไวรัสไม่สูง เช่นกรณีของโอมิครอน จำนวนไวรัสที่น้อยกว่าอาจส่งผลให้มีอาการของโรคไม่มาก เราอาจไปเน้นการป้องกันที่ไม่ใช้วัคซีนหรือยา เช่น ล้างมือ, กินร้อน, ช้อนกลาง, เว้นระยะห่างทางสังคม, สวมใส่หน้ากากอนามัย หรือรณรงค์ฉีดวัคซีนเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น

อ่านข่าว : กรมวิทย์ฯ เผยโควิด-19 สายพันธุ์ JN.1 เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่รุนแรง

การถอดบทเรียนคุณสมบัติของโควิด-19 แต่ละสายพันธุ์ระหว่างการระบาดเกือบ 5 ปี จะช่วยในการปรับกลยุทธ์ด้านสาธารณสุข ในการป้องกัน ดูแล และรักษา รวมทั้งชี้ให้เห็นความจำเป็นที่ต้องพัฒนาวัคซีนเพื่อรับมือกับความท้าทายอย่างจำเพาะที่เกิดจากการอุบัติขึ้นของโควิด-19 แต่ละสายพันธุ์

ปริมาณไวรัสที่สูงขึ้นที่สังเกตได้ในผู้ป่วยนอกเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือกรณีที่มีการเสียชีวิตอาจมีสาเหตุมาจาก

• ระยะเวลาในการตรวจหาเชื้อ : ผู้ป่วยนอกมักได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในระยะแรกของการติดเชื้อซึ่งเป็นช่วงที่มีปริมาณไวรัสสูงสุด ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีอาการป่วยรุนแรงกว่า อาจถูกทดสอบในภายหลังเมื่อปริมาณไวรัสลดลงแล้ว ความแตกต่างของเวลานี้อาจนำไปสู่ช่องว่างที่สังเกตได้ในปริมาณไวรัสระหว่างกลุ่ม

• ผู้ป่วยนอกอาจทำการทดสอบเนื่องจากมีข้อกังวล แม้ไม่มีอาการ ในทางกลับกัน ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นตัวแทนของกลุ่มที่ติดเชื้อมานานแล้ว ปริมาณไวรัสเริ่มลดลงแต่กลับประสบกับภาวะแทรกซ้อนอื่น

• ระยะเวลาการกำจัดไวรัส : บุคคลที่มีอาการป่วยไม่รุนแรง อาจปล่อยให้หายเองทำให้อาจปล่อยไวรัสออกไปเป็นระยะเวลานาน แม้ว่าอาการจะหายไปแล้วก็ตาม ส่งผลให้การวัดปริมาณไวรัสโดยรวมสูงขึ้น เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่สามารถกำจัดไวรัสในร่างกายได้เร็วกว่าเนื่องจากการดูแลรักษาของแพทย์ด้วยยาต้านไวรัส

• ความหลากหลายของสายพันธุ์ : สายพันธุ์ของไวรัสเฉพาะที่หมุนเวียนในระหว่างระยะเวลาการศึกษาอาจมีบทบาทเช่นกัน บางสายพันธุ์อาจแพร่เชื้อได้มากกว่าหรือทำให้มีปริมาณไวรัสสูงขึ้นในผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง

ปริมาณไวรัสระหว่างบุคคลที่ฉีดวัคซีนและผู้ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนไม่มีความแตกต่างที่มีนัยสำคัญ ชี้ให้เห็นว่าแม้ว่าวัคซีนอาจมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันอาการร้ายแรงและการเสียชีวิต แต่ก็อาจไม่ลดการแพร่เชื้อในทุกกรณีอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นสำหรับแนวทางนโยบายสาธารณสุขแบบผสมผสาน กล่าวคือเน้นย้ำอย่างต่อเนื่องในเรื่องการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันผลลัพธ์ที่รุนแรง ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการที่ไม่ใช้ยาอย่างยั่งยืน เช่น การล้างมือ การสวมหน้ากากอนามัยและการเว้นระยะห่างทางสังคม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่หรือในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูง มีระบบเครือข่ายเตือนภัยโควิด-19 จีโนมในระดับประเทศหรือระดับภูมิภาค (COVID-19 Genomic Surveillance Regional Network) เสมือนการวางทุ่นเตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิ รวมทั้งการวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับกลยุทธ์ตามการวิวัฒนาการของไวรัส

การค้นพบปริมาณไวรัสและความรุนแรงของโรคที่เกี่ยวข้องกับสายพันธุ์ของโควิด-19 มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในอนาคต โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นองค์การอาหารและยาในแต่ละประเทศอาจกำหนดให้บริษัทผู้ผลิตวัคซีน พัฒนาวัคซีนสูตรที่ลดปริมาณไวรัสหรือบรรเทาผลกระทบของปริมาณไวรัสในระดับสูง ซึ่งอาจนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับโควิด-19 สายพันธุ์ที่พบว่ามีปริมาณไวรัสในร่างกายสูง
https://www.mdpi.com/2076-2607/12/3/428

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

"นพ.ยง" แนะกลุ่มเสี่ยง-เปราะบาง ฉีด "วัคซีนโควิด" ลดเสี่ยงเสียชีวิต

รู้จัก "โพรไบโอติกส์" ตัวช่วยสำคัญผู้ป่วยลองโควิด (Long COVID)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง