กรณีแพทย์หญิงคนหนึ่งแจ้งความดำเนินคดีกับชายต่างชาติ ระบุว่าถูกทำร้ายร่างกายขณะนั่งบนบันไดวิลลาติดชายหาดยามู จ.ภูเก็ต พร้อมเรียกร้องให้ตรวจสอบว่ารุกที่สาธารณะหรือไม่ ต่อมาส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า แนวเขตที่ดินบริเวณวิลลาดังกล่าว เจ้าของโครงการเคยนำชี้เพื่อออกโฉนด แต่ปัจจุบันยังเป็นเอกสิทธิ นส.3 ก.
แนวเขตที่เคยนำชี้คือ "บันได" โดยมีเพียงบันไดขั้นที่ 1 ซึ่งอยู่บนสุดอยู่ในแนวเขตของโครงการ ส่วนบันไดขั้นที่ 2-4 ซึ่งติดกับพื้นทราย เป็นการรุกล้ำที่สาธารณะ นายอำเภอถลางจึงสั่งให้นายกเทศมนตรีฯ แจ้งความคดีบุกรุกและสั่งรื้อถอนขั้นบันไดที่รุกล้ำภายใน 3 วันนั้น
วันนี้ (1 มี.ค.2567) นายกองเอก อดุลย์ ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้สัมภาษณ์ "ไทยพีบีเอส" ถึงกรณีดังกล่าว ว่า จ.ภูเก็ต นัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดพูดคุยในเวลา 11.00 น. เพื่อทำความเข้าใจและสอบถามรายละเอียดของประเด็นต่างๆ ที่สืบเนื่องจากกรณีแพทย์หญิงแจ้งความถูกชาวต่างชาติทำร้ายร่างกาย ทั้งเรื่องการครอบครองหรือการบุกรุกพื้นที่ชายหาด
รองผู้ว่าฯ ภูเก็ต ยืนยันว่า ให้ความเป็นธรรมกับทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนไทยขัดแย้งกับคนไทย หรือคนไทยขัดแย้งกับชาวต่างชาติ แต่จะไม่ยอมให้ชาวต่างชาติเข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่หรือประกอบอาชีพผิดกฎหมาย ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตไม่ยอมให้มีมาเฟียในพื้นที่อย่างเด็ดขาด
ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นเป็นบ้านอยู่อาศัยที่ชาวต่างชาติมีครอบครัวเป็นคนไทยมาเช่าอยู่ ไม่ใช่เจ้าของตัวจริง ดังนั้นรายละเอียดต่างๆ จะต้องดูให้ครอบคลุมทุกประเด็น ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ
อ่านข่าว : นายอำเภอถลางชี้ "หาดยามู" พท.สาธารณะ - พญ.ยันเอาเรื่องถึงที่สุด
เมื่อถามว่า กรณีที่มีคนตั้งคำถามถึงสิทธิในพื้นที่สาธารณะของชายหาด ผู้ที่เข้าไปถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในแปลงเชื่อมต่อกับพื้นที่สาธารณะ จังหวัดจะมีความชัดเจนในการดูแลเพื่อไม่ให้เกิดกรณีพิพาทในลักษณะเดียวกันนี้อย่างไร
รองผู้ว่าฯ ภูเก็ต ระบุว่า โดยปกติจะมีการจัดระเบียบชายหาดและแบ่งประเภทชายหาด เช่น ชายหาดอนุรักษ์ ห้ามเข้าไปทำประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ขณะที่ชายหาดจัดระเบียบได้อาศัยอำนาจตามคำสั่ง คสช.ในอดีตที่จัดระเบียบเป็นเปอร์เซ็น การจัดสรรพื้นที่ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบหรือความเดือดร้อนเข้ามาประกอบอาชีพเตียงร่มในเมืองท่องเที่ยว แต่จริงๆ แล้วโดยทั่วไปไม่มีใครมาใช้สิทธิ์ครอบครองชายหาดได้
หากดูเฉพาะประเด็นนี้ไม่มีใครอ้างว่าเป็นเจ้าของชายหาด แต่เป็นประเด็นพิพาทในเรื่องการบุกรุกหรือการไม่บุกรุก ไม่ได้พิพาทเรื่องการใช้พื้นที่ชายหาดที่ชาวต่างชาติหรือคนไทยไม่ยอม จึงต้องดูประเด็นให้ละเอียดรอบคอบ เนื่องจากตามระเบียบกฎหมายมีการเปิดทางให้เข้า-ออกทะเลและใช้ประโยชน์ได้ แต่หากเป็นยามวิกาลต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย เป็นเรื่องที่ จ.ภูเก็ต เน้นย้ำให้ความสำคัญ
อ่านข่าว : ฝรั่งเตะหลัง-ภรรยาชาวไทย "ขอโทษ" พญ.ผ่านสื่อ อ้างไม่ได้ตั้งใจทำร้าย
ส่วนจะต้องติดตามตรวจสอบพื้นที่ชายหาดอื่นๆ ที่อาจมีความสุ่มเสี่ยงก่อสร้างประชิดชาดหาดและนำไปสู่ข้อกล่าวหาบุกรุกอีกหรือไม่นั้น รองผู้ว่าฯ ภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดได้กำชับนายกเทศมนตรีทุกแห่งว่าการดูแลชายหาดเป็นอำนาจของนายอำเภอกับท้องถิ่น และการก่อสร้างควบคุมอาคารต่างๆ เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่น
เมื่อถามต่อว่า หากกรณีมีชาวต่างชาติเข้ามาพำนักหรือเข้ามาท่องเที่ยว แล้วเกิดเหตุวิวาทขึ้นและทำร้ายร่างกาย โดยไม่มีการพูดคุยหรือเชิญเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเป็นคนกลางในการสร้างความเข้าใจ จังหวัดมีการดำเนินการอย่างไรนั้น รองผู้ว่าฯ ภูเก็ต กล่าวว่า การดูแลของ จ.ภูเก็ต หากมีนักท่องเที่ยวเข้ามาอยู่ในระยะยาวและไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ก็สามารถอยู่ในพื้นที่ได้ แต่อย่างไรก็ตามได้กำชับให้ฝ่ายตำรวจ ตม. และฝ่ายจัดหางานเข้มงวดตรวจสอบการเข้ามาของนักท่องเที่ยว
สำหรับกรณีพิพาทระหว่างชาวต่างชาติกับคนไทยในครั้งนี้ เกิดจากความสงสัยว่าจะมีการบุกรุกพื้นที่ และมีข้อกล่าวหาว่ามีการทำร้ายร่างกายกันเกิดขึ้น จนนำไปสู่การตรวจสอบในประเด็นอื่นๆ ตามมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“แพทย์หญิง” ยันดำเนินคดีต่างชาติทำร้ายถึงที่สุด นายกเล็กยันเป็น “พื้นที่สาธารณะ”
สอบปากคำ "แพทย์หญิง" ร้องถูกต่างชาติทำร้ายขณะนั่งที่บันไดวิลลาริมหาด