นิยามของคำว่า "ชายหาด" หมายถึง ที่ดินที่น้ำทะเลขึ้นและลง เป็นที่ดินที่น้ำท่วมถึง จรดไปถึงแนวพันธุ์พืชและพันธุ์ไม้ของแผ่นดิน จากจุดนี้ลงไปสุดทะเล ถือเป็น "ชายหาด" ซึ่งถือเป็นที่ดินสาธารณะเป็นสมบัติของแผ่นดินที่ให้ประชาชนใช้ร่วมกัน
อ่านข่าว : ฝรั่งเตะหลัง-ภรรยาชาวไทย "ขอโทษ" พญ.ผ่านสื่อ อ้างไม่ได้ตั้งใจทำร้าย
ซึ่งมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับ "ชายหาด" พื้นที่สาธารณะที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันนั้นมีดังนี้
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดิน ซึ่งใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ หรือ สงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันเช่น
(1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน
(2) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ
(3) ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นต้นว่า ป้อมและโรงทหาร สำนักราชการบ้านเมือง เรือรบ อาวุธยุทธภัณฑ์
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305 ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันไม่ได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะ หรือพระราชกฤษฎีกา
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1306 ห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
อ่านข่าว : “แพทย์หญิง” ยันดำเนินคดีต่างชาติทำร้ายถึงที่สุด นายกเล็ก ชี้เป็น “พื้นที่สาธารณะ”
สำหรับกรณี ชายหาด หรือหาดทราย แม้จะไม่มีประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่ยังถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่สงวนไว้สำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน ยกเว้นมีการออกกฎหมายหรือพระราชกฤษฎีกาให้ถอนสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดแนวถอยร่นจากหน้าหาดไปจนถึงชายทะเล โดยส่วนใหญ่จะต้องไม่มีการใช้ประโยชน์ส่วนบุคคล ในระยะ 30-50 เมตร รวมทั้งยังมีข้อกำหนดเรื่องการก่อสร้างอาคารสูงได้แค่ไหน และมีข้อห้ามกับกิจกรรมที่จะกระทบต่อชายหาดด้วย
โดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หมวดที่ 4 ข้อ 42 ระบุไว้ว่า
ข้อ 42 อาคารที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงใกล้แหล่งน้ำสาธารณะ เช่น แม่น้ำ คู คลอง ลำราง หรือสำกระโดง ถ้าแหล่งน้ำสาธารณะนั้นมีความกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ต้องร่นแนวอาคารให้ห่างจากเขตแหล่งน้ำสาธารณะนั้นไม่น้อยกว่า 3 เมตร แต่ถ้าแหล่งน้ำสาธารณะนั้นมีความกว้างตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป ต้องร่นแนวอาคารให้ห่างจากเขตแหล่งน้ำสาธารณะนั้นไม่น้อยกว่า 6 เมตร
สำหรับอาคารที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงใกล้แหล่งน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ เช่น บึง ทะเลสาบ หรือทะเล ต้องร่นแนวอาคารให้ห่างจากเขตแหล่งน้ำสาธารณะนั้นไม่น้อยกว่า 12 เมตร
ทั้งนี้ วันแต่ ละพาน เขื่อน รั้ว ท่อระบายน้ำ ท่าเรือ ป้าย อู่เรือ คานเรือ หรือที่ว่างที่ใช้เป็นที่จอดรถไม่ต้องร่นแนวอาคาร
ซึ่งระยะร่น คือ ระยะร่นหมายถึงบริเวณพื้นที่นอกอาคารไปยังจุดควบคุม ในกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมความสูงของอาคารริมชายฝั่งนั้นระยะร่น จะวัดจากพื้นที่ภายนอกอาคารไปยังชายหาด หรือชายทะเล โดยอ้างอิงจากแนวชายฝั่งทะเล โดยใช้ระดับน้ำทะเลสูงสุด หรือ ระดับน้ำทะเลปานกลาง ขึ้นอยู่กับทางท้องที่กำหนด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :