วันนี้ (10 มี.ค.2567) นายสงกา รำมะนา วินจักรยานยนต์รับจ้าง ซอยพหลโยธิน 34 อายุ 65 ปี เปิดเผยว่า แต่ละวันต้องเผชิญกับฝุ่น PM 2.5 เป็นประจำ ยิ่งปัจจุบันค่าฝุ่นยิ่งเพิ่มสูงขึ้น จนสังเกตได้ด้วยตา และเมื่อมีฝนตกลงมา ก็พบว่ารถจักรยานยนต์เต็มไปด้วยฝุ่นละอองเกาะอยู่
อายุที่เพิ่มขึ้นทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าบ่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูง การหายใจก็ลำบาก ถึงแม้จะไม่มีโรคประจำตัว และใส่หน้ากากอนามัยก็ยังช่วยไม่ได้
ผลกระทบทางสุขภาพจากการรับฝุ่น เป็นสิ่งที่กลุ่มผู้ขับขี่วินจักรยานยนต์รับจ้างต้องเผชิญ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนที่ทนไหวก็ยังดี แต่สำหรับคนที่เป็นภูมิแพ้ก็ใช้ชีวิตลำบาก นายเจน ขวัญอ่อน วินจักรยานยนต์รับจ้าง ซอยพหลโยธิน 34 อีกคน ต้องพกยาพ่นติดตัวตลอดเวลา เพราะเมื่อค่าฝุ่นพุ่งสูง จะเริ่มมีอาการหายใจไม่ออก และไอรุนแรง
ข้อมูลสถานการณ์สุขภาพของวินจักรยานยนต์รับจ้าง ที่ สสส. ร่วมสำรวจกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ป.ป.ส. กทม. และมูลนิธิรักษ์ไทย พบว่า โรคที่กลุ่มผู้ขับขี่วินจักรยานยนต์รับจ้าง เป็นมากที่สุด ได้แก่
- ความดันโลหิตสูง ร้อยละ 58.6
- เบาหวาน ร้อยละ 31.7
- กระเพาะอาหาร ร้อยละ 11.54
- ไขมันในเลือด หลอดเลือดหัวใจและสมอง ร้อยละ 10.57
- ภูมิแพ้ ร้อยละ 5.77
การขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างที่ต้องรับมลพิษในอากาศเป็นประจำ ทำให้ผู้ขับขี่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ สายตาพร่ามัว และปอดที่ต้องทำงานหนัก ขณะเดียวกันการวิ่งรถในชุมชนที่มีลูกระนาดมากและเป็นหลุมบ่อทำให้มีอาการปวดหลังบ่อยและเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
สิ่งสำคัญที่วินจักรยานยนต์รับจ้าง ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบต้องการ คือ บริการตรวจสุขภาพประจำปีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสายตา หู และปอด รวมถึงหน้ากากป้องกันฝุ่นมลพิษ ซึ่ง พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัด กทม. เน้นย้ำว่า อาชีพกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ กทม. กำลังเดินหน้าตรวจสุขภาพ
ขณะที่ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เปิดเผยว่า พยายามอบรม สร้างการรับรู้ด้านการดูแลสุขภาพให้กลุ่มอาชีพนี้ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่นที่ยังคงกระทบต่อเนื่อง
อ่านข่าวอื่น ๆ
นักท่องเที่ยวล้น-ขยะเกลื่อน "ภูเขาไฟฟูจิ" เล็งเก็บเงิน 500 บาท