วันนี้ (13 มี.ค.2567) พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ (อบจ.นครสวรรค์) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ ถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่จะมาถึงว่า คาดว่า สถานการณ์ภัยแล้งจะรุนแรงประมาณ 2 เดือนครึ่ง ในช่วงเดือน เม.ย.-กลาง มิ.ย. คาดว่าฝนชุดแรกจะมาในช่วง เดือน ก.ค.-ส.ค.จากนั้นจะหายไปแล้วมาอีกครั้งตอนปลายฤดู
อ่านข่าว : แก้ภัยแล้ง-แย่งน้ำ "บึงบอระเพ็ด" ลดขัดแย้ง "ชาวนา-ชาวประมง"
ขณะที่พื้นที่ที่คาดว่า จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ส่วนมากจะเป็นพื้นที่ลูกฟูกตะวันออก ของ จ.นครสวรรค์ ในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.ตากฟ้า อ.ท่าตะโก อ.ไพศาลี อ.บรรพตพิสัย บางส่วน อ.โกรกพระ และ อ.ลาดยาว แต่ อ.ลาดยาว จะมีน้ำจากเทือกเขาจึงอาจยังไม่น่าเป็นห่วงมาก ซึ่งจุดใดที่ขาดแคลนก็ส่งน้ำบริโภคให้
พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ (อบจ.นครสวรรค์)
ขณะที่ แนวทางการเตรียมรับมือปัญหาภัยแล้ง อบจ.นครสวรรค์ ได้เจาะบ่อบาดาลควบคู่ประปาหมู่บ้านไปรวมไปแล้วกว่า 300-400 บ่อ โดยดำเนินการไปตั้งแต่ปี 2564
ขณะที่ในปี 2567 ในเขตพื้นที่ อ.ตาคลี บางส่วนที่ไม่เคยได้น้ำได้เจาะบ่อบาดาล ความลึก 300-400 เมตร โดยเจาะไป 3-4 บ่อแล้ว รวมถึง อ.โกรกพระ อ.ตากฟ้า อ.หนองบัว ที่ไม่เคยได้น้ำก็ได้เจาะบ่อบาดาลเตรียมไว้แล้ว
เมื่อมีปัญหาน้ำผิวดิน ก็ดึงน้ำบาดาลมาใช้เป็นครั้งคราว โดยประปาหมู่บ้านที่เคยใช้น้ำในสระมาก่อน เมื่อล้างก็นำน้ำบาดาลมาช่วย รวมทั้งการเป่าบ่อด้วยก็มากมาย
นอกจากนี้ ทาง อบจ.นครสวรรค์ ได้ขุดลอกคลองไปแล้วกว่าเกือบ 4,000 กม.ตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่งนายก อบจ. และเพิ่มปริมาณน้ำในสระและอ่างเก่าเต็มที่เช่นกันโดยดำเนินการต่อเนื่อง ทั้งนี้การขุดลอกคลองจะยังคงดำเนินการต่อเพราะยังมีคลองแขนง คลองสาขาต่าง ๆ
โดยเฉพาะแม่น้ำปิงที่จะมีทรายเข้ามาตลอดทั้งปี ทำให้ตื้นเขิน ขณะที่ อ.ลาดยาว นั้นจะมีปัญหาตะกอนจากภูเขาไหลลงมาทำให้คลองตื้นเขินและทำให้น้ำล้นตลิ่งท่วมพืชสวนชาวบ้าน
การขุดลอกคลอง ต้องทำต่อเนื่อง ลอกคลองเหมือนการทำให้เส้นเลือดไม่ให้อุดตัน ต้องให้นำไหล โดยทำเป็นวงรอบตลอด ฝายก็ต้องทำเพิ่ม ทำฝายเพิ่มมาแล้วจำนวนมาก ด้วยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน
ในช่วงฝนตกในรอบก่อนหน้านี้ ทาง อบจ.นครสวรรค์ ได้ก็ผลักดันน้ำลงสระทั้งหมดทั้งในพื้นที่ อ.ไพศาลี และท่าตะโก ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูแล้งในช่วงเดือน เม.ย.นี้
เนื่องจากระยะเวลาที่จะไปเติมน้ำจะสั้นลง เพราะน้ำในสระยังมีอยู่ ซึ่งเป็นความร่วมมือทั้ง อบต., อบจ.และ กปภ.ซึ่งช่วยเตรียมน้ำไว้ให้ในการไปเติมในสระต่าง ๆ
พล.ต.อ.สมศักดิ์กล่าวต่อว่า ขณะที่การเล่นน้ำสงกรานต์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ยังสามารถเล่นน้ำได้ เพราะในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ จะมีการเล่นน้ำสงกรานต์เป็นจุดกระจายกันไป ทั้งวัด ในชุมชน หรือ ลานกิจกรรม และชุมชน ไม่ได้จัดครั้งเดียวทั้งจังหวัด และในปีนี้จะการเล่นน้ำสงกรานต์ส่งท้ายปิดท้ายเทศกาลคล้ายกับวันไหลในจังหวัดภาคตะวันออก
เรื่องน้ำเชื่อว่าไม่กระทบกับการเล่นน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่วนกรณีพื้นที่แล้งก็ดูแลและส่งน้ำไปช่วยเหลือ เพราะไม่ได้แล้งในพื้นที่ทั้งหมด
อ่านข่าว : ฝนทิ้งช่วง "สิริกิติ์" วิกฤตเหลือน้ำในเขื่อนใช้ได้แค่ 29%
ภัยแล้งทวีความรุนแรง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา เหลือน้ำดิบผลิตประปาอีก 48 วัน
ร้อนฉ่า! กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนมี.ค.-เม.ย.ร้อนจัดเกิน 40 องศาฯ