วันนี้ (14 มี.ค.2567) นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมาย ในฐานะโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. เปิดเผยผลการปฏิบัติงานในรอบ 6 เดือน ตั้งแต่ ต.ค.2566 - มี.ค.2567 ว่า คณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้ยึดอายัดทรัพย์สินไปแล้วทั้งหมด 128 คำสั่ง รวม 116 คดี มีมูลค่าทรัพย์สินที่ยึดอายัดรวม 6,460 ล้านบาท
มีคดีสำคัญที่มีประชาชนได้รับความเสียหายจำนวนมาก คือ คดีที่มี น.ส.ธารารัตน์ กับพวก เป็นผู้ต้องหาในความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน หลอกลวงผู้ประกอบธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งต้องสั่งซื้อสินค้าจากจีนโดยใช้เงินสกุลหยวน ใช้อุบายหลอกลวงให้ลงทุนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ด้วยการโพสต์ข้อความลักษณะเป็นการโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อชักชวนให้บุคคลทั่วไปมาแลกเปลี่ยนเงินสกุลบาท เป็นเงินสกุลหยวนในอัตราที่ถูกกว่าอัตราแลกเปลี่ยนของสถาบันการเงิน แต่เมื่อถึงกำหนดไม่โอนเงินสกุลหยวน หรือไม่สามารถได้ผลตอบแทนตามกำหนด
คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 238 รายการ อาทิ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่ดิน ห้องชุด สลากออมสินและเงินในบัญชีเงินฝาก พร้อมดอกผล มูลค่ารวม 1,017 ล้านบาท
นายสุทธิศักดิ์ สุมน ในฐานะรองโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. เปิดเผยว่า ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากกรณีนี้ สามารถยื่นเรื่องขอคืนทรัพย์สิน หรือคุ้มครองสิทธิ์กับ ปปง.ได้จนถึงวันที่ 6 พ.ค.2567 ตามกรอบเวลา 90 วัน นับจากวันที่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ทั้งนี้ สามารถยื่นเรื่องด้วยตัวเองได้ที่ ปปง. หรือยื่นผ่านทางไปรษณีย์ โดยดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้จากเว็บไซต์ของ ปปง. พร้อมแนบเอกสารหลักฐานส่วนตัว, ใบร้องทุกข์-แจ้งความ และเอกสารยืนยันความเสียหายที่เกิดขึ้น
ยึดทรัพย์เพิ่ม "อั้ม PSV - บอสตาล" เว็บพนัน 2 คดี
นอกจากนี้ยังมีคดีที่ ปปง.มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เป็นกลุ่มคดีการพนันออนไลน์ โดยคดีของนายภูมิพัฒน์ หรือ อั้ม PSV กับพวก เป็นกรณีมีพฤติการณ์กระทำความผิดมูลฐานการจัดให้มีการเล่นการพนันออนไลน์
คณะกรรมการธุรกรรม มีมติให้ยึดเพิ่มอีก 76 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้มีมติยึดและอายัดไป 617 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของศาลฯ เพื่อให้ตกเป็นของแผ่นดิน
สำหรับนายภูมิพัฒน์ เป็นที่รู้จักหลังถูกจับและพบว่าเป็นสามีของ น.ส.ธมลพรรณ์ อดีตนางเอกละครที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวข้องกับพนันออนไลน์ด้วยเช่นกัน แม้จะพยายามยื่นประกันตัวมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ ศาลฯ ไม่อนุญาตเนื่องจากเห็นว่าเป็นผู้ต้องหากระทำผิดรายใหญ่ และจำนวนเงินน่าเชื่อได้ว่ามาจากการกระทำความผิดมีเป็นจำนวนมาก หากให้ปล่อยตัวชั่วคราวไปอาจหลบหนีได้ ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้าน
ขณะที่อีกคดีเป็นกรณีของนายพงษ์ศิริ หรือ บอสตาล ซึ่ง ปปง.เคยยึดไว้ 627 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง และกรรมการธุรกรรมมีมติยึดเพิ่มอีก 38 ล้านบาท
สำหรับบอสตาล เป็นอดีตประธานทีมฟุตบอลสโมสรดัง เริ่มมีชื่อเสียงจากการเป็นหุ้นส่วนสถานบันเทิงใน จ.เชียงใหม่และเชียงราย จากนั้นผันตัวเข้าสู่วงการกีฬา ในฐานะประธานสโมสรฟุตบอลลำพูนวอริเออร์
ขณะที่กลุ่มคดียาเสพติดและคดีศุลกากร มีคดีของนายอุ้ย วาง หวัง เป็นกรณีจากการตรวจค้นปิดผับจินหลิง ยึดทรัพย์สินไว้รวม 53 ล้านบาท เป็นทรัพย์ชิ้นใหญ่ 1 รายการคือ รถยนต์ที่มีราคาประเมินเกือบ 50 ล้านบาท
นายวิทยา ระบุว่า มาตรการการติดตามยึดอายัดทรัพย์ของ ปปง. แม้ว่าจะมีการโยกย้ายถ่ายโอนไปที่ผู้ใด หากตรวจสอบพบว่าเป็นทรัพย์เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดก็จะติดตามอายัดให้ได้ทั้งหมด เพราะตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ไม่มีอายุความ
ขณะเดียวกัน ปปง.ทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลฯ กสทช. และสถาบันการเงิน เพื่อปราบปรามบัญชีม้าที่ถูกใช้เพื่อการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งใช้ในกลุ่มคดียาเสพติด พนันออนไลน์และคอลเซนเตอร์ โดยมีการส่งรายชื่อของผู้ต้องหาหรือผู้ที่ถูกร้องเรียนเข้ามาไปยังสถาบันการเงิน เพื่อให้ระงับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่เจ้าของบัญชียังสามารถเข้าฝาก-ถอนเงินด้วยตัวเองที่สถาบันการเงินได้ตามปกติ
ที่ผ่านมา ปปง.ประกาศรายชื่อบัญชีที่รับโอนเงินไปจากผู้เสียหาย ประมาณ 31,700 รายชื่อ และมีการระงับบัญชีไม่ให้ทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แล้วประมาณ 300,000 บัญชี
พร้อมเตือนประชาชนว่า ผู้ที่ขายบัญชีตัวเองไปให้มิจฉาชีพ หรือให้ผู้อื่นใช้บัญชีในการกระทำความผิด มีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปีและปรับ 300,000 บาท และนอกจากโทษในคดีนี้ยังอาจถูกดำเนินคดีในความผิดมูลฐานด้วย หากมีพยานหลักฐานพบว่าเกี่ยวข้องกับกระบวนการฟอกเงิน มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี
อ่านข่าวอื่นๆ
ตร.ให้ประกัน "รองผู้การสงขลา-อู๊ดหาดใหญ่" คดีพัวพันเว็บพนัน
มือดีฉก "พระนิรันตราย" วัดราชประดิษฐฯ ป.ป.ท.-ปปป.เร่งขยายผล
ลุยจับ 30 เครือข่ายเว็บพนัน เปิดฟาร์มกระบือบังหน้าฟอกเงิน - มีเซิร์ฟเวอร์อยู่ไทย