ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เส้นทางวิบาก “บิ๊กโจ๊ก” วิ่งฝ่าไฟแดง ชิงตำแหน่ง “พิทักษ์ 1”

อาชญากรรม
18 มี.ค. 67
11:23
1,311
Logo Thai PBS
เส้นทางวิบาก “บิ๊กโจ๊ก” วิ่งฝ่าไฟแดง ชิงตำแหน่ง “พิทักษ์ 1”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เสมือนพระศุกร์เข้า พระเสาร์ไม่รัก นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ตำรวจบุกเข้าตรวจค้นบ้านพักเมื่อช่วงเช้าตรู่ วันที่ 25 ก.ย. 2566 มรสุมชีวิตก็ถาโถมเข้าใส่ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ไม่หยุดหย่อน

และกว่าจะถึงวันที่ 30 ก.ย.2567 ซึ่งอยู่ในช่วงศึกวันสีกากีเดือด ดูท่า “บิ๊กโจ๊ก” น่าจะหืดจับ อาการน่าเป็นห่วงไม่น้อย

หลังจากเมื่อช่วงสายวันที่ 17 มี.ค.2567 พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง นำหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ในคดีสมคบกันฟอกเงิน เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันฟอกเงิน อันสืบเนื่องจากการขยายผลในคดีเว็บพนันออนไลน์เครือข่าย เจ้พิมพ์ พบเส้นทางการเงินของผู้ต้องหาในคดีเชื่อมโยงกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งเป็นคดีในท้องที่ สน.เตาปูน และผู้ต้องหาคนนั้นก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นลูกน้องคนสนิทของ “บิ๊กโจ๊ก” เอง

ขณะที่ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อยู่ในช่วงเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่เชียงใหม่ วันเดียวกันที่นายทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับไปกราบไหว้บรรพบุรุษที่บ้านเกิด ต่อเนื่องกัน ได้ติดตาม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากประชาชนที่ จ.ลำพูน จึงทำให้ไม่มีผู้รับหมายพนักงานสอบสวน ต้องถือหมายเรียกกลับไปตามระเบียบ

ป.วิ.อาญา มาตรา 55 “การส่งหมายเรียกแก่ผู้ต้องหา จะส่งให้แก่บุคคลผู้อื่น ซึ่งมิใช่สามีภริยา ญาติหรือผู้ปกครองของผู้รับหมายรับแทนนั้นไม่ได้”

หรือกล่าว คือ การส่งหมายเรียกจะต้องส่งให้แก่ผู้ต้องหา หรือให้กับบุคคลอื่นซึ่งเป็นสามี เป็นภริยา ญาติ หรือผู้ปกครองของผู้รับหมายรับไว้แทนได้

ด้านพนักงานสอบสวน ผู้นำส่งหมายเรียก บอกว่า จะนำส่งใหม่ในภายหลังโดยจะพิจารณาวัน เวลา อีกครั้ง พร้อมเปรยกับผู้สื่อข่าวก่อนวางสาย ว่า “ไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน”

และหากจะกล่าวตามขั้นตอนระเบียบของข้าราชการตำรวจ  เมื่อคดีนี้ เป็นอำนาจเต็มของพนักงานสอบสวน ตามกฎหมาย หากออกหมายเรียก2 ครั้ง ยังไม่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาก็จะถูกออกหมายจับ

และทันทีที่ถูกออกหมายจับนั่นหมายความว่า บิ๊กโจ๊ก จะตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา จะส่งผลมีคำสั่งพักราชการได้

ตั้งทีมทนายแถลงโต้ สอบสวนกระบวนการตรวจสอบ-ออกหมายเรียก

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ระบุ จะกลับกรุงเทพฯ ช่วงเย็นวันอังคาร (19 มี.ค.) และในวันเดียวกันมอบหมายทีมทนายความชี้แจงรายละเอียด โดยระบุว่า จะตรวจสอบสวนกระบวนการสอบสวนในคดีนี้ ว่า ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

“ต้องดูก่อนว่า เป็นหมายอะไร และสอบสวนโดยชอบหรือไม่ชอบ ถ้ามันมีการสอบสวนโดยมิชอบ การออกหมายเรียก ก็จะเป็นการออกโดยมิชอบ”

ทีมทนายความของพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เรียกว่า เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ พนักงานสอบสวนนำพยานหลักฐานเข้าขอหมายจับจากศาลอาญา ซึ่งภายหลังศาลพิจารณายกคำร้องขอหมายจับของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ทีมทนายความก็ตั้งแถลงตอบโต้ทันที แน่นอนว่า ย่อมเป็นไปตามความต้องการและเห็นชอบของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ในฐานะลูกความผู้ว่าจ้างทนาย

ดังนั้นในวันอังคาร (19 มี.ค.) นี้ มีให้จับตากัน 2 เรื่อง คือ พนักงานสอบสวนจะนำส่งหมายเรียกให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อีกรอบในวันอังคารเลยหรือไม่ และ ทีมทนายความจะชี้แจงในประเด็นใด อย่างไรบ้าง

หนทางวิบาก “บิ๊กโจ๊ก” “คดีความ”-การต่อสู้

ก่อนจะมาถึงหมายเรียกคดีดังกล่าว มีอีกคดีที่สร้างความสั่นสะเทือนทั้งภายนอกและภายในองค์ตำรวจ เมื่อ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ถูกตั้งข้อกล่าวหาร้องทุกข์กล่าวโทษ พร้อมกับพวกรวม 5 คน ว่า เรียกรับผลประโยชน์จากเว็บไซต์การพนันออนไลน์ “เครือข่ายมินนี่” อันเป็นการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฯ

คดีนี้เกิดขึ้นจากการขยายผลเส้นทางการเงินของกลุ่มผู้ต้องหาหลัก ซึ่งมีตำรวจ 8 นาย ที่ล้วนแต่เป็นตำรวจที่เคยเดินรายล้อมข้างกาย “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ทั้งสิ้น และนั่นก็นำมาสู่ความพัวพันกันทางการเงิน พนักงานสอบสวน ระบุว่า พบเส้นทางการเงินจากกลุ่มผู้ต้องหาโอนเข้าสู่บัญชีของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งน่าสงสัยว่า เป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิด

ในช่วงแรกพนักงานสอบสวน ส่งสำนวนให้ ป.ป.ช.พิจารณา เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่และมียศสูง แต่ต่อมาได้ทำหนังสือขอให้ ป.ป.ช. พิจารณาส่งคืนสำนวนให้พนักงานสอบสวนดำเนินการเอง

 5 มี.ค.2567 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า ป.ป.ช. มีมติรับสำนวน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และพวกรวม 5 คน กรณีถูกกล่าวหาว่า พัวพันเครือข่ายเว็บพนันมินนี่

โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 26/2567 เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2567 ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า บอร์ดป.ป.ช.มีมติเสียงข้างมากรับเรื่องกล่าวหา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กับพวก รวม 5 คน กรณีเรียกรับผลประโยชน์จากเว็บไซต์การพนันออนไลน์

เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งสูงกว่าอำนวยการระดับสูงหรือเทียบเท่า และพฤติการณ์มีการได้รับผลประโยชน์เป็นเงินจำนวนมาก

อีกทั้งเป็นเรื่องที่สำคัญอยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป อันเข้าลักษณะเป็นความผิดร้ายแรงหรือเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวางไว้ดำเนินการ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ

ประกอบกับสำนวนการสอบสวนคดี พ.ต.อ.ภาคภูมิ พิสมัย รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4 กับพวก เป็นคดีที่มีการกระทำความผิดเกี่ยวข้องเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 234 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ จึงให้เรียก สำนวนการสอบสวนเรื่องกล่าวหา พ.ต.อ.ภาคภูมิ พิสมัย รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4 กับพวก และเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดคืนมาเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

สรุปคือ นอกจากจะไม่ส่งคืนสำนวนคดีของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ให้พนักงานสอบสวนแล้ว ยังเรียกคืนสำนวนของกลุ่มผู้ต้องหาหลักก่อนหน้ามาดำเนินการเองด้วย

เส้นทางต้องฝ่าฟัน-พิสูจน์ตัวเองบริสุทธิ์

ย้อนเหตุการณ์ปี 2562 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งในขณะนั้น ยศ พล.ต.ท. ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ถูกเด้งขาดจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้ามห้วยไปเป็น ข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทนักบริหารระดับสูง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาพิเศษ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ในขณะนั้น เป็นผู้ลงนามในคำสั่ง

ปี 2563 เริ่มต้นปี ด้วยการถูกลอบยิงใส่รถยนต์หรู ตกปลายเดือนมกราคม ลาอุปสมบท ที่ประเทศอินเดีย และเดือนกันยายน 2563 ก็ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ ต่อศาลปกครอง กรณีออกคำสั่งโยกย้ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลปกครองไม่รับฟ้อง เหตุยื่นฟ้องเร็วไปและยังไม่ใช่ผู้เดือดร้อนเสียหาย

ปี 2564 กลับเข้าสู่วงการ “สีกากี” โดยผู้ลงนามก็คือ พล.อ.ประยุทธ์

พงหนามสู่เก้าอี้ “พิทักษ์ 1” ผบ.ตร. คนที่ 15

หากไม่มีคดีติดตัว ไม่ถูกกล่าวหาเกี่ยวข้องพัวพัน ในคดีเว็บพนันออนไลน์ ให้มัวหมอง เชื่อว่า เส้นทางของ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ที่จะถูกเรียกขานนาม “พิทักษ์ 1” เป็นคนที่ 15 อาจจะราบรื่นกว่านี้มาก

เพราะหากยึด หลักการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 77(1) ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจเอกซึ่งดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติหรือรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

มาตรา 78 การคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ”

ให้นายกรัฐมนตรีคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 77 (1) โดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปราม

ที่ยึดหลักอาวุโส เป็นสำคัญ ย่อมเป็น “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อาวุโส ลำดับที่ 1 ซึ่งแม้อีกครึ่งหนึ่งจะเป็นคะแนนผลงาน “บิ๊กโจ๊ก” ก็มีผลงานแบบไม่น้อยหน้าใคร

แต่เพราะคดีที่เกิดขึ้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า หนทางสู้เก้าอี้ ผบ.ตร.หรือ “พิทักษ์ 1” ถูกสั่นคลอน ให้เส้นทางนี้กลายเป็นทางวิบากที่ เต็มไปด้วยขวากหนามโรยทางเดิน เช่นนี้แล้วการสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ไม่ว่าจะต้องสู้อีกกี่ครั้งก็เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ เพราะคือ สิ่งสำคัญที่ชี้ชะตา“บิ๊กโจ๊ก” ได้ว่า จะเข้าเส้นชัย คว้าตำแหน่ง พิทักษ์ 1 มาครองได้หรือไม่?

รายงานพิเศษ : กิตติพร บุญอุ้ม ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง