วันนี้ (3 เม.ย.2567) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ลุกชี้แจงโดยระบุว่าถ้าไม่ชี้แจงด่วนตอนนี้จะทำให้สังคมมีความสับสนจากกรณีที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายถึงกระบวนการยุติธรรมและโยงไปถึงกรมราชทัณฑ์ และ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 เป็น พ.ร.บ.ที่รัฐบาลนายกฯเศรษฐา หรือ สภาชุดนี้ไม่ได้ออก แต่เป็นกฎหมายที่ออกในชุด สนช. และเป็น พ.ร.บ.ที่คิดว่ากรมราชทัณฑ์ รวม.ยุติธรรม และ นายกรัฐมนตรี ไม่มีอำนาจอยู่ใน พ.ร.บ.นี้
- "จุรินทร์" ซักฟอกเดือดนายกฯ เซลล์แมน-รัฐบาลอีเวนต์
- "พิเชษฐ์" นัด 3 ฝ่ายถกกรอบเวลาอภิปราย ม.152 ก่อนเริ่มซักฟอก พรุ่งนี้
พ.ต.อ.ทวี ยังกล่าวว่า ในส่วนของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก่อนที่รัฐบาลนายกฯเศรษฐา เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งก็เป็นรัฐบาลในชุดที่นายจุรินทร์ เป็น รมว.พาณิชย์ ร่วมกับประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ซึ่งอนุญาตให้อดีตนายกฯทักษิณไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้นที่ 14
ถ้าเป็นการกระทำในยุคของท่าน ท่านใช้คำพูดอีกแบบหนึ่ง แต่เหตุการณ์ต่อเนื่องมาในยุคปัจจุบัน ท่านกล่าวว่าเป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรม
ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม
ทั้งนี้ในวันนี้เมื่อทุกฝ่ายยอมรับหลักนิติธรรม หลักที่กฎหมายอยู่เหนือบุคคล หลักนิติธรรมได้ถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญ มาตรา 53 ว่ารัฐต้องมีการให้ปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยในอดีตที่ผ่านมาหลักนิติธรรมไม่เคยมีนิยามไว้ในพจนานุกรม หลังจากรัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560 ได้มีนิยามไว้ในพจนานุกรม หลักนิติธรรม คือหลักที่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน
กฎหมายแม้แต่จุรินทร์ไม่ได้เป็นผู้ออกแต่กฎกระทรวงที่ออกเมื่อปี 2563-2564 ท่านนั่งอยู่ใน ครม.
- ดึงเวลา “ฝ่ายค้าน” กลับ 4 ชั่วโมง ศึกอภิปรายกระทบชิ่ง “ทักษิณ”
- "จุลพันธ์" ยืนยันประเทศไทยมี "เศรษฐา" เป็นนายกฯ คนเดียว
นอกจากนี้ พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า สิ่งที่บอกว่าติดคุกทิพย์ ถือว่าเลวร้ายมาก เนื่องจากเมื่อเขียนไว้ใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มาตรา 55 คือ ผู้ป่วยต้องให้ส่งรักษา เจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่ได้ให้ รมว.ยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ ใช้ดุลยพินิจเลย ให้ใช้ดุลยพินิจของแพทย์ และเมื่อแพทย์ส่งไปรักษาตัว ให้โรงพยาบาลสถานที่รักษา ใช้สถานที่จำคุกอื่นซึ่งหมายถึงโรงพยาบาล
นายทักษิณ อยู่ภายใต้กฎหมาย และกฎกระทรวง ที่จุรินทร์มีความเห็นชอบ เพราะย้อนไปดูมติ ครม. ท่านไม่ได้ค้านแต่อย่างใด
การกระทำของนายจุรินทร์ทำให้สังคมสับสน ว่าคนที่ถูกควบคุมตัวที่โรงพยาบาลไม่ได้อยู่ที่เรือนจำ ในเมื่อกฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 55 วรรคท้าย และทุกคนที่ออกไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลก็ให้ถือว่าจำคุก
ในเรื่องกฎกระทรวงหรือระเบียบก็ออกตาม มาตรา 33-34 ไม่ว่าจะการพักโทษ การไปอยู่โรงพยาบาล ก็ถือว่าถูกลงโทษ กรมราชทัณฑ์ไม่ได้เป็นผู้กำหนด แต่กฎหมายคือตัวกำหนดให้เป็นไปตามขั้นตอน
ดังนั้นการที่ระบุว่าถ้าการพักโทษก็ต้องปฏิบัติไปตามระเบียบ ซึ่งมีอยู่ 4 ข้อ แต่อย่างไรก็ตามในเกณฑ์ลักษณะนี้ต้องมองผลกระทบของสังคมด้วย
ไม่อยากให้สังคมสับสน อยากให้สังคมทราบว่าการออกกฎหมายครั้งดังกล่าว ถ้าจะกล่าวหาว่าการออกกฎหมายเพื่อต้องการกำจัดคนอีกกลุ่มก็ได้ เพราะปกตินั้นการพักโทษได้เขียนไว้ 1 ใน 3 แต่ สนช.มาเพิ่มว่าไม่ต่ำกว่า 6 เดือน มีนักโทษจำนวนมากติดคุก 1 ปี บางคนติดคุก 8 เดือนต้องมาเข้ากฎหมายดังกล่าว ถ้าคนที่ได้รับโทษน้อยไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย
สำหรับนายทักษิณต้องโทษจำคุก 1 ปี ต้องอยู่ 6 เดือน ขณะที่คนถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต และมาลดโทษให้จำคุก 8 ปี ได้พักโทษ อยากให้ฟังความให้รอบด้าน และไม่อยากให้ใช้อคติ ในการอภิปราย
อ่านข่าวอื่นๆ :
เปิดงบฯ 70 ล้าน “นายกฯ-รองนายกฯ” เดินทางต่างประเทศ 26 รายการ