วันนี้ (9 เม.ย.2567) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ช่วงนี้หลายพื้นที่ของไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด อุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ทำให้มีความเสี่ยงเกิดภาวะโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก ได้มากขึ้นซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับอุณหภูมิภายในร่างกายได้ ทำให้ความร้อนในร่างกายสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว และเสียชีวิต
อากาศร้อน
อาการบ่งบอกภาวะ "ฮีทสโตรก"
สำหรับอาการเตือนที่บ่งบอกว่าเกิดภาวะฮีทสโตรก ดังนี้
- ผิวหนังแดง
- ตัวร้อนจัด
- ชีพจรเต้นเร็วและแรง
- ไม่มีเหงื่อ
- ปวดศีรษะ
- มึนงง สับสน
- คลื่นไส้อาเจียน
- ความรู้สึกตัวลดลง จนถึงหมดสติ
อากาศร้อน
ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก อย่างชะล่าใจ
สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงคือ กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน เป็นต้น และกลุ่มวัยทำงาน ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ออกกำลังกายหรือใช้กำลังมากเป็นเวลานาน
พร้อมรับมืออากาศร้อน
ใกล้เทศกาลสงกรานต์ หลายพื้นที่มีการจัดกิจกรรมการแสดง จัดขบวนแห่กลางแจ้ง จึงขอให้ระมัดระวังและป้องกันตนเอง โดยสวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อน เนื้อบางเบา และระบายความร้อนได้ดี ควรพักเข้าในที่ร่มเป็นระยะ ๆ ดื่มน้ำให้บ่อยขึ้นและมากขึ้นโดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ หากมีการออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรงควรดื่มน้ำ 2-4 แก้ว ทุกชั่วโมง หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ หรือมีปริมาณน้ำตาลสูง เพราะจะทำให้ร่างกาย ขาดน้ำได้ง่าย ส่วนกลุ่มเปราะบาง แนะนำหลีกเลี่ยงการออกแดดจัด และอยู่ในห้องที่ระบายอากาศได้ดี
อากาศร้อน
วิธีปฐมพยาบาล อาการ "ฮีทสโตรก"
สำหรับวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อพบผู้ป่วยโรคฮีทสโตรก ดังนี้
นำตัวผู้ป่วยเข้ามาในที่ร่ม จัดให้นอนราบ
ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง คลายเสื้อผ้าให้หลวม
ลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด เช่น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือ น้ำแข็งเช็ดตามตัว ซอกคอ รักแร้ และศีรษะ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน
ไม่ควรใช้ผ้าเปียกคลุมตัว เพราะจะขัดขวางการระบายความร้อนออกจากร่างกาย หากรู้สึกตัวให้ดื่มน้ำมาก ๆ
เล่นสงกรานต์อย่างไร ปลอดภัยกับ "ดวงตา"
ในช่วงสงกรานต์ มีข้อแนะนำในการ "เล่นสงกรานต์" อย่างปลอดภัย
เล่นน้ำสงกรานต์
นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ข้อปฏิบัติที่สำคัญในการเล่นน้ำ คือ ควรเป็นไปด้วยความสุภาพ หลีกเลี่ยงการผสมแป้งหรือสีเพราะจะทำให้ยากต่อการทำความสะอาด ควรคำนึงถึงความเหมาะสมและมารยาท ไม่ควรประแป้งผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
สอดคล้องกับ นพ.อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวว่า การเล่นน้ำสงกรานต์ตามประเพณี เป็นการเล่นเพื่อความสนุกสนานไม่ควรเล่นรุนแรง ไม่ใช้น้ำไม่สะอาดมาเล่น สาดกัน ควรระมัดรวังการสำลักน้ำทั้งทางปากและจมูก ผู้ที่เปียกน้ำเป็นเวลานาน ๆ ควรห่วงใยสุขภาพของตนเอง และเส่นสงกรานต์อย่างมีวัฒนธรรมเพื่อความปลอดภัยของทุกคน
ใช้น้ำไม่สะอาดเล่นสงกรานต์ ระวังติดเชื้อโรค
พญ.วงศ์ศิริ ทวีบรรจงสิน หัวหน้าศูนย์ส่งต่อทางจักษุวิทยา กล่าวว่า การเล่นน้ำสงกรานต์เป็นประเพณีการรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ถือเป็นการแสดงความเคารพและความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ สะท้อนถึงค่านิยมและวัฒนธรรมอันดีงามของไทยที่ปฏิบัติสืบเนื่องมาตั้งแต่ในอดีต แต่ในปัจจุบันการเล่นน้ำเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปมากอาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยได้ ฉะนั้นควรใช้น้ำที่สะอาด
หัวหน้าศูนย์ส่งต่อทางจักษุวิทยา กล่าวว่า หากใช้น้ำตามแม่น้ำ ลำคลองต้องดูค่อนข้างใส สะอาด และไหลเวียนดี หากใช้น้ำที่สกปรก เช่น น้ำคลำ น้ำตามคู หรือน้ำขังที่ไม่สะอาดไม่ควรนำมาเล่นกันเพราะน้ำที่ไม่สะอาดจะพบเชื้อโรคหลายชนิด ทั้งแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส รวมทั้งปรสิตต่าง ๆ
- หากน้ำที่มีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เช่น ทางตา หากน้ำไม่สะอาดเข้าตาควรล้างตาด้วยน้ำสะอาด เพื่อล้างสิ่งสกปรกและเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส อะมีบา ที่ปนมากับน้ำที่อาจทำให้กระจกตาอักเสบได้
- หากเกิดอาการผิดปกติ เช่น ระคายเคืองตา แสบตา มีขี้ตามาก ควรพบจักษุแพทย์เพื่อทำการรักษา และหากน้ำสกปรกเข้าทางบาดแผลอาจทำให้ผิวหนังอักเสบ เป็นหนอง เป็นแผลเรื้อรัง
- หากเข้าทางจมูกหรือการสำลัก อาจทำให้เกิดโรคเยื่อบุสมองอักเสบได้ และถ้าเข้าทางปาก เชื้อโรคจะเข้าไปอาศัยอยู่ในลำไส้ ทำให้เกิดท้องเสีย โรคอุจาระร่วง ถ่ายเป็นมูกปนเลือด เป็นต้น
ดังนั้นควรเล่นน้ำสงกรานต์ให้ปลอดภัย ควรใช้น้ำสะอาด เช่นน้ำประปา หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำจากแหล่งน้ำที่อาจมีเชื้อโรคปนเปื้อน เช่น น้ำคลอง เพื่อความปลอดภัยของดวงตาจากเชื้อโรคร้าย
เล่นน้ำสงกรานต์
ดูแลดวงตา ช่วงสงกรานต์
สาดน้ำสงกรานต์ให้สนุกและปลอดภัย ด้วยวิธีการดังนี้
- ไม่ใส่คอนแทคเลนส์เล่นน้ำ
- หากมีปัญหาด้านสายตา ควรสวมแว่นแทนคอนแทคเลนส์
- หากน้ำไม่สะอาดหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหากต้องสัมผัสบริเวณดวงตา
- หลังเล่นน้ำสังเกตดวงตาว่ามีความผิดปกติหรือไม่ หากมีความผิดปกติให้รีบพบแพทย์ทันที
- ใส่แว่นตาป้องกันระหว่างเล่นน้ำ
ข้อปฏิบัติที่สำคัญ คือ การเล่นน้ำควรเป็นไปด้วยความสุภาพ ไม่ควรเล่นน้ำรุนแรง หรือนำน้ำใส่ถุงพลาสติกและขว้างปากัน เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุตามมาได้ หลีกเลี่ยงการผสมแป้ง หรือ สี เพราะจะทำให้ยากต่อการทำความสะอาด ควรคำนึงถึงความเหมาะสมและมารยาท ไม่ควรประแป้งผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
อ่านข่าวอื่น ๆ
"โรคซึมเศร้า" ต้องช่วยกันซึมซับ เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องเศร้า
ท่านผู้โดยสารโปรดทราบ "พาวเวอร์แบงก์" ต้องพกขึ้นเครื่องเท่านั้น
อย่าลืม! ผู้ประกันตน ม.33 "ว่างงาน - ตกงาน" ลงทะเบียนรับเงินชดเชย