วันนี้ (15 เม.ย.2567) ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดการกากตะกอนแร่แคดเมียม ประจำวันที่ 14 เม.ย.2567 ว่า ได้หารือร่วมกับ นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผวจ.ตาก เกี่ยวกับเรื่องความพร้อมของพื้นที่ที่จะขนย้ายกากตะกอนแร่แคดเมียมกลับไปฝังกลบที่แหล่งกากตะกอนแร่เดิมที่ จ.ตาก ตามแนวทางของคณะกรรมการอำนวยการการขนย้ายกากแคดเมียมและกากสังกะสี ที่ได้มีการประชุมแผนการขนย้ายกากตะกอนแร่แคดเมียม เมื่อวันที่ (13 เม.ย.) นั้น
ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากส่วนราชการใน จ.ตาก ที่เกี่ยวข้อง โดยได้ร่วมกันเตรียมความพร้อมในการตรวจสอบพื้นที่หน้างาน อาทิ ตรวจสภาพความแข็งแรงของบ่อฝังกลบให้ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม การตรวจสอบโครงสร้างและพื้นผิวของบ่อปูนซีเมนต์ ระบบรวบรวมน้ำชะล้างและการปูก้นหลุมให้เรียบร้อยตามที่ระบุ ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) ตรวจสอบเครื่องจักรในการขนย้ายถุง Big Bag กากตะกอนแร่แคดเมียมไปฝังกลบ รวมทั้งมีการตรวจประเมินสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ไม่ให้กระทบกับประชาชนในพื้นที่
ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบการฝังกลบว่ามีความปลอดภัยตามหลักวิชาการและปลอดภัยต่อประชาชนในพื้นที่มากที่สุด
โดยทาง จ.ตาก ได้มีคำสั่งใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ตามมาตรา 29 ประกาศห้ามไม่ให้บุคคลเข้าไปอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการใดในพื้นที่โรงงานฯ พื้นที่ฝังกลบ ในรัศมี 100 เมตร จากบริเวณโดยรอบบ่อกักเก็บกากอุตสาหกรรม ทั้ง 7 บ่อ และอาคารโรงเก็บพัสดุที่มีกากตะกอนแร่แคดเมียมบรรจุในถุงบิ๊กแบ็กภายในอาคาร เป็นระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันประกาศเป็นต้นไป
ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เพื่อร่วมกันตรวจสอบและติดตามโรงงานต้องสงสัยในพื้นที่ กทม. ซึ่งจากการตรวจสอบในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่พบกากตะกอนแร่แคดเมียมเพิ่มเติม ทำให้ในปัจจุบันมีปริมาณกากตะกอนแร่แคดเมียมที่พบยังคงอยู่ที่ 12,535 ตัน
แต่ยังได้เน้นย้ำให้ทีมเจ้าหน้าที่ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ยังคงดำเนินการตรวจสอบและติดตามโรงงานและโกดังที่อยู่ในพื้นที่ต้องสงสัย ให้มีการค้นหากากตะกอนแร่แคดเมียมอย่างต่อเนื่อง
กระทรวงอุตสาหกรรมมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้อย่างรัดกุม โดยได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่พื้นที่ จ.ตาก ซึ่งเป็นต้นทางของแหล่งฝังกลบกากตะกอนแร่เดิม รวมถึงทุกจังหวัดที่มีการตรวจพบการลักลอบกักเก็บกากตะกอนแร่แคดเมียม เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัย และประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ดร.ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย
อ่านข่าว :
ตรวจ 40 คนงานโรงหล่อ-พนักงานกทม.กลุ่มเสี่ยงรับแคดเมียม
พบชาวบ้าน 16 คนแคดเมียมสูง-เล็งย้ายกากแร่กลับตาก 18 เม.ย.
ก.อุตฯ เผย ผลตรวจกากตะกอนแร่แคดเมียมจาก "ตาก" ไม่พบกัมมันตภาพรังสี