วันนี้ (17 เม.ย. 67) พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2567 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 16 เม.ย.2567 ซึ่งเป็นวันที่หกของการรณรงค์ “ขับขี่อย่างปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ”
เกิดอุบัติเหตุ 242 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 237 คน ผู้เสียชีวิต 32 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 37.60 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 23.97 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 21.07 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 84.90 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 83.47 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 41.32 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 32.23
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 00.01 – 01.00 น. ร้อยละ 11.16 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 20.07 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,756 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,331 คน
อ่านข่าว : 5 วันสงกรานต์ตาย 206 เจ็บ 1,593 - คุมประพฤติเมาขับ 3,973 คดี
โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ แพร่ (13 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ แพร่ (18 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ขอนแก่นและสุรินทร์ (จังหวัดละ 3 ราย)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 6 วันของการรณรงค์ (11 – 16 เม.ย. 67) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,811 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,837 คน ผู้เสียชีวิต รวม 243 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 9 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (71 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ แพร่ (68 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (15 ราย)
อ่านข่าว : “สงกรานต์ 5 วัน” นักท่องเที่ยวทะลัก 7.8 แสนคน ททท.เผย สร้างรายได้กว่า 2.8 พันล้าน
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางจุดหมายแล้ว แต่ยังมีบางส่วนอยู่ระหว่างเดินทางกลับ ศปถ. จึงได้กำชับจังหวัดดูแลความปลอดภัยและบริหารจัดการจราจรในเส้นทางสายหลัก เส้นทางเชื่อมต่อถนนสายหลักที่มุ่งสู่กรุงเทพฯ และถนนทางตรงที่มีระยะทางยาว เน้นคุมเข้มการขับรถเร็ว ป้องกันอุบัติเหตุจากการหลับใน และการใช้อุปกรณ์นิรภัยตลอดการเดินทาง รวมถึงเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง
และจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงหกวันที่ผ่านมา พบว่า ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือจักรยานยนต์ คิดเป็นร้อยละ 84.90 เพื่อเป็นการลดความรุนแรงของการบาดเจ็บและความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากการใช้ยานพาหนะดังกล่าว ขอให้ประชาชนสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งเมื่อขับขี่รถจักรยานยนต์ รวมถึงปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ขับรถเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด ขับขี่ด้วยความระมัดระวังและคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งของตนเองและผู้ร่วมใช้เส้นทาง
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการสวมหมวกนิรภัยและเสริมสร้างจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ขอให้จังหวัด หน่วยงาน และองค์กรภาคีเครือข่ายร่วมสร้างการรับรู้ผ่านการประชาสัมพันธ์เรื่องพฤติกรรมเสี่ยงหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด การดื่มแล้วขับการตัดหน้ากระชั้นชิด การใช้อุปกรณ์นิรภัย และวิธีการขับขี่ยานพาหนะที่ปลอดภัย รวมถึงการจัดทำใบอนุญาตขับขี่ตามที่กฎหมายกำหนด
คุมประพฤติเมาขับนำโด่ง 6 วัน 5,589 คดี
นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยถึง สถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติ มีจำนวนทั้งสิ้น 1,654 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถในขณะเมาสุรา 1,616 คดี และคดีขับเสพ 38 คดี สำหรับยอดรวมสะสม 6 วัน ที่มีการควบคุมเข้มตั้งแต่วันที่ 11-16 เม.ย.2567 มียอดสะสม จำนวน 5,786 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 5,589 คดี คิดเป็นร้อยละ 96.6 คดีขับรถประมาท 3 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.05 และคดีขับเสพ 194 คดี คิดเป็นร้อยละ 3.35 หากเปรียบเทียบสถิติคดีเข้าสู่คุมประพฤติ พ.ศ. 2566 กับ พ.ศ. 2567
ยอดสะสม 6 วัน (11-16 เม.ย.2567) พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรา ปี พ.ศ. 2566 จำนวน 6,705 คดี และ ปี พ.ศ. 2567 มีจำนวน 5,589 คดี ลดลง 1,116 คดี คิดเป็นร้อยละ 16.64 จังหวัดที่มีสถิติคดีเมาแล้วขับสะสมสูงสุด 3 อันดับได้แก่ กรุงเทพมหานคร 493 คดี สมุทรปราการ 313 คดี และ เชียงใหม่ 302 คดี
อ่านข่าวอื่นๆ :
คนเข้ากรุงฯ แน่นหมอชิต พบแท็กซี่ไม่พอ ปฏิเสธผู้โดยสารไม่กดมิเตอร์
สภาพอากาศวันนี้ ทั่วไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด กทม.อุณหภูมิสูงสุด 40 องศาฯ