ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

12 อุทยานฯ ปะการังฟอกขาว วิกฤตเกาะจาน-เกาะปลิง-เกาะง่ามใหญ่

สิ่งแวดล้อม
10 พ.ค. 67
11:53
612
Logo Thai PBS
12 อุทยานฯ ปะการังฟอกขาว วิกฤตเกาะจาน-เกาะปลิง-เกาะง่ามใหญ่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
พบ "ปะการังฟอกขาว" ในพื้นที่ 12 อุทยานแห่งชาติทางทะเล รุนแรงสุดฟอกขาวมากกว่า 80% ที่เกาะจานทิศตะวันตก เกาะปลิง เกาะง่ามใหญ่ บางจุดต้องประกาศปิดท่องเที่ยว

กรณี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) แสดงความห่วงใยกับสถานการณ์ปะการังฟอกขาว พร้อมขอให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ ได้รับรายงานการสำรวจติดตามการเกิดปะการังฟอกขาวในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล ซึ่งเกิดจากสภาพสิ่งแวดล้อมน้ำทะเลผิดปกติ เช่น น้ำทะเลร้อน มีคราบน้ำมัน มีตะกอนทับถมในปะการัง หรือปะการังผึ่งแห้งเป็นเวลานานเมื่อน้ำทะเลลงต่ำสุด จึงส่งผลให้ปะการังเกิดความเครียดสูง และทำให้ปะการังขับสาหร่ายเซลล์เดียวออกจากตัวปะการัง (สาหร่ายซูแซนเทลลี (zooxanthellae)) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของปะการัง และทำให้ปะการังมีสีสัน เมื่อสูญเสียสาหร่ายดังกล่าวไป ปะการังเข้าสู่ภาวะอ่อนแอและกลายเป็นสีขาวโพลน หากเป็นเช่นนี้ติดต่อกัน 2-3 สัปดาห์ ปะการังจะตายทันที 

พบ "ปะการังฟอกขาว" 12 พื้นที่อุทยานฯ

สำหรับพื้นที่ที่เกิดการฟอกขาวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลมี 12 แห่ง (ข้อมูลระหว่างวันที่ 2 เม.ย.-8 พ.ค.2567) แบ่งเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอ่าวไทย 6 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง, อุทยานแห่งชาติ
เขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด, อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด, อุทยานแห่งชาติหาดวนกร, อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร และอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้

อุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอันดามัน 6 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์, อุทยานแห่งชาติสิรินาถ, อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา, อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี, อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา

6 จุด "ปะการังฟอกขาว" เกิน 50%

ขณะที่พื้นที่ที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากมีอัตราการฟอกขาวมากกว่า 50% ขึ้นไป มีดังนี้ อุทยานแห่งชาติหาดวนกร บริเวณเกาะจานทิศตะวันตก, อุทยานแห่งชาติสิรินาถ บริเวณเกาะปลิง (ประกาศปิดการท่องเที่ยว), อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร บริเวณเกาะง่ามใหญ่ ปะการังมีการฟอกขาวในพื้นที่มากกว่า 80% ส่วนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร บริเวณเกาะคราม ปะการังมีการฟอกขาวในพื้นที่มากกว่า 70 % เกาะง่ามน้อย ปะการังมีการฟอกขาวในพื้นที่มากกว่า 60%

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการังในขณะเกิดการฟอกขาว กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีแนวทางและมาตราการในการป้องกันการเกิดปะการังฟอกขาว คือ การประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยว เพื่อลดผลกระทบจากกิจกรรมประเภทต่าง ๆ ที่อาจเป็นการเร่งให้ปะการังเกิดการฟอกขาว ในอุทยานแห่งชาติทางทะเล จนกว่าสถานการณ์การฟอกขาวของปะการังจะคลี่คลายลง

กำหนดมาตรการลดภัยคุกคาม

ด้านนายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ปัจจุบันมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน กำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ El Niño-Southern Oscillation (ENSO) ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย (SST) และคาดการณ์ว่าจะเกิดปะการังฟอกขาวในประเทศไทย ช่วงเดือน เม.ย.-ก.ค.2567 ระดับความรุนแรงอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่

สถานการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย พบว่ามีความรุนแรงในฝั่งอ่าวไทยมากกว่าฝั่งอันดามัน เกิดการฟอกขาวแล้วมากกว่า 50% ของพื้นที่แนวปะการังฝั่งอ่าวไทย เช่น พื้นที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เกาะคราม จ.ชุมพร

สำหรับในฝั่งอันดามันพบการฟอกขาว ไม่เกิน 20% ของพื้นที่ ส่วนใหญ่เกิดในบริเวณที่มีความลึกไม่เกิน 2 เมตร เช่น เกาะรอก จ.ตรัง ส่วนใหญ่จะพบว่าปะการังมีสีซีด ซึ่งเป็นผลกระทบจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่า 2 สัปดาห์

ทช.จึงได้หารือร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและลดภัยคุกคามจากกิจกรรมการท่องเที่ยว ประมงชายฝั่ง การทิ้งขยะลงในทะเล รวมถึงการจัดทำแนวทางการป้องกันปะการังฟอกขาว ให้หน่วยงานในพื้นที่ของ ทช. และกรมอุทยานฯ อีกทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับปะการังฟอกขาวให้แก่เครือข่ายอนุรักษ์ปะการัง กลุ่มนักดำน้ำ นักท่องเที่ยว ประชาชนในพื้นที่

ติดตั้ง Shading บังแสงให้ปะการัง

ขณะที่กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 1 จ.ชุมพร และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ติดตั้ง Shading เพื่อช่วยในการบังแสงให้กับปะการังบริเวณเกาะง่ามน้อย ระหว่างวันที่ 7-8 พ.ค.2567 อุณหภูมิน้ำทะเลบริเวณผิวน้ำมีค่าอยู่ในช่วง 32.00-33.63 องศาเซลเซียส และบริเวณแนวปะการังมีค่าอยู่ในช่วง 31.79-32.34 องศาเซลเซียส พบว่าปะการังสีซีดและฟอกขาวเป็นบางส่วน

อ่านข่าว

ปิดเกาะปลิง! ไม่มีกำหนด ปะการังฟอกขาวหนัก 

วิกฤต "ปะการังฟอกขาว" ในยุคทะเลเดือด 

ทะเลอ่าวไทยอุ่นขึ้น 1 องศาฯ จับตา 3 เดือนเสี่ยงปะการังฟอกขาว 

ปิดเกาะปลิง! ไม่มีกำหนด ปะการังฟอกขาวหนัก 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง