วันนี้ (11 พ.ค.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567 มีผลใช้บังคับในวันนี้ จากนี้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีการประชุม และประกาศกำหนดวันสมัคร และวันเลือก สว.จาก 20 กลุ่มอาชีพ ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นภายในวันที่ 13 พ.ค.นี้
อ่านข่าว ราชกิจจานุเบกษา ประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งสว.ชุดใหม่
โดยคาดว่าจะประกาศให้มีการเปิดรับสมัครในวันที่ 20-24 พ.ค.นี้ ก่อนที่จะตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร และกำหนดให้มีการเลือก ส.ว.ระดับอำเภอในวันที่ 9 มิ.ย.2567 จากนั้นภายใน 7 วัน นับแต่การเลือกระดับอำเภอจะมีการเลือก สว.ในระดับจังหวัด ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 16 มิ.ย. และภายใน 10 วัน หลังการเลือกระดับจังหวัดจะมีการเลือกในระดับประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 26 มิ.ย.นี้
โดยหลัง กกต.ได้รับผลการนับคะแนนจากผู้อำนวยการเลือกตั้งระดับประเทศแล้ว กกต.จะยังไม่ประกาศผลทันที แต่จะรอไว้ไม่น้อยกว่า 5 วัน หากเห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยถูกต้องสุจริตเที่ยงธรรม ก็จะประกาศผลการเลือกในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าจะประกาศได้ในวันที่ 2 ก.ค.นี้
อ่านข่าว ทัวร์นกขมิ้น "เศรษฐา" ลุยกาญจนบุรี ถกความมั่นคง-แก้น้ำท่วม
2 วันยอดรับใบสมัคร 3,407 คน
ขณะที่สำนักงาน กกต.รายงานว่า มีผู้รับใบสมัครสว.ตั้งแต่วันที่ 10-11 พ.ค.นี้รวมทั่วประเทศจำนวน 3,407 คน โดยวันนี้จำนวน 1,474 คน ส่วนวันแรก 1,933 คน
ส่วนที่จ.นครราชสีมา มีประชาชนเดินทางมารับใบสมัครเข้ารับเลือก สว.อย่างต่อเนื่อง รวมมีผู้มารับใบสมัครแล้ว 32 อำเภอ กว่า 100 คน และกกต.จะได้เชิญมาร่วมอบรมและทำความเข้าใจในระเบียบและกฎหมาย วันที่ 19 พ.ค.นี้ เช่นเดียวกับที่จังหวัดอุบลราชธานี ก็มีผู้มารับใบสมัครแล้ว จากการสอบถาม เป็นผู้สนใจสมัครเข้ารับเลือกเป็น สว. เพียงบางคนเท่านั้น
วงเสวนาหัวข้อ “เก่าไปใหม่มา : สว.ชุดใหม่ อนาคตประชาธิปไตย อนาคตประเทศไทย
นักวิชาการห่วงสว.กล่องสุ่ม
"กล่องสุ่มและครึ่งบก-ครึ่งน้ำ" คือวลีที่นักการเมืองและนักวิชาการ ที่ร่วมเสวนาหัวข้อ “เก่าไปใหม่มา : สว.ชุดใหม่ อนาคตประชาธิปไตย อนาคตประเทศไทย" จัดโดยสถาบันปรีดีพนมยงค์
นักวิชาการและนักการเมือง หยิบยกขึ้นมา ชี้ให้เห็นถึงการเลือก สว.ในแบบเลือกกันเอง จะได้ผลลัพธ์ไม่ต่างกัน และอ้างอิงว่า ระบบกำลังปิดกั้นการยึดโยงกับประชาชน รวมถึงไม่ตอบโจทย์ปัญหาในอดีต ก่อนจะชี้ว่า ออกแบบไว้ให้ผู้นำในอดีต "ช้อนซื้อหรือล็อบบี้" ได้ง่าย
รศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ สะท้อนว่า รูปแบบการเลือก สว.ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่เคยมีประเทศใดในโลกมีระบบนี้ มองเป็นระบบที่ไม่ชอบธรรม และไม่ยึดโยงประชาชน ชี้เป็นความพิสดาร และสร้างความสับสนโดยตั้งใจ เปรียบเป็นระบบครึ่งบกครึ่งน้ำ และไม่ได้ตอบโจทย์การเป็นตัวแทนประชาชน
รศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
แต่เป็นระบบการเลือกเหมือนกล่องสุ่ม มอง สว.ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาขนทำให้ฝ่ายการเมืองมาช้อนซื้อด้วยกล้วยหรือ ล็อบบี้ภายหลังได้ง่าย เชื่อเป็นเกมส์ที่ผู้นำได้ออกแบบมา และสิ่งที่ประชาชนทำได้คือประชาชนต้องไปสมัครเพื่อสกัดการจัดตั้ง
เราจะได้คน 200 คน ซึ่งเข้ามาอย่างไรไม่รู้ ไม่ต้องรับผิดชอบต่อใครและไม่ได้เป็นตัวแทนของใคร ในแง่นี้ก็แจกกล้วยง่ายและล็อบบี้กดดดันได้ง่ายจะมีผู้นำผู้มีอำนาจค่อยมาเวลาจะผ่านกฎหมายเป็นรายบุคคล
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งที่น่ากลัวในการเลือก สว.ครั้งนี้คือการจัดตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งโดยฝ่ายการเมือง หรือจากนายทุน และ กกต.กำลังทำให้ประชาชนไม่มีส่วนร่วม จากระเบียบที่ออกมาเกินไปในทางจำกัดสิทธิเสรีภาพ พร้อมเสนอให้แก้ระเบียบแนะนำตัว ให้ประชาชนแสดงความเห็นและให้ผู้สมัครให้สัมภาษณ์ออกสื่อได้
นายจาตุรนต์ ฉายแสง
ที่ขัดมากสุดคือ รัฐธรรมนูญมาตราที่ว่าด้วย สว.และสส. ยอมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย จะเป็นได้อย่างไรในเมื่อเลือกกันไปโดยที่ประชาชนทั้งประเทศไม่เกี่ยว ประเด็นตอนนี้ต้องมาเช็กจะลดความเสียหายนี้ได้อย่างไร
นักการเมืองและนักวิชาการ ยังสะท้อนถึง สว.ชุดปัจจุบัน ว่าเป็นไปตามข้อครหา "สว.คสช." เพราะแช่แข็งประชาธิปไตยได้สำเร็จ สืบทอดอำนาจได้ดี และยังปิดกั้น-ขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญได้ด้วย ก่อนจะทิ้งท้ายฝากถึง สว.ชุดใหม่ให้ทำงานเพื่อประชาชน เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างประชาธิปไตยไทยให้เข้มแข็งขึ้น
อ่านข่าวอื่นๆ
วันแรก "รับใบสมัคร สว." ไม่คึกคัก "เสรี" ชี้ชุดเก่าทำหน้าที่รอชุดใหม่