ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Marijuana ในเงื้อมมือรัฐ คืน "กัญชา" กลับสู่บัญชียาเสพติด

การเมือง
13 พ.ค. 67
16:39
7,945
Logo Thai PBS
Marijuana ในเงื้อมมือรัฐ คืน "กัญชา" กลับสู่บัญชียาเสพติด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

อีก 1 เดือนนับจากนี้ "สมศักดิ์ เทพสุทิน" รมว.สาธารณสุข ยืนยันว่า กัญชาจะกลับสู่บัญชียาเสพติดอีกครั้ง หลังจาก "เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้แก้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ดึงกัญชากลับสู่บัญชียาเสพติดประเภท 5 และให้เร่งออกกฎกระทรวงอนุญาตให้ใช้เฉพาะประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ เท่านั้น

"ภายใน 1 เดือนนี้ ร่างต่างๆ ก็ต้องเสร็จสิ้น เข้าใจว่าอาจจะไม่ต้องทำกฎหมาย อันนี้เป็นเรื่องแทคติกทางกฎหมาย ที่ผ่านมา เราก็ไม่ได้มีกฎหมายกัญชา ขอให้ได้รวบรวมประเด็นกฎหมายทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทาง" นายสมศักดิ์ กล่าว เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา

แม้การแก้กฎกระทรวงสาธารณสุขเพื่อผลักดันให้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดประเภท 5 อีกครั้ง สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงพลิกฝ่ามือ หากกระทรววงสาธารณสุข โดยคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานนำเรื่องเสนอ หรือ บอร์ด ป.ป.ส.ชุดใหญ่ ให้พิจารณา และมีประกาศคำสั่งยกเลิกเท่านั้น

และหากนายสมศักดิ์ ต้องการเร่งดำเนินการให้เสร็จทันตามคำสั่งของนายกฯ ก็สามารถสั่งการให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด นำเสนอต่อบอร์ด ป.ป.ส.ชุดใหญ่ ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 17 พ.ค. นี้ได้ทันที แต่ในกรณีที่ไม่มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณา จะต้องรอการประชุมในครั้งต่ออีก 90 วัน หรืออีก 3 เดือนข้างหน้า 

การประกาศกลับลำให้นำกัญชากลับมาเข้าบัญชียาเสพติดให้ได้ภายในสิ้นปี 2567 ของรัฐบาล ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ถือว่าอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญทางการเมือง ซึ่งเพิ่งผ่านการปรับ ครม.มาหมาดๆ แม้ครั้งนี้พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นต้นตำรับการผลักดันปลดล็อกกัญชา จะไม่ได้มีการปรับรัฐมนตรีแม้แต่ตำแหน่งเดียวก็ตาม

การดึงกัญชากลับสู่บัญชียาเสพติดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น หลังจากไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ผลักดันให้ปลดล็อกการใช้งานพืชเสพติดชนิดนี้ให้ถูกกฎหมาย กล่าวคือ กัญชาได้ถูกประกาศให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพในปี 2561 และมีการปลดล็อกพ้นจากบัญชียาเสพติดในปี 2565

ขณะที่ "อนุทิน ชาญวีรกูล" หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.มหาดไทย และพรรคร่วมรัฐบาลลำดับ 2 ในฐานะอดีต รมว. สธ. ที่ผลักดันการนำกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 ได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2565 ระบุว่า ไม่ขัดข้อง หากจะถอดถอน แต่ต้องมีข้อมูลที่เพียงพอ และเหตุผล ผลการทดสอบ ทดลองทางวิทยาศาสตร์ และทางการแพทย์มารองรับ สนับสนุน ให้ทุกกระบวนการเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

อนุทิน ยอมรับว่า ... มันเป็นเรื่องของการเมือง พรรคภูมิใจไทย ได้คะแนนเสียงที่บอกว่า เราต้องทำกัญชาต่อไป ขอกำกับดูแลกระทรวงสาธารณสุข เสียงเราไม่พอ ในขณะที่เรากำกับดูแล กระทรวงสาธารณสุข กฎหมายเราก็ส่งเข้าสภาแล้ว แต่ว่าถูกหักหลัง คนที่ได้รับโทษก็คือประชาชน ไม่ใช่พรรคภูมิใจไทย

"ผู้ประกอบการที่เริ่มลงทุนเปิดตลาดไปแล้ว และชาวบ้านที่ใช้กัญชา รักษาตัวตามภูมิปัญญาดั้งเดิมอยู่ก็จะได้รับผลกระทบ ทุกวันนี้เทรนด์โลกเป็นไปในทางที่เปิดประตูให้กับพืชสมุนไพรกัญชามากขึ้น จึงไม่ควรไปปิดโอกาส เรามีทางเลือกที่ดีกว่า อย่างการออก พ.ร.บ.กัญชา" เป็นข้อเสนอของหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

เป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลังกฎหมายปลดล็อกกัญชา มีผลบังคับใช้ โดยให้กัญชาทุกส่วน ไม่ถือเป็นยาเสพติด และสารสกัด กัญชาที่มีสาร THC หรือ CBD ไม่เกินร้อยละ 0.2 ไม่ถือเป็นยาเสพติด ทำให้มีการใช้กัญชาอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการใช้เพื่อสันทนาการแบบเสรี และไม่มีขอบเขต ทำให้มีการปลูก ซื้อ ขายกัญชา ได้อย่างกว้างขวาง ผู้ที่ต้องการใช้สามารถเข้าถึงได้ง่าย มีการทำธุรกิจสายเขียวเพิ่มขึ้น

อ่านข่าวอื่น :

นายกฯ เล็งดัน "สนามบินหัวหิน" เพิ่มเที่ยวบิน​ดึงนักท่องเที่ยว

โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ "เจ้าคุณฌอน-เจ้าคุณอนิลมาน" ขึ้นรองสมเด็จพระราชาคณะ

ทว่ามุมหนึ่งที่ส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ผลกระทบสุขภาพและสังคมในกลุ่มเด็ก เยาวชน แม้ไทยจะมีประวัติการใช้กัญชาในตำรับยาตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งแต่ปี 2175-2231 ก็ตาม แต่ภายหลังได้มีการเลิกใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมาย ตามอนุสัญญาเดี่ยว ว่าด้วยการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ปี 2504 จึงทำให้กัญชาเป็นยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย และในที่สุดได้มีการแก้ไขกฎหมายยาเสพติดในปี 2564

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)และคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุถึงสถานการณ์การจำหน่าย พฤติกรรมการใช้ การเข้าถึงกัญชา และทัศนคติต่อกัญชาในสังคมไทย โดยเฉพาะจุดจำหน่ายกัญชาว่า ร้านขายกัญชาในประเทศไทยเกิดขึ้นมากมาย ทั้งในบนดินและออนไลน์

เมื่อวันที่ 14 เม.ย.2567 ประเทศไทยมีจุดจำหน่ายกัญชาบนดินอยู่ทั้งสิ้น 7,747 จุด โดยเป็นจุดจำหน่ายในกรุงเทพฯ 1,122 จุด และนนทบุรี 1,114 จุด จำนวนจุดจำหน่ายกัญชานี้เพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับเดือนส.ค.2566 ซึ่งมีประมาณ 5,600 จุด

นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายและการโฆษณาการตลาดกัญชาบนโลกออนไลน์อีกมากมาย โดยแพลตฟอร์มที่มีการโพสต์จำหน่ายหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์กัญชามากที่สุด ได้แก่ X (Twitter) รองลงมา คือ เฟซบุ๊ก และ ไลน์

และยังพบว่า แม้แต่แพลตฟอร์มตลาดจำหน่ายสินค้า ตามร้านค้าออนไลน์ ก็ยังมีการจำหน่ายและโฆษณา น้ำมันกัญชา กัญชาอัดแห้ง กัญชาสด ขนมหรืออาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา และ อุปกรณ์สำหรับเสพกัญชา เช่น บ้องกัญชา โดยในแต่ละเว็บไซต์อาจจะขายกัญชาอย่างเดียว หรือขายร่วมกับยาเสพติดชนิดอื่น หรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท

ส่วนข้อมูลการใช้กัญชาในประชากรทั่วไป จากการสำรวจในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ย.2566 และ ก.พ.2567 พบว่า เพศชายร้อยละ 20-35 และ เพศหญิง ร้อยละ 10-15 ใช้กัญชาอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ในช่วงเวลา 12 เดือน หรือคิดเป็นความชุกในประชากรไทยทั่วประเทศในปี พ.ศ.2566-2567 ประมาณร้อยละ 20 โดยร้อยละ 60 ใช้เพื่อสันทนาการ ที่เหลือเพื่อการผ่อนคลายและช่วยให้นอนหลับ และมีเพียงร้อยละ 6 ใช้ประโยชน์วัตถุประสงค์ทางการแพทย์

ผลการสำรวจแต่ละครั้งพบว่า มีใช้กัญชาเพื่อการสูบ ที่เหลือผู้ใช้ส่วนใหญ่รายงานว่า ใช้กัญชาด้วยการกินในอาหารหรือเครื่องดื่ม หรือน้ำมันหยดใต้ลิ้น และผู้ใช้กัญชาในปัจจุบันประมาณร้อยละ 1.1 ใช้กัญชาแบบเสี่ยงอันตราย (hazardous use) และอีกร้อยละ 1.8 ใช้ในลักษณะที่เข้าได้กับภาวะความผิดปกติจากการใช้กัญชา (cannabis use disorder)

ข้อมูลยังระบุอีกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจการใช้กัญชาในประชากรทั่วไป หลายครั้งที่ผ่านมา ในโครงการวิจัยต่างๆ จะพบว่า ประชาชนไทยมีอัตราการใช้กัญชาเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ประมาณช่วงปี พ.ศ.2565

ขณะที่ใช้กัญชาในกลุ่มวัยรุ่น นักเรียนระดับมัธยมศึกษา เยาวชนนอกสถานศึกษา และนักศึกษาระดับปริญญาตรี ทั่วประเทศในปี 2566 พบว่า ส่วนใหญ่เคยทดลองใช้กัญชาในรูปแบบอาหารและเครื่องดื่ม และเกือบทั้งหมดใช้เพื่อนันทนาการโดยใช้ร่วมกับเพื่อนหรือในงานสังสรรค์

อย่างไรก็ตาม ในอดีตกัญชาไม่ได้เป็นยาเสพติดที่นิยม แต่หลังมีการเปลี่ยน แปลงนโยบาย ประชาชนสามารถเข้าถึงกัญชาได้ง่าย จึงทำให้มีการใช้กัญชาเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งในประชากรวัย ผู้ใหญ่ และเยาวชน

เป็นผลการศึกษาที่น่าสนใจ หลังจากนโยบายปลดล็อกกัญชามีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการได้ 2 ปี ซึ่งยังไม่ได้กล่าวถึงผลกระทบเรื่องธุรกิจและการลงทุนและผู้คัดค้านที่ไม่เห็นด้วยหากรัฐบาลจะนำกัญชากลับคืนสู่บัญชียาเสพติดว่า รัฐบาลจะแบกรับปัญหาทั้ง 2 ด้านให้รอบคอบและรอบด้านนี้ได้อย่างไร

"ทำไมคำถามที่ถาม ถึงถามว่า ทำไมกระทบกับพรรค ทำไมไม่ถามว่าอะไรที่กระทบกับพี่น้องประชาชนเป็นหลัก ผมเชื่อว่าทั้งพรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย หรือคณะรัฐบาล เราตัดสินใจทำอะไร เราตัดสินใจทำเพื่อประชาชน" นายกฯ ตอบคำถามผู้สื่อข่าว หลังถูกถามว่า นโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับพรรคภูมิใจไทย หรือไม่

จึงต้องจับตาว่า นับจากนี้นโยบายคืนกัญชาให้กลับเป็นยาเสพติดจะเกิดขึ้นจริงหรือ และจะมีปัญหาอุปสรรคใดตามมา หรือเป็นเพียงแค่การเมือง เรื่องกัญชาเท่านั้น

อ่านข่าวอื่น : 

ตั้งคณะกรรมการสงฆ์ตรวจสอบปม "พระสงฆ์" เล่นเซ็กส์โฟน

กกต.เคาะสมัคร สว. 20-24 พ.ค. เลือกระดับอำเภอ 9 มิ.ย.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง