- เรื่องน่ารู้ การเลือก สว.67 สมาชิกวุฒิสภาชุดที่ 13 ของประเทศไทย
- มีคำตอบ! "สว.มีไว้ทำไม" หน้าที่-สิทธิ-อำนาจ สภาสูงชุดที่ 13
วันเปิดรับสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. ถูกกำหนดเป็นวันที่ 20-24 พฤษภาคม 2567 ระหว่างเวลา 08.30 - 16.30 น. ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือก ระดับอำเภอกำหนด สมัครได้ไม่เว้นวันหยุดราชการ
ส่วนกำหนดวันเลือก สว. ระดับอำเภอ : วันที่ 9 มิถุนายน 2567 ระดับจังหวัด : วันที่ 16 มิถุนายน 2567 และระดับประเทศ ในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 แต่ก่อนอื่นวันนี้จะพาไปดูระเบียบการแนะนำตัวของผู้สมัคร ในการเลือก สว.2567 อะไร "ทำได้-ทำไม่ได้ หรือไม่ควรทำ" มีรายละเอียดอย่างไรบ้างนั้น ติดตามได้เลย
ราชกิจจาฯ เผยแพร่ ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว.2567 เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2567 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัคร แบ่งเป็น 2 หัวข้อสำคัญ คือ "วิธีแนะนำตัว และข้อห้ามแนะนำตัว"
ระเบียบ กกต.แนะนำตัว สว. วางเงื่อนไข อะไรบ้าง
วิธีแนะนำตัว สว.2567
- ผู้สมัครสามารถพิมพ์ประวัติ ประสบการณ์ ลงในกระดาษ A4 ไม่เกิน 2 หน้า
- ให้ผู้สมัครแนะนำตัวโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยตนเองได้ แต่ได้เฉพาะผู้สมัครด้วยกัน
- ส่วนการมีผู้ช่วยเหลือ ให้ผู้สมัครแจ้งชื่อ เป็นลายลักษณ์อักษรต่อ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ก่อนวันดำเนินการ ยกเว้น สามี ภรรยาหรือบุตร
อ่านข่าว : กางปฏิทิน "เลือก สว." ชุดใหม่ เช็ก "วิธี-เอกสาร" สมัครรับเลือก มีอะไรบ้าง
ข้อห้ามในการแนะนำตัวของ สว.
ระเบียบดังกล่าวยังกำหนด "ข้อห้าม" ในการแนะนำตัวที่สำคัญไว้ (ในหมวด 3 ข้อ 10)
ห้ามผู้สมัคร หรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัครนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการแนะนำตัว
นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกา ให้มีการเลือก สว.มีผลใช้บังคับไปจนถึงวันที่ คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือก ห้ามผู้สมัครหรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัครแนะนำตัวในกรณี (ในหมวด 3 ข้อ 11) ดังต่อไปนี้
- กระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
- ผู้ประกอบอาชีพสื่อมวลชน หรือสื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร เป็นต้น ใช้ความสามารถ หรือวิชาชีพดังกล่าว เพื่อเอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว
- ห้ามแจกเอกสารเกี่ยวกับการแนะนำตัวโดยวิธีการวางโปรยหรือติดประกาศในที่สาธารณะ
- ห้ามแนะนำตัวโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หรือปลุกระดมก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในพื้นที่
- ห้ามแนะนำตัวทางทางวิทยุ โทรทัศน์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึง การให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน นักข่าว หรือสื่อโฆษณาซึ่งเผยแพร่ผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
- จงใจไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบนี้
ตลอดจน ห้ามผู้สมัครยินยอมให้ผู้สมัครอื่น กรรมการบริหารพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เข้ามาช่วยเหลือผู้สมัครไม่ว่ากรณีใด ๆ
ในเรื่องข้อห้ามการแนะนำตัวผ่านช่องทางออนไลน์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงที่ผ่านมา เพราะส่วนหนึ่งมองว่า ประชาชนมีสิทธิจะได้รู้ว่าใครบ้างเป็นผู้สมัครมาทำหน้าที่ สว. ซึ่งจะได้ช่วยกันตรวจสอบได้ แต่ล่าสุดในการประชุม กกต.เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว.
โดยเปิดให้ผู้สมัคร สว. แนะนำตัวโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านการใช้โซเชียลฯ และ "ให้เผยแพร่ต่อสาธารณะ" จากเดิมกำหนด "ให้เผยแพร่แก่ผู้สมัครอื่นในการเลือกเท่านั้น" แต่สาระในการแนะนำตัวยังเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้
เลือก สว.2567 สื่อรายงานได้ภายใต้กฎหมาย
นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พบปะพูดคุยกับสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา ในเรื่อง "สื่อกับการปฏิบัติในห้วงมีพระราชกฤษฎีกาการเลือก สว. 2567 "สื่อทำอะไรได้-ห้ามทำอะไร"
ประเด็นนี้ เลขาฯ กกต. ย้ำว่า "ระเบียบแนะนำตัวของ ผู้สมัคร สว. มีเพื่อป้องกันการตั้งกลุ่ม ก๊วนมาสมัคร"
สิ่งที่สื่อทำได้ คือ สัมภาษณ์ผู้สมัครได้ ผู้สมัครหันหน้าเข้ากล้องได้ เพราะไม่มีระเบียบไหนที่บังคับใช้กับสื่อ อีกทั้งยังสามารถเสนอข่าวตามหลักวิชาชีพ โดยไม่มีการลิดรอนสื่อมวลชน แต่สอบถามได้แค่เรื่องทั่วไป มีพื้นที่ให้สื่อสังเกตการณ์ได้ จัดรายการทอล์กได้ วิเคราะห์ได้ ใครเด่น ใครดัง มีโอกาสเข้ารอบต่อไป
สิ่งที่สื่อทำไม่ได้ คือ ห้ามแนะนำตัวผู้สมัคร ชื่ออะไร จบจากที่ไหน รวมทั้งบอกเลขประจำตัวผู้สมัคร เกาะติดการทำข่าวคนใดคนหนึ่งมากเกินไป
อ่านข่าว : ยอด 5 วันคนรับใบสมัคร สว. 14,007 คน มากสุดกรุงเทพฯ
กกต.ปลดล็อก ผู้สมัคร สว. แนะนำตัวผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้
ส่วนการแนะนำตัว ผู้สมัคร สว. ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ทาง กกต. ได้เพิ่มช่องทางการรับรู้ โดย "ผู้สมัครและผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร" สามารถเผยแพร่ได้ทั้งทางแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น ติ๊กต๊อก ยูทูป เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม แต่สาระของการแนะนำตัวให้เป็นไปตามกฎหมายเท่าที่ตามแบบ สว. 3 เท่านั้น
ทั้งนี้ ตามกฎหมาย จะไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อระหว่างรับสมัคร แต่เมื่อการสมัครเสร็จสิ้น ทาง กกต.จึงจะสามารถเปิดเผยได้ ทางแอปพลิเคชันสมาร์ทโหวต และ เว็บไซต์ กกต. โดย กกต.จะเปิดเผยทุกรายชื่อ ทุกกลุ่ม ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ว่าใครลงสมัครอย่างไรมีประวัติและมีประสบการณ์ในการทำงานอย่างไร
เรื่องคุณสมบัติ หากพบว่าแจ้งคุณสมบัติเป็นเท็จ ตามที่แจ้งไว้ในใบ สว.3 จะถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง หรือ ใบดำ ทันที โดยจะได้โทษทั้งคนสมัคร และผู้รับรองในใบสมัคร
ขณะที่ การตรวจสอบ กกต. สามารถทำได้ 2 แบบ คือ ไม่รับเป็นผู้สมัคร และไปร้องที่ศาลฎีกา แต่หากประกาศเป็นผู้สมัครไปแล้ว พบว่าผิดสามารถลบชื่อได้ทุกชั้น ตั้งแต่ระดับอำเภอ และจังหวัด
กกต.แจงยิบกฎ-กติกาขั้นตอนเลือก 200 สมาชิกวุฒิสภาชุดที่ 13
มีคำตอบ! "สว.มีไว้ทำไม" หน้าที่-สิทธิ-อำนาจ สภาสูงชุดที่ 13
"เพื่อให้ทุกอาชีพมีส่วนร่วม" เป้าหมายของ 20 อาชีพ 200 สว.2567