วันนี้ (14 พ.ค.2567) การประชุมของคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ ครั้งที่ 5 พิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ โดยที่ประชุมมีมติให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเป็นผู้พิจารณาว่าในแต่ละจังหวัดควรจะปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาทหรือไม่ และกิจการไหนบ้างที่จำเป็นต้องปรับขึ้นค่าจ้าง
พร้อมสำรวจความเห็นด้วยว่าควรปรับขึ้นในวันที่ 1 ต.ค.นี้หรือไม่ โดยให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อนำเข้าคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติยกเลิกสูตรคำนวณปรับขึ้นค่าจ้างสูตรใหม่ ที่มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดมีอิสระในการเลือกสูตรคำนวณค่าจ้างใหม่ที่ต้องการให้ปรับขึ้น หลังจากนั้นคณะกรรมการค่าจ้างจะนำสูตรที่จะคิดขึ้นมาใหม่มาใช้คำนวณในขั้นตอนสุดท้าย
ส่วนการกำหนดกรอบระยะเวลาวันที่ 1 ต.ค.นั้น นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ยังไม่อยากพูดถึง แต่จะทำให้เหมาะสม เช่นเดียวกับตัวเลขปรับขึ้น 400 บาท ฝ่ายลูกจ้างเสนอว่าไม่อยากให้กำหนด 400 บาท เพราะบางกิจการควรมากกว่านั้น
อ่านข่าว : รัฐบาลคาดค่าจ้างขั้นต่ำ 400 ทั่วประเทศบังคับใช้ ก.ย.-ต.ค.นี้
ด้านผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำ พร้อมย้ำว่าจะต้องมีการทำวิจัยก่อนจึงจะมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำได้ และตั้งข้อสังเกตว่ามติในการปรับค่าจ้างดูเร่งรีบ เนื่องจากปกติให้เวลาแล้วเสร็จภายใน ส.ค. ส่วนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน มองว่าให้เป็นการพิจารณาตามกระบวนการ โดยให้คำนึงถึง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
ขณะที่สภาองค์การนายจ้าง 16 องค์กร ยื่นหนังสือต่อปลัดกระทรวงแรงงาน คัดค้านค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ โดยมองว่าการปรับค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริงจะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุน และส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม
อ่านข่าว
1.4 แสนร้านค้า จ่อเข้า"ดิจิทัลวอลเล็ต"พณ.ย้ำชัดเงินเข้ากระเป๋าปลายปี
สั่งปรับ-พักใบอนุญาต "ตุ๊กตุ๊ก" รีดเงินค่าโดยสาร นทท. 6,000 บาท