หญิงปลิดชีพตัวเอง หลังถูกแก๊งคอลเซนเตอร์หลอกโอน 10 ล้านบาท

อาชญากรรม
20 พ.ค. 67
07:19
3,339
Logo Thai PBS
หญิงปลิดชีพตัวเอง หลังถูกแก๊งคอลเซนเตอร์หลอกโอน 10 ล้านบาท
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
27 พ.ค. กสทช.-ดีอี ออกกฎชื่อผู้ใช้โมบายแบงก์กิ้งต้องตรงกับซิมมือถือ จึงสามารถทำธุรกรรมในมือถือได้ ซึ่งจะเป็นการตัดวงจรแก๊งคอลเซนเตอร์ ขณะที่การสูญเงินให้มิจฉาชีพออนไลน์ ยังนำมาซึ่งการสูญเสีย ภรรยาอดีตรองนายกฯ อบจ. ปลิดชีพตัวเองหลังถูกหลอกกว่า 10 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2567 ตำรวจ สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เข้าตรวจสอบที่บ้านหลังหนึ่งใน ต.คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี หลังรับแจ้งเหตุมีคนยิงตัวเองเสียชีวิต บริเวณชั้น 2 พบร่าง นางสุนันทา อายุ 49 ปี นอนเสียชีวิต มีบาดแผลเหนือหูด้านขวาทะลุด้านซ้าย 1 นัด และพบอาวุธปืนซีแซด .45 มม. ตกอยู่ 1 กระบอก พบหัวกระสุนทะลุฝ้าเพดาน 1 นัด โดยผู้เสียชีวิตเป็นภรรยาของ อดีตรองนายก อบจ.ปทุมธานี

อดีตรองนายก อบจ. ให้ข้อมูลว่า ภรรยาเคยเล่าว่า ถูกแก๊งคอลเซนเตอร์หลอกร่วมลงทุนธุรกิจหลายครั้ง จนสูญเงินไปกว่า 10 ล้านบาท และยังมีโรคประจำตัวหลายโรคต้องไปหาหมอเป็นประจำทุกเดือน จนล่าสุดป่วยด้วยโรคซึมเศร้า

ก่อนหน้านี้เคยบ่นและตัดพ้อมาหลายครั้ง คนที่บ้านพยายามให้กำลังใจแล้ว กระทั่งมาก่อเหตุดังกล่าว พร้อมอ้างว่า ปกติปืนกระบอกดังกล่าวจะอยู่ภายในห้องนอนของตนเอง แต่ช่วงหลังภรรยาพูดในทำนองว่า อยากจบชีวิตตัวเองหลายครั้ง จึงนำปืนไปซ่อนในห้องนอนลูกสาว ซึ่งไม่ทราบว่าภรรยาไปพบได้อย่างไร

ด้านตำรวจ ได้ตรวจสอบที่เกิดเหตุและบันทึกภาพไว้เป็นหลักฐาน เรียกบุคคลภายในบ้านมาทำการสอบปากคำอย่างละเอียด ก่อนส่งร่างผู้เสียชีวิตส่งนิติเวชโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง

อ่านข่าว : วอลเลย์บอลหญิงไทย พ่าย เกาหลีใต้ 1-3 เซต ปิดท้ายเนชันส์ลีก 2024 สนามแรก

กฎใหม่ โมบายแบงก์-ซิมมือถือ "ต้องชื่อเดียวกัน"

เพื่อเป็นการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์รวมทั้งแก๊งคอลเซนเตอร์ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือเรื่องการกวาดล้างบัญชีม้าและเร่งรัดการคืนเงินให้ผู้เสียหายร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ได้มีการกำหนดมาตรการใหม่ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.2567

เจ้าของบัญชีโมบายแบงก์กิ้งในมือถือ ต้องเป็นชื่อเดียวกับเจ้าของเบอร์มือถือที่ลงทะเบียนไว้

ซึ่งจะทำให้กลุ่มบัญชีม้าที่มิจฉาชีพซื้อไปใช้ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลให้ตรงกับเจ้าของบัญชีได้ และหากไม่ตรงกันก็จะไม่สามารถใช้โมบายแบงก์กิ้งได้ ในกรณีข้อมูลไม่ตรงกัน ธนาคารจะแจ้งข้อความผ่านโมบายแบงก์กิ้งว่า ข้อมูลโทรศัพท์ไม่ตรงกับข้อมูลเจ้าของบัญชี

จึงขอให้ผู้ใช้บริการไปลงทะเบียนที่ศูนย์บริการเพื่ออัปเดตชื่อให้ตรงกัน ถ้าข้อมูลตรงกันแล้วจะเปิดใช้โมบายแบงก์กิ้งตามปกติ แต่หากข้อมูลไม่ตรงกันและพ้นระยะเวลาที่กำหนด บัญชีธนาคารจะใช้ได้ตามปกติ แต่จะไม่สามารถใช้โมบายแบงก์กิ้งได้

อ่านข่าว : พรุ่งนี้ "ทนาย" เตรียมไป รพ.ราชทัณฑ์ ขอประวัติการรักษา "บุ้ง"

ตำรวจเตือนกลลวงใหม่ "Tapjacking"

แต่มิจฉาชีพก็ยังมาในรูปแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ ล่าสุดตำรวจสอบสวนกลางได้เตือนการก่อเหตุในลักษณะ แท็ป แจ๊กกิ้ง (Tapjacking) โดยเป็นการนำอีกหน้าต่างหนึ่งขึ้นมาวางหน้าจอซ้อนทับหรือเลียนแบบขึ้นมาในสิ่งที่เราต้องการจะคลิก ทำให้เราเผลอไปคลิกลิงก์ที่ซ่อนอยู่หรือเว็บไซต์ที่เลียนแบบขึ้นมาไม่ใช่หน้าเว็บนั้นจริงๆ เพื่อหลอกให้ดาวน์โหลดมัลแวร์ เปิดเว็บไซต์ที่เป็นอันตราย และลวงข้อมูลส่วนบุคคล

ซึ่งเรามักจะพบเห็นได้บ่อย จากการเปิดลิงก์ต่างๆ แอดโฆษณาตามสื่อออนไลน์ หรือดูหนังเถื่อนจากเว็บต่างๆ ที่เมื่อทำการคลิกอะไรสักอย่างจะขึ้นป๊อปอัปขนาดเล็กโผล่มาครู่เดียวหรือเด้งขึ้นมาอีกหน้าเว็บ และให้ยืนยันอนุญาตอะไรบางอย่างก่อน

โดยวิธีระวังและป้องกัน คือควรใช้ความระมัดระวัง ไม่คลิกหรือแตะบนลิงก์หรือปุ่มที่ดูน่าสงสัย, ตรวจสอบ URL เสมอก่อนคลิกลิงก์, ไม่ดาวน์โหลดอะไรนอกสโตร์, ตั้งค่าปิดสกรีน โอเวอร์เลย์ (screen overlay) เพื่อไม่อนุญาตให้แอปฯ อื่นซ้อนหน้าจอบนมือถือ และ หากเด้งหน้าเบราว์เซอร์อื่นที่ไม่คุ้นหรือไม่ได้เปิดเองให้ปิดหน้าเว็บนั้นทันที

อ่านข่าว : เร่งค้นหาเฮลิคอปเตอร์ ปธน.อิหร่านตก ยังไม่ทราบชะตากรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง