การเมืองเรื่องต่อรองไม่สิ้นสุด ศาลรธน.รับคำร้อง 40 สว. แต่ไม่สั่งนายกฯ หยุดทำหน้าที่

การเมือง
23 พ.ค. 67
16:11
1,007
Logo Thai PBS
การเมืองเรื่องต่อรองไม่สิ้นสุด ศาลรธน.รับคำร้อง 40 สว. แต่ไม่สั่งนายกฯ หยุดทำหน้าที่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงส่วนใหญ่ 6-3 รับคำร้อง 40 สว.ยื่นสอยนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ปมการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และให้ยื่นชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับตั้งแต่ได้รับหนังสือ

แต่คำร้องให้สั่งให้นายเศรษฐา หยุดทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ปรากฏว่า เสียงส่วนใหญ่ 5-4 เห็นควรไม่ต้องหยุดทำหน้าที่ ส่วนคำร้องนายพิชิต ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีนั้น เมื่อเจ้าตัวลาออกจากตำแหน่ง เป็นเหตุให้พ้นจากรัฐมนตรี จึงไม่มีเหตุต้องวินิจฉัยต่อไป มีมติไม่รับคำร้อง

อย่างไรก็ตาม แม้นายเศรษฐาไม่ต้องหยุดทำหน้าที่นายกฯ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะรอดพ้นจากข้อกล่าวหา หากการพิจารณาตามมาตรา 82 วรรค 2 หากเป็นไปตามคำร้อง ก็ต้องรอลุ้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดี

เพราะคำร้องของ 40 สว. ถูกคนวงในและคอการเมืองพันธุ์แท้ตั้งข้อสังเกตตั้งแต่ต้นว่าเป็นประเด็นเรื่องการเมือง เพราะจู่ ๆ ก็มีการรวมตัวยื่นคำร้องดังกล่าว ไปยังประธานวุฒิสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย อย่างเร่งด่วน และประธานวุฒิก็พิจารณาส่งต่อไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญอย่างรวดเร็ว จนคอการเมืองบางส่วน ไม่ทราบเรื่องยื่นคำร้องนี้ด้วยซ้ำ

กระทั่งกูรูการเมืองหลายคนเรียกว่า “เป็นปฏิบัติการลับ” โดยไม่มีเปิดรายชื่อ 40 สว. ท่ามกลางสว.ตัวตึงบางส่วนที่ประกาศไม่เห็นด้วย และยืนยันไม่ได้ร่วมลงชื่อ สะท้อน สว.แตกเป็น 2 เสี่ยงชัดเจน

ทำให้ถูกวิเคราะห์และเชื่อมโยงไปถึง “ดีลลับ” ระหว่าง 2 กลุ่ม ผู้มีอำนาจที่มีการเจรจาตกลงกันมาตลอด ตั้งแต่ยังไม่มีการเลือกตั้งด้วยซ้ำ และน้ำหนักที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ “ดีลลับ” ไม่ลงตัว หรือทำอะไรเกินกว่าที่ตกลงกัน ซึ่งศัพท์ทางการเมืองเรียกว่า “เกินเบอร์”

จึงมีนัยเป็นการส่งสัญญาณ “เตือน” ของกลุ่มอำนาจเดิม ที่มีไปถึงเป็นผู้มีอำนาจปัจจุบัน ซึ่งเคยถูกยึดอำนาจจากกลุ่มนี้มาก่อน ทำนองว่า อย่าทำอะไร “ล้ำเส้น”

เค้าลางนี้ชัดเจนตั้งแต่ก่อนปรับ ครม.เศรษฐา 1/2 เมื่อนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม เสนอผลักดันกฎหมายคัดกรองนายพล หวังสกัดการทำรัฐประหาร เสนอยกเลิกศาลจังหวัดทหารบก และให้ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาเองได้ ให้ที่ประชุมสภากลาโหม

เพราะเรื่องใหญ่ การแก้ไขกฎหมายระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม และ พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหารแบบนี้ ไม่น่าจะมาจากนายสุทิน แต่น่าจะมาจากรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกน

เป็นการเปิด “เกมรุก” ต่อกลุ่มอำนาจเดิม นำไปสู่กระแสเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกลาโหมจากนายสุทิน เป็นนายเศรษฐา เข้าไปนั่งควบกับตำแหน่งนายกฯ และมีชื่อ พล.อ.ณัฐพล นาคพานิชย์ ขยับขึ้นไปนั่งรัฐมนตรีช่วยกลาโหม กระทั่งมีสุ้มเสียงจาก สส.พรรคเพื่อไทย และอ้างถึงมวลชนเสื้อแดง ออกโรงต่อต้านเหมือนเมื่อครั้งมีชื่อ “บิ๊กเล็ก” ตอนฟอร์มครม.เศรษฐา 1/1

ด้วยเหตุผล ไม่ต้องการให้คนที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามคนเสื้อแดงเข้ามาเป็นรัฐมนตรี เพราะ พล.อ.ณัฐพล ถูกมวลชนเสื้อแดงมองว่า เป็นนายทหารในสายกลุ่มอำนาจเดิม

เมื่อไม่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีในกระทรวงกลาโหม ในทางการเมืองถูกตีความว่า ความต้องการของกลุ่มอำนาจเดิมไม่ได้รับการสนองตอบจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่ทาง “นายใหญ่” กลับทำตัวโดดเด่น ไม่สนใจว่าจะตกเป็นเป้าถูกวิจารณ์โจมตี ทั้งเรื่อง 2 มาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม หรือการเดินทางไปไหนมาไหนแบบชิลล์ ๆ รวมถึงการพบปะเจรจากับตัวแทนกองกลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยในเมียนมา

จึงเป็นพฤติการณ์ที่ถูกมองว่า ล้ำเส้น-เกินเบอร์ จนมีปฏิบัติการลับของ 40 สว.เกิดขึ้น หรือไม่?

แม้จะไม่โดนคำสั่งหยุดทำหน้าที่นายกฯ แต่มติที่ออกมา 6-3 รับคำร้องไว้วินิจฉัย ก็มีนัยในทีว่าเสียงส่วนใหญ่ 2 ต่อ 1 ในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า คำร้องมีมูล จนต้องรับไว้วินิจฉัย และส่อเค้าจะมีความเห็นในทำนองที่สอดคล้องกันของเสียงส่วนใหญ่ในการวินิจฉัยชี้ขาดปมคำร้องนี้ได้

ยังไม่นับอาจเป็นเสียงสัญญาณเตือนไปถึงรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย และอาจส่งผลถึงนัดสำคัญที่อัยการสูงสุดนัดชี้ขาดคดี มาตรา 112 ของนายทักษิณ ชินวัตร วันที่ 29 พ.ค. อีกต่างหาก

สะท้อน “ดีลลับ” ว่า จะยังเดินหน้าไปต่อหรือไม่ หรือ “หัก” กันไปแล้ว หรืออาจ “หัก” เพียงบางส่วน แต่สามารถรื้อฟื้นการเจรจากลับมาใหม่ได้ตามธรรมชาติทางการเมืองที่การเจรจาสามารถเกิดขึ้นได้ตลอด

การรับคำร้องของ 40 สว. แต่ไม่ต้องหยุดการทำหน้าที่นายกฯ จึงอาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นใหม่อีกรอบเท่านั้น ของการเมืองไทย สำหรับการเดินทางที่ยังไม่มีที่สิ้นสุด

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง