ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“จั่วลม” เป้าสมัคร สว.หลักแสน เลิกกังวลคนสมัครน้อย-ไม่ครบ

การเมือง
24 พ.ค. 67
19:20
1,327
Logo Thai PBS
“จั่วลม” เป้าสมัคร สว.หลักแสน เลิกกังวลคนสมัครน้อย-ไม่ครบ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คงได้ลุ้น และคงได้คำตอบกันแล้วเมื่อถึงเวลา 16.30 น.ของวันศุกร์ที่ 24 พ.ค.2567 ว่า ยอดผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา จะถึง 50,000 คนหรือไม่ จากเป้าเดิมที่กรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต.เชื่อว่า จะมีผู้ลงสมัครทะลุหลักแสน

เพราะ 4 วันแรกของการรับสมัคร มีผู้สมัคร สว.เกินวันละ 1 หมื่นคน มีเพียงวันเดียว นอกนั้น มียอดหลักพันเท่านั้น

สาเหตุที่ทำให้ยอดสมัคร สว. “ไม่ปัง” คงแทบไม่ต้องแจกแจงเพิ่มเติม เพราะนักวิชาการและกูรูทางการเมืองหลายสิบคน ต่างวิเคราะห์ตรงกัน คือการรณรงค์ให้ความรู้ความสำคัญของการเลือก สว.มีน้อยมาก และเมื่อรวมกับกติกาว่าด้วยการแนะนำตัวของ กกต.ที่ถูกขีดกรอบและข้อจำกัดมากมาย ด้วยข้ออ้างสาระพัด ผลจึงออกมาอย่างที่เห็น

ที่หนักไปกว่านั้น คำอธิบายถึงที่มาของการออกแบบที่ซับซ้อนสำหรับการได้มาของสว. ที่จะกระจายมาจากทุกกลุ่มสาขาอาชีพถึง 20 กลุ่มอย่างทั่วถึง ปรากฏว่า ในบางอำเภอมีผู้สมัครไม่ครบทุกกลุ่มอาชีพ และบางกลุ่มอาชีพ มีผู้สมัครเบาบางไม่กี่คน

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับ กกต. เพราะมีทางออกไว้แล้ว ในกรณีที่มีผู้สมัครน้อย ไม่เกิน 3 คนในระดับอำเภอ โดยการเลือกกันเองในกลุ่มเมื่อปี 2561 ก่อนส่งให้ คสช.เคาะเหลือ 50 คน ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 94 (5) ของ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง สว. ผู้สมัครดังกล่าว จะผ่านเข้ารอบทันที และไม่ต้องการมีการเลือกกันเอง

นอกจากนี้ ในการเลือก สว. ปี 2561 ดังกล่าว ยังปรากฏว่า มีการจัดเลือกกันเองเพียง 197 อำเภอ ใน 52 จังหวัด ส่วนอำเภออื่น ๆ นั้น มีผู้สมัครไม่ครบ จึงผ่านเข้ารอบโดยปริยาย นอกจากนี้ ยังมีอีก 4 จังหวัด คือ พังงา ระนอง สมุทรสาคร และชุมพร ที่ผู้สมัครไม่ต้องผ่านการเลือกในระดับจังหวัด เนื่องจากมีผู้สมัครไม่ครบจำนวน ทำให้ผู้ที่สมัครระดับอำเภอในจังหวัดเหล่านี้ ผ่านไปเลือกในระดับประเทศทันที

เท่ากับไม่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคในทางปฏิบัติ แต่จะตอบโจทย์ได้จริงหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ประเด็นสำคัญที่นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือผู้คนในกลุ่มประชาสังคมแสดงความเป็นห่วง คือการมีผู้สมัครน้อย ยิ่งเปิดช่องทางเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายการเมือง ที่มีการจัดตั้งและเตรียมความพร้อม สำหรับการเลือก สว.อยู่ก่อนแล้ว

ไม่ว่าการจัดตั้งเพื่อหวังผลในการ “บล็อกโหวต” ไม่ว่าจะในระดับอำเภอ หรือระดับจังหวัด หรืออาจไปรอเจรจาและ “ช็อป” ทีเดียวเมื่อผ่านขั้นตอนเลือกระดับประเทศจบสิ้นลงแล้ว

ยังไม่นับด้วยกติกานี้ อาจทำให้บางจังหวัด ไม่มีตัวแทนได้รับเลือกเป็น สว.เลย ต่างจากรัฐธรรมนูญปี 50 ที่อย่างน้อยจะมี สว.จากการเลือกตั้งแต่ละจังหวัด 1 คน ขณะที่บางจังหวัด อาจมี สว.จาก 20 กลุ่มสาขาอาชีพหลายคน

ยิ่งหากความพยายามของภาคประชาสังคม และกลุ่มนักวิชาการหรือกลุ่ม”หัวก้าวหน้า” ไม่สามารถทำได้สำเร็จ ด้วยกติกาและ “คำขู่” ของ กกต. ยิ่งทำให้กลุ่ม “บ้านใหญ่” และฝ่ายการเมืองที่มีศักยภาพ สามารถไปถึงหมุดหมายได้สะดวกยิ่งขึ้น

จะส่งผลถึงความหวังการตั้งเป้า ได้ สว.จากตัวแทนภาคประชาชน 70 คน เพื่อเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ตามมาตรา 256 ตีบตันถึงขั้นเป็นไปไม่ได้

แม้ สว.ชุดใหม่ จะไม่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ สส.ได้อีกแล้ว แต่อำนาจหน้าที่อื่นของสว.ยังอยู่ครบถ้วน ทั้งตรวจทานร่างกฎหมาย การตรวจสอบการทำงานของฝ่านบริหาร ทั้งในการอภิปรายตามมาตรา 153 และการตั้งกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบเรื่องการร้องเรียน การมีบทบาทและผลักดันร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ

ตลอดจนบทบาทในการเสนอชื่อ พิจารณาให้ความเห็นชอบ การแต่งตั้งกรรมการในองค์กรอิสระต่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงการถอดถอนออกจากตำแหน่ง จนเรียกได้ว่า มีบทบาทไม่น้อยไปกว่า สส. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน

แต่ที่มากลับไม่ไม่ได้เชื่อมโยงโดยตรง หรือมาจากการตั้งโดยตรง จากประชาชน แต่มาจากกลุ่มบุคคลที่ถูกอ้างว่า เป็นผู้ทรงคุณวุฒิเลือกกันเอง ด้วยวิธีการที่เอื้อต่อผู้มีความพร้อมและสถานภาพที่เหนือกว่าประชาชนทั่วไป

นี่จึงเป็น สว.ที่แปลกประหลาด และชวนสับสนที่สุดเท่าที่เคยมีมาของไทย และไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในประเทศใด ๆ ในโลก แต่เฉพาะ ไทยแลนด์ ออนลี่

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

อ่านข่าว : สว.2567 ได้เงินเดือนเท่าไหร่ เปิดสิทธิประโยชน์-สวัสดิการ

ศาลปกครองสั่งเพิกถอนระเบียบ กกต.แนะนำตัวเลือก สว. 3 ข้อ

ยอดพุ่งสมัคร สว. 34,169 คน "หมอเหรียญทอง" ลงชิงเขตหลักสี่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง