นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ได้ประชุมผ่านระบบออนไลน์ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร สำนักวิจัยและพัฒนาการการเกษตรที่ 7 (สวพ.7) ผู้ส่งออกทุเรียน โรงคัดบรรจุ (ล้ง) และเกษตรกรภาคใต้ตอนบนเมื่อ 31 พ.ค.2567 โดยมีผู้ประชุมผ่านระบบซูมและในห้องประชุมกว่า 200 คน เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน เตรียมความพร้อมสำหรับการส่งออกทุเรียนภาคใต้ไปจีนซึ่งจะเริ่มตัดทุเรียนกลางเดือน มิ.ย.2567 เป็นต้นไป
ปีนี้คาดมีผลผลิตประมาณ 532,573 ตัน และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการให้ไทยรักษาแชมป์ผู้ส่งออกทุเรียนคุณภาพไปตลาดจีนที่แต่ละปีมีมูลค่ามากกว่าหนึ่งแสนล้านบาท โดยให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการตามระเบียบและขั้นตอนเพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออก ซึ่งปีนี้คาดว่าไทยจะสามารถส่งออกทุเรียนไปจีนได้มูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.3 แสนล้านบาท ทั้งนี้ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 29 พ.ค.2567 ไทยส่งออกไปจีนแล้ว 4.7 แสนตัน มูลค่า 63,568 ล้านบาท
อ่านข่าว : ทวงแชมป์ "ทุเรียนไทย" ส่งออกตลาดจีน 4 เดือน พุ่ง 2.25 แสนตัน
“ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารผลไม้ Fruit Board ที่มี ร.อ.ธรรมนัส เป็นประธานนั้น ทางผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ ชื่นชมแนวปฏิบัติงานของกรมและกระทรวงเกษตรฯที่ช่วยกันกลัดเข็มกลัดจนทำให้การส่งออกผลไม้โดยเฉพาะทุเรียนภาคตะวันออกที่ผ่านมาเป็นไปด้วยดี รมว.เกษตรฯจึงมีนโยบายให้ใช้จันทบุรีเป็นโมเดลในการบริหารจัดการทุเรียนภาคใต้ ซึ่งในที่ประชุมของภาคใต้ตอนบนทุกฝ่ายเข้าใจแนวทางการส่งออกไปจีนที่ต้องปฏิบัติตามพิธีสารไทย-จีนอย่างเคร่งครัด ซึ่งกำหนดให้ต้องเป็นทุเรียนคุณภาพไม่ตัดอ่อน ปลอดแมลงศัตรูพืชและหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ดังนั้นทุกแปลงต้องมีใบรับรองแปลงเกษตรที่ดี (GAP) และเป็นแปลงที่ทางการจีนตรวจรับรองแล้ว
มีใบตรวจรับรองเปอร์เซ็นต์แป้งและใบรับรองสุขอนามัยพืช ล้งต้องมีใบ GMP สำหรับกรณีทุเรียนใต้ในบางพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาคุณภาพเพื่อให้เข้าถึงเกณฑ์ส่งออกนั้น แปลงเหล่านี้ยังสามารถมีช่องทางจำหน่ายในประเทศและแปรรูปเป็นทุเรียนแช่เยือกแข็งซึ่งตลาดมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในที่ประชุมจึงได้กำชับให้ สวพ.8 ซึ่งดูแลภาคใต้ตอนล่างเข้าไปช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้เกษตรกรทำทุเรียนคุณภาพเช่นการดูแลแปลง ขนาดน้ำหนักผล การปลอดโรคศัตรูพืช เป็นต้น เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าสู่ตลาดทุเรียนส่งออกในอนาคต” นายรพีภัทร์ กล่าว
ทั้งนี้ในที่ประชุมได้ย้ำต่อเกษตรกรและผู้ส่งออกว่า ต้องไม่ให้มีการสวมสิทธิ์แปลง GAP เด็ดขาด ไม่มีการซื้อขายใบ GAP กรณีพบว่ามีการกระทำผิดกรมจะดำเนินการตามระเบียบคือการพักหรือยกเลิกใบรับรองแปลง GAP และใบรับรองโรงคัดบรรจุ GMP และดำเนินคดีกับผู้ส่งออก และขอความร่วมมือไม่ตัดทุเรียนอ่อนที่จะกระทบต่อชื่อเสียงทุเรียนของไทย โดยจะเห็นปัจจุบันมีหลายประเทศพยายามเข้ามามีส่วนแบ่งทางการตลาด
สำหรับแนวปฏิบัติที่ทำความเข้าใจเช่น 1.การอำนวยความสะดวกในการตรวจรับรองคุณภาพ การตรวจเปอร์เซ็นต์แป้ง โดย สวพ. 7 จะประสานกำลังกับ สวพ. 6 จันทบุรี ส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยเพื่อให้ทันกับผลผลิตที่ออกมา สำหรับการรับรองสุขอนามัยพืชจะมีนายตรวจพืชระดมช่วยเหลือเช่นกัน
2.วางแนวปฏิบัติกรณีระบบโลจิสติกส์มีปัญหา เช่นตู้สินค้าไม่พอ หรือตู้ไม่ผ่านด่านปลายทางจะประสานกับทูตไทยประจำประเทศจีนช่วยแก้ไขปัญหาตามขั้นตอนของสองประเทศเพื่อให้สามารถปล่อยตู้ได้รวดเร็วขึ้น
อ่านข่าว :
จับทุเรียนเวียดนาม กว่า 10 ตัน ลักลอบสวมสิทธิทุเรียนไทย
“ทุเรียนไทย” ยังโดดเด่นในญี่ปุ่น ผู้ส่งออกชี้ให้เกษตรกรมั่นใจในคุณภาพ
“หมอนทองเขาบรรทัด” GI ใหม่ เนื้อทุเรียน สีเหลืองอ่อน หวาน มัน