107 วัน คืนเสือ "บะลาโกล" สู่บ้านใหม่ "ป่าทับลาน"

สิ่งแวดล้อม
6 มิ.ย. 67
11:00
397
Logo Thai PBS
107 วัน คืนเสือ "บะลาโกล" สู่บ้านใหม่ "ป่าทับลาน"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

“โฮก” เสียงทักทายแรก ข่มขวัญทีมเจ้าหน้าที่ชุดติดตาม “เสือโคร่ง” ทำอะดรีนาลีนหลั่ง กระจัดกระจายคนละทาง บางคนปีนขึ้นต้นไม้ บางคนหาที่กำบัง แม้ภายนอกจะดูอ่อนล้าโรยแรง ร่างกายซูบผอม และบาดเจ็บ แต่สัตว์ผู้ล่าย่อมต้องไว้ลายเสือ

"อังสนา​ มองทรัพย์" หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เล่าถึงวินาทีที่ได้เสียงคำรามไม่รู้ทิศทางดังขึ้นกลางป่ามะขามและป่าไผ่ เนื้อที่ 30 ไร่ ท้ายหมู่บ้านกระเหรี่ยงน้ำตก อุทยานแห่งชาติคลองลาน จ.กำแพงเพชร ขณะนั้นเธอยังอยู่ที่พื้นด้านล่าง เพราะปีนขึ้นต้นไม้ไม่ทันคนอื่น ๆ พร้อมสบตากับ "พิมพ์ชนก สรงมงคล" หรือหมอพิมพ์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ หันซ้ายหันขวา ถามถึงพิกัดเสียงว่าอยู่จุดใด

ผู้เชี่ยวชาญและค้นหาเสือโคร่งหลุดเข้ามาในชุมชน

ผู้เชี่ยวชาญและค้นหาเสือโคร่งหลุดเข้ามาในชุมชน

ผู้เชี่ยวชาญและค้นหาเสือโคร่งหลุดเข้ามาในชุมชน

ดร.อัจฉรา ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 ผู้ใจดีสู้เสือ ก้าวเป็นแถวหน้าตรวจสอบที่มาเสียง พร้อม ๆ กับ "หมอพิมพ์" มือยิง ปีนขึ้นต้นมะขามหาตำแหน่งเล็ง รอรับสัญญาณยิงยาสลบ แต่เจ้าเสือเหมือนรู้ทัน พริบตาเดียวกระโจนหลบทางปืนยิงยา หนีไปได้

ปฏิบัติการค้นหาวันที่ 2 (17 ก.พ.2567) หลังเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งเหตุเสือโคร่งออกนอกพื้นที่ เข้ามาในหมู่บ้านกระเหรี่ยงน้ำตก ในช่วงเย็นของวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา นำไปสู่การระดมทีมทั้งสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 เจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า เจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ และ WWF ประเทศไทย เข้าพื้นที่ประเมินสถานการณ์ พร้อมจัดชุดเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติคลองลาน 60 คน เฝ้าระวังและควบคุมพื้นที่ตลอดเวลา

เขาผอม เดินตุปัดตุเป๋ ขาไขว้ ๆ กัน คืนวันที่ 18 เราคาดหวังว่าจะจับได้ขณะเขาเดินบนถนน พยายามแจ้งชาวบ้านไม่ให้ออกมา ปฏิบัติการค่อนข้างยุ่งยาก

ทีมเจ้าหน้าที่ยังเฝ้ารอ กระทั่งเวลา 21.50 น. วันที่ 19 ก.พ.2567 เสือโคร่งตัวดังกล่าวมากินเหยื่อเป็นหมูที่ล่าทิ้งไว้ แล้วติดกับดักที่ขา ทีมที่ซ่อนตัวอยู่บนต้นไม้จึงยิงยาสลบ ก่อนเคลื่อนย้ายมายังสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทำการตรวจสอบสุขภาพ พบว่า เป็นเสือโคร่งอายุ 2-3 ปี น้ำหนัก 105 กิโลกรัม สภาพผอมและตาซ้ายบอด ต่อมานำขึ้นรถไปรักษาและฟื้นฟูร่างกายที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

โจทย์ของเราคือต้องฟื้นฟูร่างกายให้เขาแข็งแรง และคืนสู่ป่าโดยเร็วที่สุด

เสือโคร่งบาดเจ็บ ถูกตั้งชื่อว่า "บะลาโกล" ภาษากะเหรี่ยง แปลว่า "คลองลาน" ตามผืนป่าถิ่นอาศัย

หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เลือกกรงที่ค่อนข้างกว้างปกคลุมสแลน ให้บะลาโกลได้ฟื้นฟูร่างกายในบ้านใหม่ชั่วคราว ท่ามกลางต้นไม้ใบหญ้ากึ่งธรรมชาติมากที่สุด และบ่อน้ำเล็ก ๆ คลายร้อน หวังลดความเครียดของตัวสัตว์ แต่ยังกังวลถึงค่าใช้จ่ายอาหารค่อนข้างสูง ซึ่งได้ขออนุเคราะห์ค่าอาหารจากส่วนกลาง และโชคดีที่ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากแฟนคลับเพจเฟซบุ๊ก Thailand Tiger Project DNP ในการซื้อเหยื่อฝึกพฤติกรรมการล่า คงสัญชาตญาณสัตว์ป่า รอวันกลับบ้านหลังใหญ่

เมื่อจับได้แล้ว รู้สึกกังวลว่าจะต้องดูแลเสือโคร่งป่าในกรงเลี้ยงอีกนานเพียงใด รวมถึงภาระค่าอาหาร

มื้อแรกของบะลาโกลในสถานที่ใหม่ แฟนคลับสนับสนุนขาแกะออสเตรเลีย ต่อมากินอาหารน้ำหนักประมาณ 49 กิโลกรัมต่อ 2 วัน ทั้งเก้ง กวาง เนื้อทราย ละอง ละมั่ง วัวแดง ที่ตายจากอุบัติเหตุ หรือคลอดแล้วตาย เน้นสัตว์ที่ยังไม่ได้รับยาปฏิชีวนะ และไม่เป็นโรคติดต่อในสัตว์

หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มองว่าบะลาโกลน่าจะฟื้นฟูร่างกายจนแข็งแรงและคืนสูป่า ภายใน 1-2 เดือน แต่เพียง 2 สัปดาห์แรกก็ได้รับทราบข่าวความผิดปกติของดวงตาที่เสี่ยงอักเสบติดเชื้อลุกลามไปอีกข้างหนึ่ง สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านดวงตา สัตวแพทย์ สบอ.12 และทีมนักวิจัย ปรึกษาชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสีย และความกังวลว่าเสือจะอยู่ที่นี่นานขึ้นจนสูญเสียสัญชาตญาณสัตว์ป่าหรือไม่

สุดท้ายทีมงานตัดสินใจรักษาด้วยการควักลูกตาข้างที่บอด เนื่องจากภายในมีของเหลวและก้อนเนื้อ หากปล่อยไว้เสือจะมีความเจ็บปวด และเสี่ยงลุกลามไปยังตาอีกข้างหนึ่ง ซึ่งการวางยาสลบในครั้งนี้ ได้มีการตรวจสอบเพศอีกครั้ง พบว่าบะลาโกล เป็นตัวผู้ จากก่อนหน้านี้ที่ระบุเพศได้ไม่ชัด และคิดว่าเป็นตัวเมีย เพราะร่างกายผอม ยังไม่เห็นอัณฑะชัดเจน อีกทั้งข้อมูลของ WWF ที่สำรวจเสือโคร่งคลองลาน-แม่วงก์ พบว่าภาพถ่ายแม่ของบะลาโกลที่มีลูก 2 ตัว และใช้พื้นที่ป่าบริเวณขุนน้ำเย็น

ใช้เวลาพักฟื้นบาดแผลไม่นานนัก หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ให้คำนิยามบะลาโกล ว่า "นักล่า" เพราะเฟดตัวจากแม่มาหากินเองด้วยวัยเพียง 2 ปี ต้องแย่งพื้นที่หากินกับเสือตัวผู้ตัวอื่น ๆ อีกทั้งเมื่อรักษาจนอาการดีขึ้น พบว่าบะลาโกลมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ส่งเสียงคำราม "โฮก" และวิ่งเข้ามาเมื่อเห็นคน ก่อนถอยกลับไป ส่วนมุมชิล ๆ บะลาโกลมักแช่น้ำเมื่อไม่รู้สึกกดดัน หรือมองเห็นคน

นักล่า "บะลาโกล" ฝึกพฤติกรรมการล่า จ้อง-คลานย่อง-ตะปบ-ลากเหยื่อ เคลียร์เหยื่อจบภายใน 30 นาที และค่อย ๆ ลดเวลาแต่ละครั้ง จนเหลือไม่เกิน 10 นาที โดยกินเหยื่อน้ำหนัก 20 กิโลกรัมต่อ 3 วัน สะท้อนสัญชาตญาณสัตว์ป่าที่มีอยู่เต็มเปี่ยม

เราสังเกตเห็นสัญชาตญาณการล่าของเขาที่มีเต็มเปี่ยม ไม่มีข้อห่วงใยว่าจะล่าไม่ได้ หรือสายตามีปัญหา คอนเฟิร์มแล้วว่าเมื่อสมบูรณ์ก็ปล่อยได้แล้ว

เมื่อทราบข่าวว่า บะลาโกลจะได้กลับคืนป่า "รู้สึกดีใจแทนน้อง" และดีใจกับตัวเองว่าสิ่งที่ฟูมฟักด้วยกันมาสำเร็จแล้ว

สำหรับสถานที่ปล่อยนั้น มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) โดยเลือกอุทยานฯ ทับลาน เนื่องจากฐานข้อมูลการสำรวจติดตามประชากรเสือโคร่งรายปีในพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ พบว่าพื้นที่บางส่วนยังไม่มีเสือโคร่งยึดเป็นพื้นที่หากิน มีความเหมาะสมต่อตัวสัตว์ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ และมีขนาดพื้นที่เพียงพอรองรับเสือโคร่ง

หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ขอบคุณทุกหน่วยงานและทุกคนที่ร่วมในภารกิจครั้งสำคัญ โดยเฉพาะแฟนคลับจากเพจ Thailand Tiger Project DNP ที่สนับสนุนกันอย่างต่อเนื่อง และฝากประชาชนช่วยสนับสนุนค่าดูแลสัตว์ป่าพลัดหลง สัตว์ป่าบาดเจ็บ และสัตว์ป่าของกลางที่ไม่สามารถคืนสู่ป่าได้ ผ่านโครงการพ่อแม่อุปถัมภ์สัตว์ป่า

18.30 น. ของวันที่ 5 มิ.ย.2567 เริ่มปฏิบัติการเตรียมความพร้อมต่าง ๆ และวางยาสลบในเวลา 20.00 น. ใช้เวลาทำงานอย่างรวดเร็วที่สุด ประมาณ 40 นาที ทั้งตรวจสุขภาพ วัดขนาดตัว ชั่งน้ำหนัก 113 กิโลกรัม ติดปลอกคอวิทยุสัญญาณดาวเทียมก่อนเคลื่อนย้าย เพื่อติดตามเส้นทางการดำรงชีวิตของบะลาโกลในพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน

จากนั้นตั้งขบวนรถ 5 คัน คันที่ 2 เป็น "บะลาโกล" ก่อนเคลื่อนออกจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในเวลา 21.00 น. ระหว่างทางแวะพักบริเวณสวนพฤกษศาสตร์พุแค จ.สระบุรี

ถึงจุดปล่อยอุทยานฯ ทับลาน เวลา 03.00 น. ซึ่งเป็นจุดที่ห่างไกลชุมชนมาก ก่อนเดินเข้าไปยังจุดปล่อย ซึ่งก่อนหน้านี้มีรถขนเหยื่อเป็นขาแกะออสเตรเลีย และขาวัวแดง น้ำหนักรวม 55 กิโลกรัม ไปเตรียมพร้อมไว้แล้ว

เวลา 04.30 น. วันนี้ (6 มิ.ย.2567) บะลาโกลคำรามเสียงดัง พร้อมขยับตัวโครมครามในกรงหลังรถเคลื่อนย้าย เหมือนจะบอกทุกคนให้รู้ว่า "พร้อมแล้ว" เมื่อรถอีกคันดึงรอกเปิดประตูกรง นักล่าก็กระโจนจากกรงหายเข้าป่าใหญ่อย่างไม่ลังเล

หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หวังว่าจากนี้ "บะลาโกล" จะได้ใช้ชีวิตตามวิถีเสือในผืนป่าสมบูรณ์ กระจายความหลากหลายทางพันธุกรรมจากป่าตะวันตก สู่บ้านหลังใหม่ "ทับลาน"

บะลาโกลแข็งแรงจนเรายิ้มได้ เขาน่าจะรอดแน่ ๆ

 อ่านข่าว 

ติดกล้องดัก "เสือโคร่ง" ห่วงย้อนกินเหยื่อ-รอยตีนมุ่งป่าคลองลาน 

จับได้แล้ว "เสือโคร่ง" ที่คลองลาน จนท.อุทยานฯ ดูแลฟื้นฟู 

“บะลาโกล” เสือโคร่งคลองลาน ผอม-ตาบอด เร่งฟื้นฟู 3 เดือน 

ควักลูกตาเสือโคร่ง "บะลาโกล" หมอยืนยันความเป็นนักล่ายังเต็มเปี่ยม 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง