แม้ประธาน กกต. จะประกาศ “เดินหน้า” จัดเลือก สว.ตามไทม์ไลน์เดิม แต่หลังศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้อง “วินิจฉัย” 4 มาตราใน พ.ร.ป.การเลือก สว. ปี 2561 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ปี 2560 หรือไม่ มีรายงานว่า วันพรุ่งนี้ สำนักงาน กกต. เตรียมเสนอแผนเลื่อน การเลือก สว.ระดับอำเภอ ในวันอาทิตย์ที่ 9 มิ.ย.นี้ ออกไปก่อน
ถึงเวลานี้ อาจไม่ใช่แค่กระแสข่าว หรือการวิเคราะห์ข่าว ที่ส่อเค้าถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน.หรือ 2 เดือนนับจากนี้ แต่ล่าสุด “สว.” ชุดรักษาการ นั่นก็คือ นายวันชัย สอนศิริ ออกมาอ้างอิงว่า มีข้อมูลเชิงลึก ยืนยันถึงขบวนการ 3 ล้ม เพื่อเปลี่ยนสลับขั้วอำนาจทางการเมือง
3 ล้ม เกิดขึ้นในลักษณะเฉพาะกิจ เกิดจากบุคคล “3 กลุ่ม 3 พวก 3 การกระทำ” ผ่าน 3 เป้าหมาย 1.ล้มรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา เพื่อเริ่มนับหนึ่งใหม่ โดยต้องการจะเข้ามามีอำนาจ 2.ล้มพรรคก้าวไกล เพื่อช้อน สส.เข้าพรรค และเพิ่มอำนาจต่อรองทางการเมือง และ 3.การล้มเลือก สว. เพื่อให้ สว.ชุดรักษาการ ได้ทำหน้าที่ต่อไป
ตามข้อตกลงหรือดีลทางการเมือง ระหว่าง รัฐบาลเพื่อไทยกับนายวิษณุ เครืองาม เพื่อช่วยดูแลแนวทางสู้คดี ทั้งคดีของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน รวมถึงคดีอาญา ที่นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพักโทษ กำลังจะถูกฟ้องในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ ต่างก็ถูกเปิดออกมาและวิเคราะห์ถึงความเชื่อมโยง ให้เห็นกันถึงผลลัพธ์ ที่อาจนำไปสู่ “จุดเปลี่ยนทางการเมือง” กันไปแล้ว
ประกอบกับข้อมูล ที่ สว.วันชัย สอนศิริ อ้างอิงขึ้นมาอีก หากจะโฟกัสเพิ่มเติม ก็คือ “การล้มเลือก สว.” ที่จะเป็นเหตุให้ สว.ชุดรักษาการ ทำหน้าที่รักษาการนานกว่าปกติ (ส่อเค้า..กำลังจะเกิดขึ้น)
ในจังหวะเดียวกันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ “8 ต่อ 1” รับคำร้องของผู้ฟ้องคดี ผ่านศาลปกครอง รวม 6 คน และขอให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย-ชี้ขาดว่า กฎหมายเลือก สว. ปี 2561 รวม 4 มาตรา ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ปี 2560 หรือไม่
พร้อมคำสั่งให้ กกต. จัดทำคำชี้แจงส่งกลับมาภายใน 5 วัน และแม้จะมีมติ “เอกฉันท์” ไม่สั่งคุ้มครองชั่วคราว เพราะยังไม่ปรากฏ ว่าจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง แต่ก็เป็นข้อสังเกต เมื่อมีรายงานว่า กกต.เตรียมพิจารณาแผนการเลื่อนการเลือก สว.ในวันอาทิตย์ที่ 9 มิ.ย.นี้ ออกไปก่อน เพื่อรอคำ “วินิจฉัย-ชี้ขาด” ที่ว่า
อ่าน : พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561
และถ้าย้อนกลับไปช่วงต้นสัปดาห์ เลขาธิการ กกต. นายแสวง บุญมี ส่งข้อความผ่าน “ไลน์”สำนักงาน..กำชับเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมรับแรงเสียดทาน ก่อนจะร่ายให้ฟังว่า แรงเสียดทานมีหลายรูปแบบ
หนึ่งคือ “เลื่อนหรือลาก” ด้วยการยื้อ การเลือก สว., สองคือ “ล้ม” การทำให้การเลือก สว.เป็นโมฆะ และสามคือ “เลือก“ ที่้จะกดดันให้การเลือก เป็นไปตามเป้าหมายฝ่ายตัวเอง และทั้ง 3 กรณี อาจจะเกี่ยวข้องกับ “ที่มา” ของคำร้อง.ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้
เพราะตรวจสอบจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 4 มาตราที่อยู่ในคำร้อง คือ มาตรา 36 บัญญัติว่า ผู้สมัคร หรือผู้ช่วยผู้สมัคร จะแนะนำตัว ต้องเป็นไปตามวิธีการและเงื่อนไข ที่ กกต.กำหนด
ส่วนสาระสำคัญของ มาตรา 40 วรรคหนึ่ง (3) มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (3) และมาตรา 42 วรรคหนึ่ง (3) บัญญัติเกี่ยวข้องกับวิธีการเลือกทั้ง 3 ระดับ โดยเฉพาะประเด็นการกำหนดให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่ม หรือผู้ได้รับเลือกแต่ละระดับ (จะลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้) โดยจะลงคะแนนเลือกตัวเอง (ก็ได้) แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนน (ไม่ได้) เล็งไปที่ การลงคะแนนเลือกตัวเอง.ก็ได้
ซึ่งเป็นคำถามให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า ชอบด้วยมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ และข้อบัญญัติ ก็ต้องโฟกัสไปที่ ประชาชนมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคน กลุ่มใด-กลุ่มหนึ่ง..ก็ได้ และการกำหนดให้ผู้สมัครในแต่ละกลุ่ม “เลือกกันเอง” หรือจะกำหนดวิธีการเลือก หรือการคัดกรองผู้สมัครกันเอง (ก็ได้) และความตรงนี้ คือปมที่ต้องตีความ
จากการตรวจสอบผ่านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พบว่า ผู้โต้แย้งศาลปกครอง หรือผู้ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาด ทั้งหมดยังเป็น “ผู้สมัคร สว.” ซึ่งไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์ หรือแพ้ฟาล์ว หรือร้องศาลฯ เพื่อให้ชี้ขาดสิทธิใด ๆ หากแต่เห็นข้อกฎหมายให้ต้องตีความ เพื่อประโยชน์ในทางปฏิบัติ จะด้วย กกต. หรือผู้สมัคร สว.ก็ตาม
ประเด็นนี้ มีสมมุติฐานว่า ถ้าผลชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว “ผู้สมัคร” ที่ไม่ลงคะแนนเลือกตัวเอง (ก็จะ..ไม่มีเหตุให้ต้องจับจ้อง เป็นข้อพิรุธ ว่ามีพฤติการณ์-พฤติกรรมเข้าข่ายลงสมัครมา เพื่อเลือกคนอื่น ที่ส่อเค้าจะเป็น “กลุ่ม-ก๊วน” จัดตั้งหรือฮั้ว การเลือก สว.) ด้วยคำวินิจฉัย-ชี้ขาดนั้น รองรับอยู่
แต่ถ้าผลชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ว่า ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จะเท่ากับว่า “ผู้สมัคร” ที่ไม่ลงคะแนนเลือกตัวเอง
(ก็อาจจะอยู่ในข่ายให้ถูกจับจ้องในข้อพิรุธ หรือแรงสุด..หากเป็นกลุ่ม-ก๊วนขึ้นมา อาจกลายเป็นข้อกล่าวหาให้ กกต.หยิบยกขึ้นมาอ้างอิง ยื่นฟ้องร้อง ภายหลัง ว่าเป็นเหตุให้การเลือก สว.ไม่สุจริต-เที่ยงธรรม)
ทั้งนี้ มีข้อสันนิษฐานที่ว่า “ผู้สมัคร สว.” ล้วนมีเจตจำนงจะเป็น สว. และต่างก็มีเกียรติและศักดิ์ศรีในการลงสมัคร จึงน่าจะลงคะแนนให้ตัวเองก่อน (แม้ระเบียบจะเปิดทางว่า “ก็ได้” ก็ตาม) และด้วย พฤติการณ์-พฤติกรรม นี้ กกต.เคยคาดการณ์ไว้ว่า จะแสดงชัดขึ้น เมื่อเข้าสู่การเลือกระดับจังหวัดและประเทศ
กรณีนี้ ศาลฯ นัดพิจารณา “12 มิ.ย.” คาดการณ์ว่า คำวินิจฉัยจะออกมา วันที่ 18 มิถุนายน แต่การเลือก สว.ระดับอำเภอ จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์นี้ 9 มิ.ย. นั่นเท่ากับว่า ผลทางปฏิบัติที่จะสอดรับกับคำวินิจฉัยจะเกิดขึ้น หลังการเลือก สว.ระดับแรกไปแล้ว จะได้บังคับใช้โดยตรงไปด้วย ก็วันเลือก สว.ระดับจังหวัดที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 มิ.ย. และการเลือก สว.ระดับประเทศ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 มิ.ย.
จึงเป็นคำถามอยู่ว่า คำวินิจฉัยฉัยชี้ขาดที่มีผลผูกพันทุกองค์กร แต่จะไม่มีผลย้อน กกต.จะปล่อยผ่าน และข้ามวาระนี้ เพื่อไปจัดเลือก สว.ระดับอำเภอ จะเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึง ความสุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ด้วย เช่นกัน
เพราะแม้ประธาน กกต. “อิทธิพร บุญประครอง” จะประกาศเดินหน้าการเลือก สว. ตามไทม์ไลน์เดิม แต่ก็มีรายงานว่า ทางสำนักงาน กกต. เตรียมเสนอที่ประชุมใหญ่วันศุกร์ หรือวันพรุ่งนี้ (7 มิ.ย.X เพื่อเคาะว่า ควรเดินหน้า หรือเลื่อน ไทม์ไลน์การเลือก สว.ออกไปก่อน หรือไม่
วิเคราะห์ : เสาวลักษณ์ วัฒนสิน บรรณาธิการข่าวการเมือง ไทยพีบีเอส