"ยื้อ ประวิงเวลา" ทางรอด "บอส อยู่วิทยา" สู่ "ทักษิณ คดี 112"

การเมือง
11 มิ.ย. 67
17:29
778
Logo Thai PBS
"ยื้อ ประวิงเวลา" ทางรอด "บอส อยู่วิทยา" สู่ "ทักษิณ คดี 112"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

อีก 7 วัน หรือวันที่ 18 มิ.ย.นี้ ก็จะครบกำหนดอัยการสูงสุดนัด "นายทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ให้มาฟังคำสั่งฟ้องต่อศาลอาญา ในคดีที่ตกเป็นผู้ต้องหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการให้สัมภาษณ์สื่อเกาหลีใต้เมื่อปี 2558 หลังจากก่อนหน้านี้ได้ขอเลื่อนนัดโดยให้เหตุผลว่า มีอาการป่วยเพราะติดโควิด-19

แต่ล่าสุดในงานบวช นายสมิทธิพัฒน์ หลีนวรัตน์ ลูกชายคนสุดท้อง ของนายกฤษฎา หลีนวรัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลธัญบุรี เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายทักษิณ ยืนยันว่า หายจากอาการป่วยแล้ว พร้อมเดินทางไปฟังคำสั่งฟ้อง และยังมองว่าคดีแทบจะไม่มีมูล คดีนี้ เรียกว่าเป็นผลไม้เป็นพิษ ที่เกิดจากต้นไม้เป็นพิษ การทำคดีตั้งแต่ต้นที่มีการข่มขู่พนักงานสอบสวนโดยผู้บังคับบัญชา

แม้อดีตนายกฯ จะระบุว่า คดีดังกล่าวแทบจะไม่มีมูล แต่กลับพบว่า ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นายทักษิณได้ส่งทีมกฎหมายยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปยังอัยการสูงสุดอีกครั้ง เพื่อยืนยันเหตุผลเพิ่มเติมคัดค้านคำสั่งฟ้อง

โดยทีมกฎหมายได้บรรยายในคำร้องขอความเป็นธรรมที่ยื่นต่ออัยการสูงสุดคือ พนักงานสอบสวนที่ทำสำนวนถูกกดดันข่มขู่จากผู้มีอำนาจในยุคนั้น ซึ่งเป็นยุค คสช. เพราะมีการแจ้งความดำเนินคดีนี้กับนายทักษิณ ช่วงหลังจาก คสช.เข้าควบคุมอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ทำให้พนักงานสอบสวนไม่มีความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ กระบวนการได้มาซึ่งพยานหลักฐานจึงมิชอบด้วยกฎหมาย และมีความเบี่ยงเบนไปตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ

"...คำให้สัมภาษณ์ของ "อดีตนายกฯ ทักษิณ" ที่กล่าวกับสื่อเกาหลีใต้ ไม่ได้มีเนื้อหาพาดพิงสถาบันเบื้องสูง และไม่ได้มีถ้อยคำหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112" ข้อความในหนังสือร้องขอความเป็นธรรมระบุ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ถือเป็นขั้นตอนปกติของกระบวนการยุติธรรมโดยทั่วไป สำหรับผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาจะใช้ในการร้องขอให้มีการพิจารณาคดีขึ้นใหม่ ในกรณีที่มีพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งมีเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคำสั่งถึงขั้นถอนคำร้อง หรือคำสั่งฟ้องได้

ในขณะเดียวกันก็ปฎิเสธไม่ได้ หากจะถูกสังคมมองว่า การยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม คือ กลไกหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการประวิงเวลา หรือยื้อคดี เพื่อช่วยเหลือผู้มิให้ต้องหาได้รับโทษตามกฎหมาย

เช่นเดียวกับคดี "วรยุทธ" หรือ "บอส อยู่วิทยา" ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งมีการมอบหมายให้ทนายไปยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการจำนวน 14 ครั้ง และปัจจุบันผู้ต้องหายังอยู่ระหว่างการหลบหนีหมายจับ และเหลือข้อหาเดียว คือ การขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี จึงมีอายุความ 15 ปี และจะหมดอายุความในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือ วันที่ 3 ก.ย.2570

แม้การยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม จะถูกสังคมมองว่า เป็นการยื้อคดี หรือประวิงเวลาการรับโทษ หากแต่บริบททางคดีความของอดีตนายกฯ และ "บอส อยู่วิทยา" แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เพราะเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี ของนายทักษิณ ที่ส่งทนายมายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมจากอัยการในคดี 112

ส่วนคดีมหากาพย์ "บอส อยู่วิทยา" ที่หลบหนียาวนาน 12 ปี เคยยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดมากสูงสุดถึง 14 ครั้ง ซึ่งคดีดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานอัยการสูงสุดมาก จนทำให้ต้องมีการปรับหลักเกณฑ์และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ในการพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมให้เข้มงวดมากกว่าเดิม และเพื่อมิให้มีการใช้ดุลยพินิจเกินขอบเขต

หากพลิกเกณฑ์การพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของอัยการ ตามขั้นตอนกฎหมายปกติทั่วไป แม้อัยการจะมีคำสั่งฟ้องไปแล้ว แต่ผู้ถูกกล่าวหาก็สามารถร้องขอความเป็นธรรมได้ โดยอัยการสูงสุด (อสส.) เป็นผู้พิจารณาว่า คำร้องขอความเป็นธรรมที่ยื่นมานี้ ฟังขึ้นหรือไม่ มีน้ำหนักมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งฟ้องได้หรือไม่ หรือในกรณีที่คดีนั้น ๆ เคยมีการพิจารณารับคำร้องไว้แล้ว อัยการสูงสุดก็จะไม่รับพิจารณาอีก หรือกรณีที่ตรวจพบว่า คำร้องมีพฤติการณ์ประวิงคดี ก็จะไม่รับคำร้องนั้นไว้

หรือกรณีที่มีการสอบสวนไว้แล้ว แต่ถ้าการสอบสวน ไม่ตรงกับความเป็นจริง ไม่ครบถ้วนหรือตรงประเด็น ผู้ต้องหาก็สามารถร้องใหม่ได้ ยกเว้นเรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานอื่น และเป็นเรื่องที่หน่วยงานนั้น ๆ จะพิจารณาตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ สำหรับคดีร้องขอความเป็นธรรมของอดีตนายกฯ นั้น ตามหลักการต้องไม่เป็นการยื่นเพื่อประวิงคดี และต้องมีดูเนื้อหาว่า มีหลักฐานใหม่เข้ามาหรือไม่ และขอให้สอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นใดบ้าง และหากอัยการผู้ตรวจสอบสำนวนโดยละเอียดว่า มีหลักฐานใหม่ และพิจารณาเห็นว่า ไม่ได้กระทำการเพื่อประวิงเวลา หรือยื้อคดี อัยการสูงสุดก็สามารถรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาใหม่ได้เลย แต่ถ้าหากยื่นมาแล้วไม่พบหลักฐานใหม่อื่นใดก็จะสั่งยุติทันที

ทั้งนี้โดยทั่วไปการพิจารณารับคำร้องขอความเป็นธรรมจะมี 3 แนวทาง ประกอบด้วย ในกรณีที่คำร้องที่นำมายื่น มีน้ำหนักหรือมีมูลพอที่จะพิจารณา ก็อาจเลื่อนนัดส่งตัวผู้ต้องหาไม่ส่งฟ้องศาลวันที่ 18 มิ.ย. เพื่อตรวจสอบคำร้องขอความเป็นธรรมให้เสร็จทั้งหมดก่อน

หรือหากอัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว เห็นว่าหนังสือขอความเป็นธรรมไม่มีน้ำหนักหรือข้อมูลเพียงพอ อัยการสูงสุดไม่มีคำสั่งเลื่อนก็ต้องส่งตัวนายทักษิณฟ้องศาลเลย แต่นายทักษิณสามารถยื่นขอความเป็นธรรมต่ออัยการฯ ได้อีกหลังจากฟ้องศาลไปแล้ว แต่ขึ้นอยู่กับอัยการฯ จะรับไว้พิจารณาหรือไม่

และสุดท้าย คือ หากอดีตนายกฯ จะขอเลื่อนการเข้าพบอัยการสูงสุดเอง ซึ่งอัยการสูงสุดก็จะพิจารณาว่า เหตุผลมีน้ำหนักเพียงพอจะอนุญาตหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การยื่นร้องขอความเป็นธรรมในชั้นอัยการนั้น ปกติจะยื่นได้เพียงครั้งเดียว โดยเรื่องดังกล่าว มีระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดเขียนไว้แล้วอย่างชัดเจน ดังนั้นหากนายทักษิณจะต่อสู้คดีเรื่อง มีการข่มขู่พนักงานสอบสวน อาจก็ต้องไปสู้ในชั้นศาลเท่านั้น

ควรจับตาและนับเวลาถอยหลังว่า อัยการสูงสุดจะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาหรือไม่ และจะมีคำสั่งใดออกมา

อ่านข่าวอื่น :

ศาลฎีกาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ยืนคุก 9 เดือน 3 สส.ภูมิใจไทยเสียบบัตร

“ส้มสายน้ำผึ้งฝาง” สินค้า GI เชียงใหม่ หวานอมเปรี้ยว กลิ่นหอม

รับมือยังไง? เมื่อ Apple ปล่อย AI ที่คิดแทนมนุษย์ (แทบ) ทุกอย่าง

เส้นทางกลับไทย "วัฒนา" เจ้าพ่อเมืองปากน้ำ ยัง (ไม่) ไกลเกินหวัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง