ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จัก "วันฤกษ์ดี เดือนมงคล" ก่อน "แต่งงาน - จดทะเบียนสมรส"

ไลฟ์สไตล์
19 มิ.ย. 67
19:13
5,878
Logo Thai PBS
รู้จัก "วันฤกษ์ดี เดือนมงคล" ก่อน "แต่งงาน - จดทะเบียนสมรส"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ยินดีกับผู้มีความหลากหลายทางเพศทุกคน หลังจากที่ วุฒิสภาผ่านร่าง "กฎหมายสมรสเท่าเทียม" แล้ว ส่งผลให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีกฎหมายแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกัน สำหรับชาว LGBTQ+ ที่รอจดทะเบียนสมรสในปี 2567 จะต้องเตรียมตัวอย่างไร ไทยพีบีเอส มีข้อมูลดีๆ มาฝากกัน

ตามความเชื่อของคนไทย ก่อนจัดงานสำคัญต้องมองหา "ฤกษ์มงคล" ซื้อรถคันใหม่ ขึ้นบ้านใหม่ เริ่มต้นธุรกิจ รวมไปถึง แต่งงาน จดทะเบียนสมรส เพื่อเป็นสิริมงคลกับสิ่งที่จะทำ จะได้ไม่มีอะไรขัดข้อง  

อ่านข่าว : "Pride Month 2567" อัปเดต "สมรสเท่าเทียม" กฎหมายถึงขั้นไหน

"ฤกษ์" คืออะไร 

คำว่า "ฤกษ์" มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า ฤกฺษ (อ่านว่า ริกฺ-ษะ) ความหมายหนึ่งหมายถึง กลุ่มดาวจระเข้ กลุ่มดาวต่าง ๆ ซึ่งเคลื่อนที่ไปอยู่ในตำแหน่งที่แตกต่างกันในแต่ละคืน ดาวหรือกลุ่มดาวที่ขึ้นเด่นบนท้องฟ้ายามที่คนตกฟากซึ่งจะมีผลต่อชะตาชีวิตของผู้นั้นไปตลอดชีวิตด้วย

คำว่า ฤกษ์ ในภาษาไทย มีความหมายแตกต่างกับคำภาษาสันสกฤตเล็กน้อย คือ ฤกษ์ หมายถึง กลุ่มดาวนักษัตรกลุ่มหนึ่ง ๆ ไม่ได้หมายถึง กลุ่มดาวจระเข้

เช่น วันมาฆบูชา เป็นวันที่พระจันทร์โคจรเข้าสู่มาฆฤกษ์ และเต็มดวงในขณะที่อยู่มาฆฤกษ์ นั้น

"ฤกษ์" ในภาษาไทยหมายถึง ช่วงเวลาที่เชื่อว่าจะทำให้บุคคลได้รับ "ผลดี" หรือ "ผลร้าย" เช่น เวลาจะยกขันหมากมาสู่ขอ ต้องเป็นไปตามฤกษ์ที่เป็นมงคลแก่คู่บ่าวสาว

คำว่า ฤกษ์ เมื่อใช้ตามลำพัง มักจะหมายถึง ฤกษ์ที่ดี ที่เป็นมงคล 

ยกตัวอย่างเช่น หาฤกษ์ลงเสาเอก, โหรให้ฤกษ์แต่งงานมาแล้ว นอกจากนี้ คำว่า "ฤกษ์" ยังหมายถึง "โอกาสที่ดีด้วย เช่น เห็นเขาควงสาวหน้าเดิมไปดูหนังบ่อย ๆ ปีหน้าคงจะได้ฤกษ์สละโสดเสียที

นี้เป็นความหมายของคำว่า "ฤกษ์" ที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภา อธิบายไว้  

อ่านข่าว : จากวังสู่ละคร "หม่อมเป็ดสวรรค์" บันทึกรัก LGBT กรุงรัตนโกสินทร์

ความเชื่อ "ฤกษ์ยาม" เสริมมงคล

อย่างที่บอก คนไทยมีความเชื่อเรื่องเกี่ยวกับ "ฤกษ์ยาม" มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการทำพิธีมงคล เช่น การแต่งงาน จะต้องดูฤกษ์ยามกันตั้งแต่ต้น ส่ง เฒ่าแก่ไปเจรจาสู่ขอ วันหมั้น วันทำพิธีมงคลสมรส ส่งตัวเจ้าสาว และฤกษ์เรียงหมอน หรือบางคนอาจมองไปถึงวัน "จดทะเบียนสมรส"

อ.วัฒนะ บุญจับ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณกรรม อธิบายถึงประเด็น "ฤกษ์ยามการแต่งงานและวันห้าม" กับความเชื่อ ส่วนหนึ่งในรายการ Thai PBS Podcast ไว้ว่า ฤกษ์ยามในการแต่งงาน คนไทยนิยมแต่งงานกันในเดือนคู่ ยกตัวอย่างเช่น เดือน 2 เดือน 4 และ เดือน 6 เป็นเอานำ "เลขคู่" มาสัมพันธ์กับ "ชีวิตคู่" ของชายหญิง

แต่มีบางเดือนที่ไม่ได้เป็นเลขคู่แต่ก็นิยมแต่งงานกัน อย่างเดือน 9 นั้นเพราะถือเคล็ดเรื่องความก้าวหน้า "ความก้าวหน้า" เพราะ "9 " กับ "ก้าว" มีเสียงพ้องกัน และยังมีความหมายในเชิงที่ "ก้าวไปด้วยกัน" 

บางตำราบอกว่าเป็นการเลื่อนการแต่งในเดือน 8 แม้จะเป็นเดือนคู่ แต่อยู่ในช่วงวันสำคัญทางศาสนา ช่วงเดือนอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา จึงเลื่อนมาเป็นเดือน 9 แทน บางที่อาจมีการแต่งงานกันในเดือน 8 แต่มักแต่งก่อน "วันเข้าพรรษา"

ส่วนเดือนที่นิยมแต่งงานกันมากที่สุดคือ เดือน 6 เพราะเป็นเดือนที่เริ่มเข้าสู่หน้าฝน อากาศดี บรรยากาศเป็นใจ เรียกว่า "โรแมนติก" มากกว่าการแต่งในช่วงเดือนอื่น ๆ และเป็นฤดูแห่งการเพาะปลูกของคนไทย ซึ่งหนุ่มสาวจะได้เริ่มชีวิตใหม่สร้างฐานะและครอบครัวร่วมกัน

นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายจาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ว่า เดือนที่ไม่นิยมแต่งงาน คือ เดือน 12 เพราะถือว่าเป็นเดือนที่สุนัขติดสัด แม้เป็นเดือนคู่ก็ไม่นิยม คงเพราะสมัยก่อนช่วงนี้น้ำจะหลาก ทำการคมนาคมไม่สะดวก แต่ปัจจุบันความเชื่อเรื่องเดือนนี้ไม่ค่อยเคร่งครัดนัก เน้นฤกษ์สะดวกเป็นหลัก

ส่วนในเรื่องที่ไม่นิยมแต่งงานกันใน วันพุธ วันอังคาร และวันเสาร์ รวมถึงวันพฤหัสบดี ด้วยนั้น ในแต่ละท้องถิ่นก็มีความเชื่อแตกต่างกันออกไป ยอกตัวอย่าง สาเหตุที่ไม่แต่งงานในวันอังคาร และวันเสาร์ เพราะถือว่าวันสองวันนี้เป็นวันแข็ง เหมาะกับการทำพิธีเครื่องรางของขลัง

ในแต่ละประเทศยังมีความเชื่อแตกต่างกันออกไป เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจ ความเหมาะสม ความเชื่อ ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน 

อย่างไรก็ตาม บางทีเป็นวันห้ามแต่ก็มีบางช่วงของวันเป็นฤกษ์ดี ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้ ผู้รู้ทางโหราศาสตร์เป็นผู้จัดหาฤกษ์ยาม เพื่อทำพิธีมงคลให้จะได้ครองรัก กันอย่างเป็นสุข

"จดทะเบียนสมรส" กับเรื่องที่ "คู่รัก" ต้องรู้

มีฤกษ์งาม ยามดี แล้วมีอีกหลายเรื่องที่ "คู่รัก" ต้องรู้ เพราะเมื่อ "ความรักสุกงอม" หลายคนตัดสินใจ "แต่งงาน" รวมไปถึง "การจดทะเบียนสมรส" ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงตัวช่วยการันตี "ความรัก" เท่านั้น แต่เป็นหลักฐานยืนยันสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมาย ได้อีกด้วย    

"ทะเบียนสมรส" คืออะไร  

"ทะเบียนสมรส" คือ เอกสารทางกฎหมายที่ยืนยันความสัมพันธ์ของคู่แต่งงาน ที่ใช้เป็นหลักฐานในการยืนยันสิทธิ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นระหว่างสามี - ภรรยา เช่น การรับรองบุตร การแบ่งสินสมรส รวมไปถึงการฟ้องหย่า ให้สามารถได้สิทธิอย่างถูกกฎหมายและเป็นไปตามที่ควรได้รับ

"จดทะเบียนสมรส" คุณสมบัติ 

สำหรับกฎหมายในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับสามีภรรยา โดยให้สิทธิในการสมรสได้ครั้งละ 1 คน เท่านั้น หากต้องการจดทะเบียนเพิ่ม ต้องจดทะเบียนอย่าก่อน ยังไม่มีการอนุญาตให้จดทะเบียนซ้อน แล้วคนที่จะจดทะเบียนจะต้องมีคุณสมบัติแบบไหน ตามข้อมูลของ กรมการปกครองอธิบาย ดังนี้

  • ชาย หรือ หญิงมีอายุครบ 17 ปี บริบูรณ์ กรณีมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทําการสมรสก่อนที่ชายและหญิงมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ได้ โดยการยื่นขออนุญาตจากศาลนั้นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง ทั้งนี้เมื่ออายุ 20 ปีบริบูรณ์สามารถจะทะเบียนสมรสได้ด้วยตัวเอง
  • ชายหรือหญิงไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
  • ชายหญิงซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาหรือเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาจะทําการสมรสกันไม่ได้
  • ผู้รับบุตรบุญธรรมจะทําการสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้
  • ชายหรือหญิงจะทําการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้

หญิงที่สามีเสียชีวิตหรือการสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่นจะทําการสมรสใหม่ ได้ต่อเมื่อสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่

  • คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
  • สมรสกับคู่สมรสเดิม
  • มีใบรับรองแพทย์ ประกาศนียบัตรหรือปริญญาซึ่งเป็นผู้ประกอบการ รักษาโรคในสาขาเวชกรรมได้ตามกฎหมายว่ามิได้มีครรภ์
  • มีคําสั่งของศาลให้สมรสได้
  • ผู้เยาว์จะทําการสมรสต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีอํานาจให้ความยินยอมได้ตามกฎหมาย

ต้องเตรียมเอกสารอะไร "จดทะเบียนสมรส" 

  • บัตรประจำตัวประชาชน/บัตรประจำตัวอื่นที่ราชการออกให้/หนังสือเดินทาง/ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว/หรือเอกสารราชการอื่นที่สามารถใช้แสดงตัวบุคคลได้ ของผู้ร้อง ผู้ให้ความยินยอม (ถ้ามี) และพยาน (กรณีเป็นเอกสารภาษาต่างประเทศต้องผ่านการรับรองนิติกรณ์โดยกรมการกงสุล กต.)
  • หนังสือรับรองสถานภาพการสมรส (กรณีบุคคลสัญชาติอื่น ผ่านการรับรองนิติกรณ์โดยกรมการกงสุล กต.)
  • หนังสือยินยอม (กรณีผู้มีอำนาจปกครองไม่สามารถมาให้ความยินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่ได้)
  • สำเนาทะเบียนบ้าน (กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสงค์จะใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายเฉพาะสำนักทะเบียนที่ตนเองมีชื่อในทะเบียนบ้าน หรือฝ่ายหญิงเปลี่ยนคำหน้านาม)
  • พยานบุคคล จำนวน 2 คน (อายุครบ 20 ปีขึ้นไป) ลงลายมือชื่อรับรู้ในเรื่องความสมัครใจยินยอมของฝ่ายชายและฝ่ายหญิงในการจดทะเบียนสมรส

ทั้งนี้ สามารถขอจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขต

ขั้นตอนการ "จดทะเบียนสมรส" ทำอย่างไรบ้าง  

เมื่อเอกสารครบแล้ว ขั้นตอนสำหรับการจดทะเบียนจะต้องทำอย่างไรบ้างนั้น และมีค่าใช้จ่ายหีือไม่ ไปติดตามกัน

  • การจดทะเบียนสมรส สามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนเขต สถานทูต/กงสุลไทย ได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงภูมิลำเนาของคู่สมรส
  • นายทะเบียนตรวจสอบคำร้องและหลักฐานแสดงตัวบุคคลของผู้ร้องทั้งสองฝ่าย ผู้ให้ความยินยอม (ถ้ามี) และพยาน
  • นายทะเบียนตรวจสอบว่าผู้ร้องทั้งสองฝ่ายมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายหรือไม่
  • นายทะเบียนลงรายการในทะเบียนสมรส (คร.2) และใบสำคัญการสมรส (คร.3) ให้ครบถ้วนในกรณีที่ผู้ร้องทั้งสองฝ่ายประสงค์จะให้บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือเรื่องอื่น ให้นายทะเบียนบันทึกไว้ในช่องบันทึก
  • ให้ผู้ร้อง ผู้ให้ความยินยอมหรือทำหนังสือให้ความยินยอม (ถ้ามี) และพยานลงลายมือชื่อในทะเบียนสมรส (คร.2)
  • เมื่อเห็นว่าถูกต้องให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อในทะเบียนสมรส (คร.2) และในใบสำคัญการสมรส (คร.3)
  • นายทะเบียนมอบใบสำคัญการสมรส (คร.3) ให้แก่คู่สมรสฝ่ายละหนึ่งฉบับ รวมทั้งกล่าวอำนวยพรและแนะนำวิธีปฏิบัติในหน้าที่ระหว่างสามีภริยาตามสมควร

ค่าธรรมเนียม "จดทะเบียนสมรส" 

  • การจดทะเบียนสมรสในสำนักทะเบียน ไม่เสียค่าธรรมเนียม
  • แต่หากจดทะเบียนสมรสนอกสํานักทะเบียน ฉบับละ 200 บาท โดยให้ผู้ขอจัดพาหนะให้ ถ้าผู้ขอไม่จัดพาหนะให้ ผู้ขอต้องชดใช้ค่าพาหนะให้แก่ "นายทะเบียน" ตามสมควร
  • การคัดสำเนา ฉบับละ 10 บาท

 "การจดทะเบียนสมรส" นั้นมีสิทธิในแง่ทางกฎหมาย

  • ฝ่ายหญิงหรือภรรยามีสิทธิในการใช้ชื่อสกุลของสามี แต่ภรรยาก็สามารถเลือกได้เพราะบางคนอาจยังอยากใช้นามสกุลของตัวเอง
  • มีสิทธิจัดการทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส หรือที่เราเรียกว่า "สินสมรสร่วมกัน"
  • ทำให้ทั้งคู่ต้องอุปการะเลี้ยงดูกันและกัน
  • มีสิทธิ์รับมรดกของคู่สมรสเมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิตไปก่อน
  • มีสิทธิ์รับเงินจากทางราชการ หรือนายจ้าง เช่น กรณีที่คู่สมรสตายเพราะปฏิบัติหน้าที่ หรือจากการทำงาน (บำเหน็จตกทอด) หรือ การรับเงินสงเคราะห์บุตรตามกฎหมายแรงงาน
  • มีสิทธิ์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าทดแทนจากผู้ที่ทำให้คู่สมรสของตัวเองเสียชีวิตได้
  • สามารถหึงหวงคู่สมรสของตัวเองได้ตามกฎหมาย และหากพบว่าคู่สมรสมีชู้ ก็สามารถเรียกค่าเสียหายได้ทั้งจากคู่สมรสและชู้
  • บุตรมีฐานะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถใช้นามสกุลพ่อได้ สมัครเข้าเรียนได้ และรับมรดกจากผู้เป็นพ่อได้ (บุตรเป็นสิทธิตามชอบธรรมตามกฎหมายของแม่)
  • ได้รับการลดหย่อนค่าภาษีเงินได้ตามเงื่อนไขการลดหย่อนภาษี
  • สามี-ภรรยาที่ทำความผิดระหว่างกัน เช่น สามีขโมยเงินภรรยา ภรรยาบุกเข้าบ้านสามี ผู้ที่ทำผิดไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย
  • การจดทะเบียนสมรสทำให้สามีหรือภรรยาฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่ทำร้ายคู่สมรสของตัวเองได้ เช่น หากภรรยาถูกโจรปล้น สามีสามารถฟ้องร้องดำเนินดคีแทนได้

สมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว

ปีนี้ 2567 เป็นปีที่มีเรื่องที่น่ายินดีด้วย ที่ วุฒิสภาผ่านร่าง "กฎหมายสมรสเท่าเทียม" แล้ว ส่งผลให้ไทยกลายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีกฎหมายแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกัน ท่ามกลางความยินดีของกลุ่ม LGBTQ+ หรือ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทุกคน นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญให้ความหลากหลายทางเพศผลิบาน อย่างเท่าเทียมกับเพศอื่นในสังคมไทย

เพราะความรักไม่ใช้เพียงหญิงชาย แต่คือ "คู่รัก" และทุกเพศ เท่าเทียมกัน แม้การจดทะเบียนระหว่างเพศเดียวกัน ยังต้องรอก่อน เพราะกฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้ในขณะนี้แต่คาดว่าในช่วงปลายปีนี้ กฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ ถือเป็นเรื่องดีดีอีกเรื่องที่กำลังสร้างความสุขให้คู่รัก คู่ชีวิต ทุกคู่แน่นอน

อ่านข่าว : 

รู้จักกฎหมายฟ้องชู้ ไม่ได้ยกเลิก แต่ให้สิทธิสอดคล้องสมรสเท่าเทียม

"250 สว." ถ่ายรูปหมู่อำลาตำแหน่ง ส่งไม้ต่อให้ สว. ชุดใหม่

ทางตันกำจัดกากอันตราย "เอาเงินมาจากไหนดี" คำถามที่ไร้คำตอบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง